ถ้าคนไม่เก่งประเทศไทยก็แพ้ตั้งแต่อยู่ในมุ้ง

ถ้าคนไม่เก่งประเทศไทยก็แพ้ตั้งแต่อยู่ในมุ้ง

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาคอกีฬาในบ้านเรา โดยเฉพาะคอฟุตบอล คอฟุตซอล คอวอลเลย์บอล คอแบดมินตัน ดูกีฬาเหล่านี้ได้สบายใจขึ้น

ถึงไม่ได้ชนะทุกชัด แต่ฝีไม้ลายมีที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ของนักกีฬาไทยก็ทำให้ดูการแข่งขันแล้วรู้สึกดีกว่าเมื่อก่อน วงการกีฬาขาขึ้นมันช่างสวนทางกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ยังไม่ค่อยกระเตื้องขึ้นสักเท่าไหร่

หากจะว่าไปแล้ว คนไทยเองใช่ว่าจะสู้คนประเทศอื่นเขาไม่ได้ ช่วงหลายปีมานี้ เด็กไทยไปแข่งโอลิมปิกวิชาการได้เหรียญกลับมาทุกปี ไปแข่งขันฝีมือแรงงานก็ติดอันดับมาตลอด เมื่อคนไทยเก่งขนาดนี้ แต่ภาพรวมยังไม่ดีขึ้นก็ต้องตั้งคำถามต่อไปว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เพราะการแข่งขันทางเศรษฐกิจคงไม่มีการตั้งใจล้มเหมือนกับการแข่งกีฬาในบางนัด

หากจะไล่กันไปถึงสาเหตุ สุดท้ายก็จะลงไปที่เรื่องของคน ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานับ 10 ปีแล้ว ผลการสำรวจของธนาคารโลกเมื่อราว 10 ปีก่อนพบว่า เมื่อการเปรียบเทียบสัดส่วนของแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labor) เทียบกับการจ้างงานทั้งหมดของกลุ่มตัวอย่างในภาคการผลิตของประเทศในอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ประเทศไทยมีสัดส่วนของแรงงานไร้ฝีมือตามนิยามที่ใช้ในการสำรวจมากที่สุด คิดเป็น 83.5% ของแรงงานทั้งหมดจากธุรกิจที่ทำการสำรวจ สูงกว่ามาเลเซีย 0.3 เท่า สูงกว่ากัมพูชา 3.2 เท่า สูงกว่าเวียดนามและอินโดนีเซีย 4 เท่า และสูงกว่าฟิลิปปินส์ถึง 8 เท่า แม้ว่าผลการสำรวจจะทำมาหลายปีแล้ว แต่ผลที่ได้ก็ยังเป็นจริงอยู่ถึงทุกวันนี้

หลายคนอาจจะรู้สึกว่าผลสำรวจนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะประเทศไทยมีคนจบการศึกษาในระดับสูงและมีแรงงานฝีมือเป็นจำนวนมาก แล้วทำไมตัวเลขของประเทศไทยจึงได้ออกมาย่ำแย่ขนาดนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้เป็นแบบนี้มี 2 ข้อ

สาเหตุแรก คือ การมุ่งสร้างคนในระดับปริญญาตรีโดยไม่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ว่าในช่วงที่ประเทศกำลังเปลี่ยนผ่านจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนานั้น จำเป็นจะต้องมีการผลิตแรงงานฝีมือในระดับปฏิบัติการเพื่อป้อนภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในระดับธุรกิจสามารถเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่นที่สุด

สาเหตุที่ 2 คือ ระบบการศึกษาของเราเองที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ในภาคปฏิบัติได้ดีพอ เพราะการจะทำงานได้ดีนั้น มีแค่ประสบการณ์ด้านการใช้เครื่องมือเครื่องจักรเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องเสริมด้วยความสามารถด้านกระบวนการคิด และทัศนคติในการทำงานที่ถูกต้อง หากสิ่งเหล่านี้ขาดหายไป ก็จะทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถทำงานได้เต็มที่เมื่อลงสนามจริง ระดับไหนถึงจะมีสิทธิได้สัญชาติไทย จะได้สอดคล้องกับวิธีที่ประเทศพัฒนาแล้วเขาใช้กัน

คนของเรามีอยู่เกือบ 70 ล้านคน แต่มีสักกี่คนที่มีโอกาสได้พัฒนาและแสดงความสามารถของตนได้อย่างเต็มที่?

หันกลับไปดูวงการกีฬา ทีมวอลเลย์บอลหญิง ทีมฟุตบอล ทีมฟุตซอล นักแบดมินตัน และนักกีฬาอีกหลายกลุ่มได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากมีการให้โอกาส สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพ มีการสนับสนุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คนไทยสามารถเปล่งประกายได้ถึงขีดสุด เมื่อคนของเราเก่งพอ จะไปแข่งอะไรกับเขาก็ไม่ต้องกลัวว่าจะสู้เขาไม่ได้

จริงอยู่ การมุ่งสะสมทุนทางกายภาพยังเป็นเรื่องสำคัญ แต่หากจะให้น้ำหนักกันจริง ๆ แล้ว ในตอนนี้ ผลตอบแทนจากเงินหนึ่งบาทที่ลงไปกับโครงการสร้างสารพัดอาจจะน้อยกว่าการลงทุนไปกับการพัฒนาคนเสียด้วยซ้ำ การสร้างถนนช่วยให้คนเดินทางเอาของออกมาขายได้ แต่ของจะขายได้ราคาดีมีกำไรหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ ในทางตรงกันข้าม การสร้างคนจะนอกจากจะช่วยให้เขาสามารถเอาของออกมาขายได้เองแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จของเขาอีกด้วย ยิ่งในยุค 4.0 ที่กำลังสมองคือปัจจัยชี้เป็นชี้ตาย การพัฒนาคนจึงไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ

ช่วง 10 กว่าปีมานี้ ประเทศไทยใช้แต่นโยบายบริหารเงินเพื่อบริหารประเทศ กิจกรรมของรัฐส่วนใหญ่จึงมีแต่ จ่ายแหลก แจก สร้าง หาทางกู้ การใช้เงินบริหารประเทศแบบนี้ เมื่อใช้แล้วก็หมดไป ต้องคอยหาใหม่อยู่เรื่อย การจะสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ขึ้นอยู่กับการให้น้ำหนักระหว่างการใช้เงินเพื่อบริหารประเทศในระยะสั้น กับการสร้างคนเพื่อให้คนไปพัฒนาประเทศในระยะยาว เพราะคุณภาพของคนคือแหล่งที่มาของความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่แท้จริง การเมินเฉยต่อเรื่องนี้ ก็เหมือนกับการสมยอมล้มมวยทางเศรษฐกิจ หากยังขืนเป็นแบบนี้ต่อไป แข่งไปก็เหมือนไม่ได้แข่ง เพราะแพ้ตั้งแต่อยู่ในมุ้งแล้ว