ธุรกิจ สต้าร์ทอัพ (Startup) ในระบบสาธารณสุข

ธุรกิจ สต้าร์ทอัพ (Startup) ในระบบสาธารณสุข

ในการประชุมกรรมาธิการสาธารณสุขเมื่อเร็วๆนี้ มีการชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องสถานการณ์ของผู้ประกอบการเพื่อสุขภาพ

โฟกัสที่กิจการสปาเพื่อสุขภาพและนวดเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีผู้ชี้แจงมาจากสามกรมใหญ่คือ กรมอนามัย และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จากกระทรวงสาธารณสุข และกรมการปกครอง จากกระทรวงมหาดไทย

ผู้ประกอบการด้านสปาและนวดส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งก็เป็นที่รู้ว่าเขาเหล่านั้นเบี้ยน้อยหอยน้อย สมัยก่อนที่จะมีกฎหมายออกมาควบคุมก็ทำธุรกิจโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมากนัก พออยู่ได้ แต่พอมาเป็นธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริม รัฐก็ออกกฎหมายตามมา พร้อมประกาศ คำสั่งอีกหลายฉบับสำทับให้ต้องปฏิบัติตาม แม้ว่ารัฐจะมีเจตนาเพื่อป้องปรามการบิดเบือนการทำธุรกิจไปเป็นการขายหรือให้บริการทางเพศ แต่ก็เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการไม่น้อย

เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานมาก ไม่ว่าสาธารณสุข มหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา และน่าจะรวมถึงกระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬาด้วย แต่ละกรมจากแต่ละกระทรวงหรือหน่วยงานก็ต่างออกระเบียบ คำสั่ง ประกาศ รวมถึงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆมากมาย

สถานประกอบการเหล่านี้เป็นการดำเนินการโดยผู้ประกอบการรายย่อยเสียส่วนใหญ่ โดนเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าภาษี จากหลายๆหน่วยงานแบบนี้คงไม่เหลืออะไรเท่าไร พวกที่อยู่ได้น่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสายป่านยาว ค่าใช้จ่ายพวกนี้เป็นต้นทุนคงที่ รายเล็กรายย่อยคงลำบาก

ผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำธุรกิจสปาหรือนวดเพื่อสุขภาพ ก็เหมือนกิจการสต้าร์ทอัพ (Startup) รายเล็กๆที่พยายามสร้างธุรกิจแบบรุ่นเก่า และเป็นฟันเฟืองของธุรกิจสุขภาพใหญ่ ธุรกิจเล็กๆเหล่านี้ถ้าจะต้องเจอกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ประกาศจากหน่วยงานรัฐมากๆ ก็คงไปไม่รอด เพราะแค่จะให้พ้นขาดทุนจากการทำธุรกิจเองก็ยังยาก มาเจอกฎระเบียบมากมายพร้อมค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียม ภาษีทั้งจากส่วนกลางและท้องถิ่น ก็คงยิ่งลำบาก

ได้ตั้งข้อสังเกตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าน่าจะคิดว่ากฎหมาย มันมากเกินไปหรือไม่ ทำอย่างไรให้น้อยลง ถ้าทุกหน่วยงานมีการออกกฎหมายบังคับจนผู้ประกอบการกระดิกตัวไม่ได้ ธุรกิจก็คงเดินไม่ได้

อีกปัญหาหนึ่งของกฎหมายคือนอกจากจะมีมากเกินไปแล้ว ยังล้าสมัยไม่ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ แม้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีการออกกฎหมายใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ แต่มักเป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นในการป้องปรามการกระทำความผิด พร้อมมีบทลงโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่ง จนทำให้ผู้ที่คิดนวัตกรรมใหม่ๆไม่สามารถดำเนินการทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆได้โดยสะดวก

ในระบบสาธารณสุขนั้นมีเรื่องของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมานานแล้ว แต่เป็นระบบปิดที่เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ ทั้งนี้เพราะเป็นการป้องกันข้อมูลรั่วไหลและถือเป็นเรื่องส่วนตัวที่เป็นความลับไม่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งขัดขวางการใช้ข้อมูลสารสนเทศเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆของธุรกิจสต้าร์ทอัพ (Startup) เป็นอย่างมาก

ล่าสุด ในเอกสารพิจารณาศึกษาระบบสารสนเทศด้านมาตรฐานและข้อมูลแพทย์ ที่เป็นผลการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการคณะหนึ่งของกรรมาธิการสาธารณสุข ปรากฏว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับธุรกิจสต้าร์ทอัพด้านสุขภาพตรงๆ (Healthcare Startup หรือ HealthTech) เพราะเกี่ยวกับเรื่องระบบสารสนเทศข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จะต้องเปิดเผยมากขึ้นและสามารถส่งต่อระหว่างหน่วยงาน สถานพยาบาล หรือการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน

ผลการศึกษาพบว่ายังติดขัดกฎหมายหลายฉบับซึ่งไม่ใช่แค่ พรบ. การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร พรบ. สุขภาพแห่งชาติ และ พรบ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

กฎหมายเหล่านี้ถือเป็นขวากหนามสำคัญที่ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจสต้าร์ทอัพ ด้าน HealthTech ต้องพากันติดกับดักโดยยังไม่มีทางออก

หลายประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นสิงคโปร์ อิสราเอล พยายามลดกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ คำสั่งเกี่ยวกับเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลทางด้านสุขภาพที่เป็นอุปสรรค และออกกฎหมายใหม่เพื่อให้ระบบสารสนเทศทันสมัย ทันต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ แต่ของเรายังติดอยู่กับเรื่องเดิมๆ ไม่ว่าเรื่องความลับส่วนบุคคล เรื่องมาตรฐานข้อมูล เรื่ององค์กรกำกับดูแล และอีกมากมายหลายเรื่อง ทั้งจาก พรบ. ข้อมูลข่าวสาร และ พรบ. สุขภาพแห่งชาติ ดูๆแล้ว ถ้าไม่สามารถแก้ไขเรื่องเหล่านี้ โอกาสที่จะเป็น Thailand 4.0 ยิ่งยากขึ้นอีก ในขณะที่ต่างประเทศพยายามออกกฎหมายเพื่อปรับปรุงและเปิดโอกาสให้ธุรกิจสต้าร์ทอัพทางด้านสุขภาพ หรือ HealthTech เกิด แม้กระทั่งประเทศสหรัฐเองก็กำลังปรับปรุงกฎหมาย Healthcare Information Act และถึงกับบัญญัติไว้ในร่างกฎหมายใหม่ว่า ต้องไม่เป็นอุปสรรคกับธุรกิจสต้าร์ทอัพด้านสุขภาพ ร่าง พรบ. ฉบับนี้ของสหรัฐเรียกว่า Improving Healthcare Information Bill

จึงอยากให้ฝ่ายที่พิจารณาออกกฎหมาย ได้เห็นความสำคัญของการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มสต้าร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร เพราะถ้าเราจะมีกฎหมายฉบับใหม่เกี่ยวกับสารสนเทศและข้อมูลทางการแพทย์ ก็น่าจะสอดคล้องกับพัฒนาการในเรื่องเทคโนโลยีสุขภาพด้วย