‘โมบายเฟิร์ส’อนาคตของการตลาด

‘โมบายเฟิร์ส’อนาคตของการตลาด

ปัจจุบัน “สมาร์ทโฟน” กลายเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนในปัจจุบันไปเรียบร้อยแล้ว 

วันนี้โทรศัพท์มือถือไม่ได้มีหน้าที่เป็นเพียงเครื่องมือในการสื่อสารพูดคุยหรือส่งข้อความ แต่ยังสามารถใช้ทำทำกิจกรรมอื่นๆ นับไม่ถ้วน ทั้งถ่ายรูป ดูหนัง ฟังเพลง ซื้อของ เช็คราคาหุ้น จ่ายค่าน้ำค่าไฟ และอีกมากมายที่เกิดขึ้นบนโทรศัพท์มือถือ ที่นับวันดูจะมีความฉลาดสมชื่อ “สมาร์ทโฟน” 

การเข้าถึงเทคโนโลยีของสมาร์ทโฟนบวกกับระบบอินเทอร์เน็ตที่พัฒนาเครือข่ายและสัญญาณให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมพื้นที่ยังชุมชนต่างๆ ในประเทศก็เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการใช้โทรศัพท์มือถือมากยิ่งขึ้น 

จากผลสำรวจ Digital in 2017: Global Overview โดย We Are Social & Hootsuite พบว่าประชากรโลกเกือบครึ่ง มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และกว่า 50% เกิดขึ้นบนมือถือ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 30% 

โดยมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขของอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะพุ่งสูงถึง 26,000 ล้านเครื่องภายในปี 2020 

สำหรับไทยถือเป็นประเทศที่มีประชากรพร้อมจะเรียนรู้และมีการรับสิ่งใหม่ๆ มาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตได้ง่าย ส่งผลให้มีการใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆบนสมาร์ทโฟนเพิ่มสูงขึ้น เรียกได้ว่าเรากำลังเข้าสู่ยุค Mobile First อย่างเต็มตัว

การจะทำการตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุค Mobile First เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเข้าใจถึงความต้องการและต้องปรับตัวตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค เพื่อให้สอดรับกับความต้องการและดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย 

อีกทั้งยังต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจทัศนคติและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพื่อปรับกลยุทธ์วิธีการทำการตลาด เผยเเพร่คอนเทนท์และหาช่องทางที่ทำให้ผู้บริโภครับสารเหล่านั้นได้สะดวกมากยิ่งขึ้น 

สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจว่ากิจกรรมที่ผู้บริโภคทำบนสมาร์ทโฟนนั้นมีอะไรบ้าง และมีความสำคัญอย่างไร เช่น การพูดคุยสื่อสารผ่านแอพพลิเคชัน Chat App หรือ Messenger กลายเป็นวิธีการสื่อสารหลักในการสอบถามเกี่ยวกับสินค้าและบริการในปัจจุบัน 

การค้นหาข้อมูลผ่านมือถือ แสดงให้เห็นถึงความต้องการในการรับคำตอบอย่างทันท่วงทีในช่วงเวลานั้นๆ รวมถึงการซื้อ-ขายออนไลน์ หรือแม้แต่การใช้บริการทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ตบนมือถือ ที่สะดวกรวดเร็วและสามารถทำที่ไหนก็ได้ 

นอกจากนี้การออกแบบ User Experience (UX) และ User Interface (UI) ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากมือถือนั้นมีข้อจำกัดทางด้านกายภาพ จึงต้องทำให้เนื้อหาหรือการใช้งานนั้นสะดวกและเหมาะสมต่อการใช้บนสมาร์ทโฟน ซึ่งย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค

ตัวอย่างใกล้ตัวในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ AirPay แรกเริ่มพัฒนาเราก็ตั้งเป้าให้มี UI ที่ใช้งานง่าย เมื่อผู้ใช้กดเข้ามาในแอพ จะเห็นภาพรวมทั้งหมดของบริการที่เรามีได้อย่างครบถ้วนตั้งแต่ในสกรีนแรก ทั้งฟังก์ชั่นการจ่ายเงินผ่านการสแกนบาร์โค้ด การตรวจสอบยอดเงินคงเหลือ การผูกบัญชีหรือบัตรเครดิต และบริการชำระเงินอื่นๆที่มีการใช้จ่ายเป็นประจำ เช่น ค่ามือถือ ค่าสาธารณูปโภค เติมเงินเกม จองตั๋วหนัง หรือสั่งอาหาร ที่ผ่านมา AirPay มีการปรับปรุงทั้งตัวแอพและบริการอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 3 ล้านครั้ง 

อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์อย่าง Shopee ที่เป็นอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม ตอบโจทย์โมบายเฟิรส์เป็นหลัก แอพนี้ออกแบบมาเพื่อตอบสนองพฤติกรรมการซื้อ-ขายออนไลน์ของผู้บริโภคในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยฟังก์ชั่นทครบครันจะช่วยสามารถเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้ภายในแอพเดียว เช่น การนำเสนอโปรโมชั่นต่างๆรายวัน การจัดหมวดหมู่สินค้าอย่างเป็นระบบ ช่องทางการสื่อสารโดยตรงระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ รวมถึงระบบชำระเงินที่ทำได้ในแอพเดียว 

โดยผู้ขายสามารถเชื่อม Official Account ของร้านค้าบนโซเชียล มีเดีย ต่างๆ อย่าง อินสตาแกรมและเฟซบุ๊ค เข้ามาที่ Shopee ได้โดยตรง ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องเสียเวลาออกจากแอพไปค้นหาร้านค้าด้วยตัวเอง

จะเห็นได้ว่าการบริการในยุคปัจจุบันนอกจากจะต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ตรงจุดแล้ว ความสะดวกยังเป็นปัจจัยอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าหรือเลือกใช้บริการ และทำให้พวกเขากลับมาใช้บริการในครั้งต่อๆไป 

รวมไปถึงกลายมาเป็น Influencer ที่ดีของแบรนด์ที่จะนำเสนอประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานไปยังบุคคลรอบตัวเขา 

ดังนั้นแบรนด์ต้องตระหนักว่า อะไรคือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ และปัญหาที่แท้จริงในชีวิตของพวกเขาคืออะไร จึงจะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความต้องการของผู้ใช้บนมือถือจนสามารถตอบโจทย์ในใจของพวกเขาได้อย่างดีที่สุด