ผลิตภัณท์การเงิน Hybrid

ผลิตภัณท์การเงิน Hybrid

ผลิตภัณท์การเงิน Hybrid

ในปีนี้ทางการเริ่มมีประกาศเกณฑ์ที่เน้นไปที่การแยกประเภทผลิตภัณท์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนมากน้อยไม่เท่ากัน เช่น ในอนาคตเจ้าหน้าที่การตลาดที่นำเสนอสินค้าที่ซับซ้อนแก่นักลงทุนจำเป็นต้องได้รับการอบรมเพิ่มเติม มีการแบ่งชนิดของผลิตภัณฑ์ให้แก่นักลงทุนอย่างชัดเจนเพื่อสะท้อนความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับการเตรียมความพร้อมในการเติบโตตลาดทุนไทยในอนาคต และช่วยให้ทั้งนักลงทุนและบุคคลากรในตลาดทุนไทยเริ่มปรับตัวตามกระแสการเติบโตของผลิตภัณฑ์ทางการเงินทั่วโลก

ประเภทผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เราคุ้นเคยกันจะแบ่งเป็นการลงทุนตราสารหนี้และหุ้น โดยในสถานการณ์ปกติ การเคลื่อนไหวของราคาสินค้าทั้ง 2 แบบมีความผันผวนที่แตกต่างกัน การลงทุนในหุ้นนักลงทุนต้องยอมรับการผันผวนของราคาหุ้นเพื่อแลกมากับโอกาสในการทำกำไรที่สูงกว่า การลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร หรือหุ้นกู้ ความผันผวนของราคามีน้อยแต่นักลงทุนต้องยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าหุ้นโดยจะได้ผลตอบแทนในรูปของอัตราดอกเบี้ย ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินทั่วไปและไม่ซับซ้อน

ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น นักลงทุนจะเริ่มได้ยินคำกว้างๆว่า ผลิตภัณฑ์ประเภท Hybrid สาเหตุที่เรียกว่า Hybrid เพราะผลิตภัณฑ์ประเภทนี้เป็นการผสมกันระหว่างตราสารหนี้และหุ้น ไม่สามารถแยกออกตรงๆ ได้ว่าเป็นตราสารหนี้หรือหุ้นกันแน่ การลงทุนในสินค้าประเภทนี้นักลงทุนไม่ได้เป็นคนเลือกจัดสรรเงินลงทุนระหว่างตราสารหนี้และหุ้นด้วยตัวเองตรงๆ แต่การลงทุนจะเสมือนโยกไปมาระหว่างตราสารหนี้และหุ้นตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ตั้งแต่แรก ลองนึกภาพกองทุนที่มีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า ในตอนแรกจะลงทุนหุ้นกู้ แต่ถ้าดัชนีหุ้นขึ้นไปถึงจุดที่กำหนดไว้ กองทุนนี้จะขายหุ้นกู้ที่ถือไว้และลงทุนในหุ้นแทน ซึ่งจะได้กำไรสูงขึ้นมากกว่าการลงทุนในหุ้นกู้ แต่ถ้าเมื่อเวลาผ่านไปดัชนีหุ้นปรับตัวลงกองทุนนี้ก็จะทำการขายหุ้นและกลับมาลงทุนในหุ้นกู้เหมือนเดิม กองทุนชนิดนี้ก็จัดได้ว่าเป็นกองทุนรวมประเภท Hybrid โดยความเสี่ยงของกองทุน Hybrid นี้ ไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าความเสี่ยงน้อยเหมือนตราสารหนี้ หรือความเสี่ยงมากเหมือนหุ้น เพราะในแต่ละช่วงเวลาต่างๆเงินของนักลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนจะย้ายไปมาระหว่างการลงทุนในหุ้นกู้และหุ้น

หุ้นกู้บางประเภทที่มีความซับซ้อนและมีลักษณะ Hybrid แฝงอยู่ด้วย ประเภทที่ได้ยินกันบ่อยในช่วงระยะหลังๆ และบริษัทบางแห่งเริ่มมีการระดมทุนผ่านผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ ได้แก่ หุ้นกู้ประเภท Convertible Bond (เรียกสั้นๆว่า CB) หุ้นกู้ CB โดยหลักการแล้วไม่มีอะไรมากครับ ตอนแรกๆก็เหมือนหุ้นกู้ทั่วๆไป มีดอกเบี้ยให้แก่นักลงทุนบนเงินต้นที่นักลงทุนนำมาลงทุน สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากหุ้นกู้ทั่วๆไปคือ เมื่อครบกำหนดอายุ (หรือระหว่างช่วงอายุ) จะให้สิทธิแก่นักลงทุนในการนำเงินหน้าตั๋วที่จะได้รับไปชำระค่าซื้อหุ้นที่ราคาแปลงแทนที่จะรับเงินคืนกลับไป

ตรงส่วนที่มันเป็นสิทธิในการแปลงแหละครับ ที่ทำให้หุ้นกู้ CB นี้มีความเป็น Warrant แฝงอยู่ และแน่นอนครับทำให้ราคาซื้อขายหุ้นกู้ประเภทนี้แกว่งตัวแรงตามราคาหุ้นของบริษัทได้ ในปัจจุบันเรายังไม่มี CB มาจดทะเบียนซื้อขายบนกระดานให้เราซื้อขายกันและยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่ในต่างประเทศ CB เป็นหนึ่งในสินค้าที่เป็นที่นิยมและมีสภาพคล่องสูงมากเนื่องจากคุณสมบัติ Warrant ที่ซ่อนอยู่ ผมเชื่อว่าในอนาคตสินค้า CB นี้จะกลายเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงการยกตัวอย่างคร่าวๆของสินค้า Hybrid แบบพื้นฐานและที่เป็นที่นิยมในตลาดการเงินต่างประเทศมานาน สำหรับในประเทศไทยเองสินค้า Hybrid ที่ได้รับความนิยมกันในกลุ่มนักลงทุนประเภท High Net Worth มากขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ หุ้นกู้อนุพันธ์ประเภท Equity Linked Note โดยเป็นการ Hybrid ระหว่างหุ้นกู้และการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ใน SET50 (ซึ่งจะมาเล่ารายละเอียดให้ฟังในครั้งต่อๆไป) ถึงแม้ว่าการประเมินความเสี่ยงของสินค้ากลุ่ม Hybrid จะดูว่ามีความซับซ้อนบ้าง แต่ก็ไม่ยากเกินไปถ้าเราศึกษาในรายละเอียดดีๆ เพราะต้องอย่าลืมว่าสินค้าพวกนี้เป็นสินค้าที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การลงทุนของนักลงทุนที่มีความต้องการที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ