ภูมิปัญญาพื้นเมืองผสานแพทย์สมัยใหม่ เพื่อสุขภาพชุมชน

ภูมิปัญญาพื้นเมืองผสานแพทย์สมัยใหม่ เพื่อสุขภาพชุมชน

จาก ‘ปฏิญญาเชียงราย’สู่ ‘ธรรมนูญตำบลป่าหุ่ง’ ภูมิปัญญาพื้นบ้านผสานแพทย์สมัยใหม่ จุดประกายเมืองสมุนไพรครบวงจร

ชงดอกคำฝอยผสมฝางเส้น กินคู่ปะสะไพร กับเบญจกูล พวกนี้เป็นแคปซูลหมดกินง่าย แล้วก็เอายาเม็ดหอมนวโกฐ ไม่ขมเลย มาละลายน้ำกินวันละ ๓-๔ ครั้ง แล้วก็พยายามกินน้ำอุ่นเยอะๆ เดี๋ยวหมอจัดยาที่ว่าให้ไปกินสักเดือนหนึ่ง เลือดลมจะดีขึ้น ประจำเดือนจะกลับมาปกติ ถือบัตรทองใช่ไหมครับ ไม่ต้องเสียตัง

เสียงจากห้องตรวจแพทย์แผนไทยของ กันต์กวี คำเขื่อน หมอแผนไทยวัยรุ่น ที่บอกกับหญิงวัยกลางคนผู้มารักษาตัวด้วยโรคโลหิตสตรีอย่างคล่องแคล่ว ท่ามกลางคนไข้หนุ่มสาวไปถึงผู้เฒ่าที่เดินขวักไขว่เฉลี่ย ๓๐ คนต่อวัน ในคลินิกแพทย์แผนไทยของ โรงพยาบาลแม่สรวย จ.เชียงราย หลังจากก่อตั้งเมื่อ ๓ ปีก่อน

โรงพยาบาลชุมชนแห่งนี้ เปิดทางเลือกให้ผู้ป่วยในการรักษาด้วย ‘แพทย์แผนไทย’ ควบคู่กับ ‘แพทย์แผนปัจจุบัน’

ที่นี่เต็มไปด้วยป่าเขา มีความหลากหลายทางชีวภาพ ชาวบ้านปลูกสมุนไพรทั่วไปหมด ประกอบกับตอนนี้โรค NCDs หรือโรคติดต่อไม่ร้ายแรง เป็นสาเหตุการตายมากกว่าโรคติดเชื้อ ซึ่งอาหารเป็นปัจจัยสำคัญ สมุนไพรจะเข้ามาช่วยได้ เพียงเราไม่มีอคติ ส่วนการรักษาก็ไม่ขัดแย้งกันระหว่างแผนปัจจุบันกับแผนไทย” นพ. วนิรุทธ์ หอเจริญ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สรวย กล่าว

หมอเมือง-แพทย์ปัจจุบัน การทำงานที่ลงตัว

ปัจจุบัน คลินิกแผนไทย ของโรงพยาบาลแม่สรวยรับซื้อยาสมุนไพรจาก ๒ ช่องทางหลัก สำหรับยาแคปซูลที่บรรจุเป็นสมุนไพร ต้องได้มาตรฐานการผลิต GMP ซื้อตรงจาก รพ.พญาเม็งราย ซึ่งผลิตได้เอง และซื้อจากกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันปลูกพืชสมุนไพร อาทิ กลุ่มหมอยาสมุนไพร (ยาต้ม) คือ กลุ่มเวียงเก่า บ้านเด่นภูเวียง ต.แม่สรวย ที่มีพระอาจารย์สุกรีสเมโธ และกลุ่มผู้สูงอายุของหมู่ ๒ และ ๑๔ ที่ร่วมกันใช้เวลาว่างปลูกและดูแลรักษาพืชสมุนไพรบนพื้นที่กว่า ๗๐ ไร่

นอกจากส่งวัตถุดิบให้โรงพยาบาลแล้ว ชาวบ้านกลุ่มนี้ยังทำกิจกรรมเพื่อสังคม นำยาต้ม ๙ หม้อที่มีสรรพคุณช่วยเลิกเหล้าและยาเสพติดออกให้บริการตามงานเทศกาลและงานบุญต่างๆ จนได้ผลดีเป็นที่ยอมรับในชุมชน

ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลแม่สรวยยังขึ้นทะเบียนหมอเมืองกว่า ๒๐ คน จากสภาหมอเมือง อำเภอแม่สรวย เพื่อดึงให้มารักษาคนไข้ที่โรงพยาบาล และบางส่วนส่งต่อคนไข้ไปรักษาตามบ้านหมอเมืองที่มีรายชื่อ

ไม่แปลกที่จะเห็นภาพไฟลุกเป็นช่วงๆ ในมุมหนึ่งของคลินิกแห่งนี้ จากเตาถ่านเล็กๆ อุปกรณ์สำคัญของหมอย่ำขางที่มารักษาคนไข้ในโรงพยาบาล ด้วยวิธีนำฝ่าเท้าของเขาจุ่มน้ำมันไพร ก่อนนำไปวางนาบกับถ่านติดไฟแดงโล่ในเตา โดยมีวัสดุแผ่นดำบางๆ รองไว้ เพื่อถ่ายเทความร้อนจากฝ่าเท้าให้กับคนไข้ที่ป่วยเจ็บด้วยโรคกล้ามเนื้อ

เรายอมรับการรักษาแบบนี้ เพราะมีการสำรวจมาก่อน ไม่พบว่ามีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น ขณะที่หมอเมืองก็ชำนาญ และสามารถตอบข้อสงสัยของเราได้ทั้งหมด พลสินธุ์ เขจร แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ หัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลแม่สรวย อธิบาย ขณะที่คนไข้ก็ยิ้มอย่างอารมณ์ดี เมื่อเขามีทางเลือกที่ไม่ต้องผ่าตัดจากโรคกระดูกทับเส้น โรคยอดฮิตของชาวนาชาวไร่

คลินิกมีหมอแผนไทย ๓ คน ทำงานด้วยกันกับหมอแผนปัจจุบัน เวลาออกหน่วยเยี่ยมผู้ป่วยตามชุมชน ๑ อาทิตย์ ๔ วัน เราก็ไปด้วยกันเป็นทีม หมอพลสินธุ์ เล่าการทำงานในชุมชน

สานพลังสร้าง ‘ปฏิญญาเชียงราย

กลุ่มหมอเมืองสรวย เป็นส่วนหนึ่งของหมอเมืองเชียงรายที่เข้าไปมีบทบาทขับเคลื่อน .ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ตั้งแต่ต้น เพื่อเสนอประเด็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในร่าง พ.ร.บ. นำมาสู่การขับเคลื่อนทั้งในระดับประเทศและจังหวัด ณ วันนี้

ประกาศ “ปฎิญญาคนเชียงราย” ที่เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๓ เป็นตัวอย่างของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ผ่านกลไก สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ทั้งเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการดูแลสุขภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการจัดการสมุนไพร ส่งผลให้เชียงรายเป็น จังหวัดต้นแบบเมืองสมุนไพรครบวงจร ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพร พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔ โดยมี สภาหมอเมืองล้านนาเชียงราย เป็นกลไกหลัก มีเครือข่ายหมอเมืองใน ๑๘ อำเภอ สมาชิกหมอเมืองกว่า ๖๗๐ คน มีบทบาทในการดูแลสุขภาพคนในชุมชนทั้งที่บ้าน และร่วมให้บริการ ณ โรงพยาบาลชุมชน และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน เป็นรูปธรรมของพื้นที่ขับเคลื่อนงานภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการรักษาด้วยสมุนไพรโดยหมอเมืองครบวงจร มี ธรรมนูญสุขภาพตำบลป่าหุ่ง จังหวัดเชียงราย เป็นเครื่องมือสำคัญในการรวมกลุ่มคนจากทุกภาคส่วนให้ทำงานด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันมีธรรมนูญฯ ฉบับที่ ๒ แล้ว และมีแผนพัฒนา ๕ ปี ที่เกิดจากเวทีประชาคมในพื้นที่สานพลังร่วมกัน

โดยในปี ๒๕๕๙ คณะกรรมการภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เลือกให้ตำบลป่าหุ่งเป็นพื้นที่นำร่องของการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นระดับพื้นที่

จากภูมิปัญญาสู่หลักสูตรการเรียนรู้

ด้วยความชัดเจนของนโยบายและการขับเคลื่อนของหลายพื้นที่ ทำให้เมืองสมุนไพรของเชียงรายโดดเด่น เป็นคำตอบให้เยาวชนในภาคเหนือเลือกร่ำเรียน หลักสูตรแพทย์แผนไทย จากสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้น และเลือกบรรจุเป็นแพทย์แผนไทยปฏิบัติการที่โรงพยาบาลชุมชน และ รพ.สต. ในเชียงราย ทั้งยังมีหมอเมืองรุ่นใหม่ผุดขึ้นให้เห็น อย่าง อุ๋ย - วราพร ทัพขวา ที่กำลังรับช่วงสืบทอดการผลิต “รางจืด” ล้างพิษที่โด่งดังของหมอนาง หมอเมืองแห่งบ้านแม่สรวย

เริ่มจากความจำเป็นต้องกลับมาดูแลพ่อแม่ เพราะเป็นลูกสาวคนเดียว อยู่ไปอยู่มา ก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำยังไงให้อยู่ได้อย่างมีความสุข ก็เลยผสมผสานงานสถาปัตย์ที่เรียนมากับโซเชียลมีเดีย และนำประสบการณ์จากการทำงานออฟฟิศที่เชียงใหม่ ๘ ปี มาพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีมาตรฐานและแพคเกจดี แล้วก็เพิ่มช่องทางการโฆษณาและขายผ่านเฟซบุ๊ก

การปรากฏตัวของหมอเมืองรุ่นใหม่ เป็นคำตอบที่ทำให้หลายคนโล่งใจ จากที่เคยเป็นห่วงว่าหมอเมืองจะอยู่ได้อย่างไรในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ ซึ่ง ณัฐนนท์ จองคำ หัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายกำลังเสนอชื่อหมอเมืองกว่า ๕๐ คน ของจังหวัดเชียงราย เข้าสู่กระบวนการรับรองเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยจากสภาการแพทย์แผนไทย เพื่อให้หมอเมืองมีศักดิ์และศรีตามกฎหมายวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ให้ได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้นในอนาคต

ผมเชื่อว่าหมอเมืองเราอยู่ได้ เพราะวันนี้เห็นแล้วว่า ยาสมุนไพรพื้นบ้านที่ผลิตโดยหมอเมืองปรับตัวไปมาก มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน และแพคเกจให้ดูน่าใช้มากขึ้น รวมถึงช่องทางการขายก็ส่งต่อไปไกล

เป็นน้ำเสียงมั่นใจจาก สนั่น เนตรสุวรรณ ประธานสภาหมอเมืองล้านนาจังหวัดเชียงราย ที่กำลังร่วมมือกับหลายภาคส่วนจัดตั้ง โฮงฮมผญา โฮงยาหมอเมือง หรือศูนย์เรียนรู้และศูนย์กลางดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนา ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน สืบทอดภูมิปัญญาการรักษาด้วยสมุนไพรให้คงอยู่สืบไป