มาเตรียมตัววางแผนภาษีสำหรับปีนี้กันดีกว่า

มาเตรียมตัววางแผนภาษีสำหรับปีนี้กันดีกว่า

มาเตรียมตัววางแผนภาษีสำหรับปีนี้กันดีกว่า

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ช่วงนี้ก็เข้าสู่เดือนที่ 8 ของปีกันแล้วปกติผมมักจะเห็นความตื่นตัวเรื่องของการวางแผนภาษีรายได้ เช่น การซื้อกองทุน LTF/RMF การซื้อประกันชีวิต หรือการบริจาคเพื่อสร้างกุศลและนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้กันในช่วง 2 เดือนสุดท้ายกัน แต่วันนี้ผมอยากชวนท่านผู้อ่านมาเตรียมตัววางแผนภาษีสำหรับปีนี้กันเสียตั้งแต่ตอนนี้กันดีกว่า

ก่อนอื่นเรามาสำรวจและทบทวนโครงสร้างภาษีสำหรับรายได้ในปีนี้กันก่อนเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงไปจากปีที่แล้วมากพอสมควรครับ เรื่องแรกคือการปรับโครงสร้างการเสียภาษี โดยขยายช่วงรายได้สำหรับฐานภาษีที่อัตราร้อยละ 30 จากเดิม 2,000,001 – 4,000,000 ล้านต่อเป็น 2,000,001 – 5,000,000 บาทต่อปี (หรือรายได้ต่อเดือนประมาณ 166,667 – 416,666 ) และปรับฐานภาษีร้อยละ 35 จากเดิม 4,000,001 บาทต่อปีขึ้นไป เป็น 5,000,001 บาทต่อปี ซึ่งดูจะได้ประโยชน์สำหรับผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก แต่ไม่ใช่เช่นนั้นครับ โครงสร้างการลดหย่อนที่มีการปรับเปลี่ยนนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีรายได้ทุกคน

โดยเพิ่มวงเงินหักค่าใช้จ่ายจากเดิมเหมาจ่ายร้อยละ 40 ของรายได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เป็นเหมาจ่ายร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือค่าใช้จ่ายต่อเดือนจากเดิมเดือนละ 5,000 บาท มาเป็นประมาณเดือนละไม่เกิน 8,333 บาท ซึ่งทำให้ดูสมเหตุสมผลต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อและความจำเป็นอื่น ๆ และเพิ่มค่าลดหย่อนจากเดิมปีละ 30,000 บาท (หรือ 2,500บาทต่อเดือน) เป็น 60,000 บาท (หรือ 5,000 บาทต่อเดือน) สำหรับผู้มีครอบครัวและมีบุตรยังปรับเพิ่มค่าลดหย่อนจาก 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท และเพิ่มค่าลดหย่อนจากการมีบุตรจากเดิม 15,000 เป็น 30,000 บาทต่อบุตรหนึ่งคน โดยคราวนี้ไม่มีการปรับจำนวนบุตรด้วยซึ่งจากเดิมจำกัดให้ได้ไม่เกิน 3 คน ซึ่งโครงสร้างทางภาษีใหม่ น่าจะช่วยทำให้เราลดภาระภาษีที่ต้องจ่ายต่อปีไปได้ในระดับหนึ่ง เช่น ผู้มีเงินเดือน 50,000 บาทเมื่อคำนวณค่าลดหย่อนใหม่แล้วจะจ่ายภาษีลดลง

คราวนี้เราลองมาดูการวางแผนภาษีที่ได้ผลในแง่ของการลงทุนหรือการบริหารความมั่งคั่งกันบ้าง ซึ่งโดยหลักแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร เริ่มจากการลงทุนในกองทุน LTF นั้นยังสามรถลดหย่อนได้ถึงปีละ 500,000 บาท แต่ต้องถือหรือลงทุนเกินกว่า 7 ปีปฏิทิน เงินก้อนนี้ใครที่คิดจะลงทุนในหุ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงอยู่แล้วให้นับเงินก้อนนี้อยู่ในสัดส่วนของหุ้น (ในประเทศได้) ส่วนกองทุน RMF นำมาลดหย่อนได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ)แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งเงินก้อนนี้ท่านสามารถเลือกประเภทของสินทรัพย์ที่จะลงทุนได้หลากหลายกว่า เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ กองทุนรีทส์ เป็นต้น ซึ่งเราสามารถนำมาคิดคำนวณให้สอดคล้องกับการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเราได้มากกว่า LTF

อีกส่วนหนึ่งการลงทุนในประกันชีวิตที่มีอายุเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป สามารถนำมาลดหย่อนไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งท่านสามารถเลือกประเภทของกรมธรรม์ได้ไม่ว่าจะเป็นแบบจ่ายผลตอบแทนแบบคงที่ซึ่งเทียบเคียงกับตราสารหนี้หรือแบบยูนิตลิ้งค์ซึ่งสามารถกำหนดสัดส่วนของผลตอบแทนได้ตามความต้องการ และค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักค่าลดหย่อนในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี (แต่เมื่อรวมกับ RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรืออื่น ๆ ตามข้างต้นต้องไม่เกิน 500,000 บาท) ซึ่งส่วนนี้ผมมองว่าเป็นการลงทุนที่ท่านผู้อ่านนำมาแยกวิเคราะห์สำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนเกษียณได้โดยคิดให้เป็นเหมือนการลงทุนในตราสารหนี้หรือสามารถไปหักออกจากค่าใช้จ่ายที่เราต้องการใช้ต่อเดือนหลังเกษียณ ซึ่งจะทำให้เรานำส่วนที่เหลือกลับมาคำนวณเป็นเงินที่เราต้องมีก่อนเกษียณได้

ท้ายสุดนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับการลงทุนหรือการวางแผนความมั่งคั่งโดยตรงแต่นำมาลดหย่อนภาษีได้และยังได้ประโยชน์ในแง่อื่น คือค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ โดยบิดามารดาต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาท หักค่าลดหย่อน คนละ 30,000 บาท อีกอย่างหนึ่งคือเงินบริจาคซึ่งถ้าเป็นเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาและการกีฬา สามารถนำมาหักได้ 2 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แต่ถ้าเป็นเงินบริจาคประเภทอื่นๆนั้นสามารถนำมาหักได้ตามที่จ่ายจริง (แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน) ซึ่งผมดูนิสัยของคนไทยแล้วผมคิดว่าหากท่านผู้อ่านวางแผนเรื่องการบริจาคดี ๆ นอกจากจะได้บุญหรือให้ประโยชน์กับสังคมแล้วยังนำมาบริหารภาษีได้ด้วย

ท้ายสุดนี้ก็ขอเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านเริ่มต้นวางแผนภาษีในปีนี้กันแต่เนิ่นๆและขอให้ทุกท่านโชคดีกับการลงทุนครับ