ทางออกของการลดภาระหนี้จีน

ทางออกของการลดภาระหนี้จีน

ทางออกของการลดภาระหนี้จีน

หนึ่งในเป้าหมายของรัฐบาลจีนในช่วงนี้ คือ “การลดภาระหนี้” ซึ่งเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั่วโลก ตามข้อมูล ณ สิ้นปี 2559 จีนมีระดับหนี้รวมสูงถึง 258% ของ GDP โดยแบ่งเป็นหนี้ภาครัฐฯ 38% หนี้ภาคครัวเรือน 45% หนี้ภาคธนาคาร 19% และหนี้ภาคเอกชน 156% หนี้ภาคเอกชนนี้เองที่สร้างความกังวลแก่ตลาด เนื่องจากบริษัทส่วนมากที่มีภาระหนี้สูงเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจ (SOEs) หรือที่รู้จักกันในนามบริษัทซอมบี้ที่มีผลประกอบการย่ำแย่ แต่สามารถอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้เพียงเพราะการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ถูกลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงตั้งแต่วิกฤษเศรษฐกิจโลกปี 2552 นั่นเอง รัฐบาลจีนจึงเริ่มเข้ามาควบคุมเพื่อลดระดับหนี้ในช่วงปีหลังๆมานี้ อย่างไรก็ ดี ในอีกมุมหนึ่งการชะลอตัวลงของสินเชื่อ ก็จะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งทางรัฐบาลจีนก็ทราบดี โดยระบุว่า การเติบโตของ GDP จีนปี 2560 นี้จะเติบโตอยู่ในเกณฑ์ 6.5% ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 6.7%

ที่ผ่านมาทางการจีนได้ออกมาตรการหลากหลายเพื่อลดภาระหนี้ลง เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืม การเปลี่ยนแปลงพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นเป็นตราสารทุน และการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จีนเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน ซึ่งเริ่มส่งผลให้อัตราการกู้ยืมของจีนค่อยๆชะลอตัวลง นอกจากนี้ การปล่อยกู้นอกระบบ (Shadow Banking) ก็ปรับตัวลงต่อเนื่องจากกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด รวมถึงผลผลิตทางอุตสาหกรรมส่วนเกินก็ถูกกำจัดลง อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่ามาตรการที่กล่าวมาจะได้ผลในวงแคบเท่านั้น เพราะในระดับประเทศ ระดับหนี้ของจีนกลับไม่ลดลง แต่มีโอกาสจะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 300% ของ GDP ในช่วงสิ้นปี 2560 ด้วยซ้ำ

คำถามสำคัญ คือ “เมื่อมาตรการที่บังคับใช้ไม่ส่งผลอย่างที่คาดคิด จีนต้องเดินหน้าอย่างไรเพื่อลดภาระหนี้ รวมทั้งรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจต่อจากนี้” หากพิจารณาดูดีๆการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นมาจากกิจกรรมทางธุรกิจที่คึกคัก ประชาชนจับจ่ายใช้สอย บริษัทลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งหากจะลดการกู้ยืมลง เงินทุนที่บริษัทสามารถหามาได้ก็ต้องมาจากแหล่งอื่น ซึ่งก็คือตลาดตราสารหนี้ ทั้งนี้ตลาดตราสารหนี้จีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกด้วยมูลค่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2559 รองจากสหรัฐฯที่ 38 ล้านล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่นที่ 12 ล้านล้านดอลลาร์ การเปิดตลาดตราสารหนี้จีนสู่นักลงทุนทั่วโลกดูจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะจะเป็นการนำเงินทุนใหม่ๆเข้าสู่ประเทศเพื่อต่อยอดการเติบโตของเศรษฐกิจ และเป็นไปตามจุดประสงค์ของการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนสู่ความสากลที่มากขึ้นอีกด้วย โดยรัฐบาลจีนได้มีการริเริ่มการเชื่อมต่อตลาดตราสารหนี้จีนกับฮ่องกง เพื่อให้นักลงทุนชางต่างชาติเข้าถึงได้มากขึ้น หลังจากมีการเชื่อมต่อตลาดตราสารทุนไปแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งนี้นักวิเคราะห์ประเมินว่าขนาดของตลาดตราสารหนี้จีนจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว และจะสามารถแซงหน้าขนาดของตลาดตราสารหนี้ญี่ปุ่นในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติมีการถือครองพันธบัตรจีนเพียง 2% เท่านั้น