มองเศรษฐกิจและสังคมแบบ Foresight

มองเศรษฐกิจและสังคมแบบ Foresight

มาเล่าต่อถึงเนื้อหาสาระสำคัญในวันที่สอง ของการประชุมนานาชาติ The International Risk Assessment and Horizon Scanning Symposium (IRAHSS) 2017

ในชื่องาน A Journey to The Future ซึ่งมีนักอนาคตศาสตร์ (Futurist) จากทั่วโลกมารวมกัน

คุณนันทพร อังอติชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งได้เข้าร่วมงานครั้งนี้ ได้มาบอกเล่ารายละเอียดในประเด็น The Future Society ว่าไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเท่านั้น หากแต่ยังคำนึงถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วย


ภายในงานได้อภิปรายถึงสังคมในอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง จากผลกระทบที่เกิดจาก Technology Globalization และ Global Warming
ซึ่งแน่นอนทั้งสามประการดังกล่าวถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สร้างผลกระทบอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางใดก็ตาม

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราควรจะใส่ใจในสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่จะคาดการณ์อนาคตได้ใกล้เคียงที่สุด และแน่นอนถ้าเราต้องการให้สังคมอยู่ดีมีสุข
การมองภาพที่เป็นลักษณะโครงข่ายเชื่อมโยง (Networking) เป็นสิ่งสำคัญ เช่น ในอนาคตระบบสวัสดิการสาธารณสุข (Health care) จะไม่ยั่งยืนเพราะ โรคภัยไข้เจ็บเพียงโรคเดียว จะมีการเชื่อมโยงกับอีกโรคหนึ่ง เมื่ออายุมากขึ้น Disease Networking ก็จะเพิ่มมากขึ้น


เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจความเชื่อมโยงดังกล่าว เพื่อหา New Vision of Medicine ไม่เพียงเท่านั้นในอนาคตสังคมอาจต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่มาพร้อมเทคโนโลยี ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไปไกลเท่าไร ถ้าคนใช้เทคโนโลยีไม่สามารถเรียนรู้เท่าทัน แต่ยังคงเป็นนักบริโภคเพียงอย่างเดียว ความรู้ที่มีน้อยจะทำให้เราด้อยความสามารถในการเอาตัวรอดกับสังคมในยุคหน้า อาทิ การปล้นธนาคารไม่จำเป็นต้องลงมือปฏิบัติที่สถานที่จริงอีกต่อไป แต่สามารถดำเนินการผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว ก็สามารถโอนเงินได้จำนวนมหาศาล แบบที่กว่าจะตามหาร่องรอยได้ก็คงหนีหายไปไกลแล้ว


และที่สำคัญอาชญากรทางไซเบอร์นี้มักจะกบดานหรือฝังตัวอยู่ในประเทศที่เข้าออกได้ง่าย ขาดความเข้มงวดทางกฎหมาย และอ่อนด้อยในระบบป้องกันทางไซเบอร์ ซึ่งประเทศต่างๆ สามารถวาง Future Policing เพื่อรองรับ The Future Society ซึ่งมี 4 ประเด็นที่รัฐต้องดำเนินการคือ ต้องคาดการณ์ในสิ่งที่คาดการณ์ยาก (Predict the Unpredictable) ต้องสร้างความปลอดภัยในสังคมรอบด้าน (Safety on Road and on Line) ต้องบังคับใช้กฎหมายรัฐและการคุกคามต่างๆ เช่น Ransomware (Enforcement based on Nation states and Global Threats) ตลอดจนต้องมีการพัฒนา Policy & Legal Framework ให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว


ส่วนการอภิปรายในหัวข้อ The Future of Terrorism มีการหยิบยกประเด็นเรื่องการเปลี่ยนรูปแบบของอาชญากรรมจาก Physical เป็น Cyber space ซึ่งในอนาคต สังคมจะต้องเผชิญกับ Smart crime และ Smart criminal รัฐจึงต้องดูแลความปลอดภัยของประชาชนในทุกด้าน ทั้งนี้ The Future of Terrorism ถือเป็น Black Elephant (เรื่องที่เกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้น แต่มนุษย์พยายามที่จะเพิกเฉยต่อเรื่องดังกล่าว)
ซึ่งยากจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่หยั่งลึก เพราะในการเกิดเหตุการณ์ก่อการร้าย เราจะรู้ข้อมูลเพียงบางส่วนแต่ไม่รู้ทั้งหมด รูปแบบการก่อการร้ายจะเป็นการดำเนินการคนเดียว และที่สำคัญเป็นคนที่หลากหลายสัญชาติ


The Future of Terrorism ถือเป็นสภาพการณ์แบบ VUCA World และ TUNA World อย่างแท้จริง ดังเช่น ความเข้มแข็งขึ้นของกลุ่มก่อการร้าย ISIS ซึ่งมีเหตุปัจจัยมาจากความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี สามารถสื่อสารผ่าน Social Network รวมทั้งมีการสื่อสารภาษาต่างๆได้อย่างเป็นวงกว้าง การขยายอิทธิพลของกลุ่ม ISIS เป็นสิ่งที่เรารับทราบกันอยู่ในปัจจุบัน แต่ทว่าก็ยังหาวิธีการดำเนินการอย่างจริงจังไม่ได้ Black Elephant ตัวนี้ก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนยากต่อการจัดการในอนาคต


สิ่งที่คุณนันทพร ได้บอกเล่ามาพอสังเขปสำหรับการประชุมในวันที่สองนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นประเด็นทางสังคม แต่ผมเชื่อว่าทุกคนทราบดีว่า เศรษฐกิจและสังคม เหมือนเหรียญ 2 ด้านที่อยู่ในมือทุกคน จะพลิกไปทางไหนก็ล้วนแต่ส่งผลเชื่อมโยงถึงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ธุรกิจอุตสาหกรรมกำลังขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผลกระทบและแรงกระเพื่อมต่อสังคมก็ยิ่งมากขึ้นตามลำดับ


นั่นเพราะว่าธุรกิจการค้าปรับตัวเร็วมาก จะเห็นได้ว่าแค่ประเด็นเงินอิเล็กทรอนิกส์ การชำระค่าสินค้าและบริการ ตลอดจนการโอนเงินในช่องทางออนไลน์ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก แต่มีผู้คนจำนวนน้อยเท่านั้นที่รู้เท่าและรู้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ทั้งๆที่ก็ใช้ช่องทางและวิธีการดังกล่าวจนเกือบจะกลายเป็นช่องทางหลักไปแล้ว คดีความและการหลอกลวงกันผ่านธุรกรรมและการค้าขายออนไลน์ จะทวีจำนวนมากขึ้นและน่าจะกลายเป็นคดีที่วุ่นวายและแก้ไขได้ยุ่งยากมากในอนาคต เพราะจากผู้กระทำผิดที่เป็นหัวโจกรายเดียว จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากมายมหาศาลที่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่กันในที่ต่างๆบนโลก

ถ้าเรากำลังบอกว่าสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องต่อการเติบโตคือ Volume (ขยายปริมาณของฐานลูกค้าได้อย่างมหาศาลแบบไม่มีข้อจำกัด) Velocity(เติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น) และ Variety (มีความหลากหลายจากความต้องการเล็กๆ ที่บริษัทใหญ่ๆมองข้าม) ผลกระทบกับทางสังคมที่อาจเกิดขึ้น ก็น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน