เจแปนแอร์ไลน์ (ต่อ)

เจแปนแอร์ไลน์ (ต่อ)

เจแปนแอร์ไลน์ (ต่อ)

สัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้เล่าถึงประวัติและผลประกอบการล่าสุดของเจแปนแอร์ไลน์ สัปดาห์นี้จะขอเล่าถึงการพลิกฟื้นบริษัทและปรัชญาในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันซึ่งทำให้สายการบินแห่งนี้ พลิกกลับมาเพื่อจะอยู่แนวหน้าของโลกอีกครั้งหนึ่ง

ประธานคนแรกของเจแปนแอร์ไลน์หลังการฟื้นฟูคือ คุณคาสึโอะ อินาโมริ (Kazuo Inamori) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเซรามิค เคียวเซร่า (Kyocera) ก่อนส่งต่อให้ประธานคนปัจจุบันคือ คุณมาซารุ โอนิชิ (Mazaru Onishi) โดยมีปรัชญาในการสร้างให้พนักงานทุกคนมีค่านิยมและทัศนคติขุดเดียวในการทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายของบริษัทคือ บริการแก่ลูกค้าได้ดีอย่างไม่มีใครเทียบได้ เพิ่มมูลค่าให้กับบริษัท และมีส่วนช่วยทำให้สังคมดีขึ้น

การสร้างค่านิยมมีสองส่วน ในส่วนแรก เพื่อนำชีวิตไปสู่ชีวิตที่ดี และส่วนที่สอง เพื่อนำเจแปนแอร์ไลน์ไปสู่บริษัทที่ดี

ในส่วนแรก เพื่อนำไปสู่ชีวิตที่ดีนั้น จะแยกออกเป็น 4 บท

บทแรก เป็นสูตรสู่ความสำเร็จในชีวิตและการทำงาน ซึ่งเขียนไว้ว่า

ผลลัพธ์ของชีวิตและการทำงาน = ทัศนคติ X ความพยายาม X ความสามารถ

ทั้งนี้ ทัศนคติจะมีคะแนนตั้งแต่ -100 ถึง 100 ดังนั้น ทัศนคติที่ติดลบแม้เพียงนิดเดียว ก็สามารถทำให้ผลลัพธ์ชีวิตติดลบไปด้วยเช่นกัน ทัศนคติจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด

บทที่สอง เป็นบทที่ว่าด้วยการมีทัศนคติที่ถูกต้อง และตัดสินใจด้วยหลักเกณฑ์ที่ว่า “ทำในสิ่งที่ถูกต้องในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง” โดยมีแนวทางคือ ให้มีจิตใจที่งดงาม ถ่อมสุภาพและซื่อสัตย์ ร่าเริง คิดบวกอยู่เสมอ มีความรักที่แท้จริงเป็นรากฐานในความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จัดการกับความท้าทายในทันที ทำให้เป็นเรื่องง่าย และนำลักษณะขัดแย้งสุดขั้วในตัวมาใช้โดยไม่ให้เกิดความขัดแย้งตามแต่สถานการณ์

บทที่สาม ว่าด้วยการสะสมความพยายามและความรักที่จะทำ ประกอบด้วย ทำงานด้วยความตั้งใจและทุ่มเทอย่างจริงใจ สะสมความพยายามเรื่อยๆ ทำงานด้วยความตั้งใจอุตสาหะ จุดประกายไฟให้ตนเองมีพลังที่จะทำให้ดี และมีความเพียรพยายามที่จะทำให้สมบูรณ์แบบ

บทที่สี่ ความสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ต้องเชื่อว่าความสามารถของมนุษย์มีศักยภาพไม่มีวันสิ้นสุด

ส่วนที่สอง เพื่อนำเจแปนแอร์ไลน์ไปสู่บริษัทที่เป็นเลิศนั้น มี 5 บท คือ

บทที่หนึ่ง บอกว่า พนักงานทุกคนทำให้บริษัทเป็นอย่างที่เป็นอยู่ ดังนั้นเพื่อสร้างให้บริษัทยั่งยืนตลอดกาล พนักงานต้องตระหนักในหน้าที่ของตน สร้างสรรค์สิ่งดีๆ และทำงานอย่างอุตสาหะ ไม่ย่อท้อ ควรหารือกันอย่างตรงไปตรงมา นำด้วยการทำตัวเป็นตัวอย่าง และทำตัวให้เป็นศูนย์กลางของสถานการณ์ และท้ายที่สุดคือ ตระหนักว่า ชีวิตที่มีค่าอยู่ในความดูแลของเราในเวลาที่เราทำงาน จงรู้สึกขอบคุณ และพยายามเอาใจลูกค้ามาใส่ใจเรา

บทที่สอง มีสำนึกในเรื่องการทำกำไร พยายามเพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย เพิ่มระดับความสำนึกในด้านต้นทุน พยายามทำกำไรอย่างยุติธรรม บริหารจัดการบริษัทโดยใช้ตัวเลขที่ถูกต้องและแม่นยำ

บทที่สาม รวมใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ต้องส่งต่อไม้ที่ดีที่สุดให้เพื่อนร่วมงานคนต่อไป รวมพลังเป็นหนึ่งเดียว บริหารงานบนพื้นที่ปฏิบัติงาน และใช้ระบบตอบแทนคุณความดี

บทที่สี่ มีจิตใจของนักสู้ กำหนดใจของเราว่าต้องไปถึงจุดหมายให้ได้ อย่ายอมแพ้จนกว่าจะสำเร็จ และ “พูดออกมาและทำให้เป็นจริง”

ความกล้าหาญที่แท้จริงได้มาจากการเอาชนะสถานการณ์ต่างๆได้อย่างสงบเยือกเย็นครั้งแล้วครั้งเล่า และโดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยนั้น “จงกล้าให้ผู้อื่นเรียกว่าเป็นคนขี้ขลาด” และ “เมื่อไม่แน่ใจ จงปลอดภัยไว้ก่อน”

บทที่ห้า มีความคิดสร้างสรรค์ในงานที่ทำ วันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ คิดในแง่ดี วางแผนงานด้วยมุมมองในแง่ร้าย และปฏิบัติโดยคาดหวังในสิ่งที่ดี คิดตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อให้มองเห็นผลลัพธ์ ตัดสินใจและลงมือทำด้วยความรวดเร็ว เผชิญหน้าความท้าทายด้วยความกล้าหาญ และท้ายที่สุดคือ ตั้งเป้าหมายให้สูง

เป้าหมายของเจแปนแอร์ไลน์ในช่วงปี 2555 ถึง 2559 คือ ความปลอดภัย ความพึงพอใจของลูกค้า และความมั่นคงทางการเงิน โดยตั้งเป้าหมายว่า ความปลอดภัยในการบินเป็นรากฐานและความรับผิดชอบต่อสังคมของเจแปนแอร์ไลน์ ให้บริการอย่างเป็นเลิศ โดยต้องการเป็นที่หนึ่งของความพึงพอใจของลูกค้าในปี 2559 และต้องการทำกำไรสุทธิเกินกว่า 10%ในห้าปีติดต่อกัน และต้องการให้ส่วนของเจ้าของมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50%(ของสินทรัพย์) ในปี 2559

ส่วนในปี 2560 ถึง 2563 เจแปนแอร์ไลน์ต้องการปรับให้เป็นสายการบินของโลก ต้องการสร้างคุณค่าใหม่ๆก่อนคู่แข่งหนึ่งก้าว และต้องการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป โดยเน้นลงทุนในฝูงบินคุณภาพสูงแต่แข่งขันได้

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านในการประยุกต์ไปพัฒนาองค์กรของท่านนะคะ

อ้างอิงข้อมูลจาก บริษัทเจแปนแอร์ไลน์ และเว็ปที่เกี่ยวข้อง