การแสดงความคิดเห็นอย่างไม่แคร์อะไร

การแสดงความคิดเห็นอย่างไม่แคร์อะไร

ยุคที่คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีกันมาก อย่างน้อยก็มากจนกระทั่งผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องประมูลคลื่นความถี่ด้วยเงินจำนวนมหาศาล

เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมนี้ ได้ส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ต่อสังคมไทย และเชื่อว่าจะมีส่วนนำไปสู่การวิจัยในด้านต่าง ๆ อีกต่อไปเป็นจำนวนมากนั้น เรื่องหนึ่งที่ควรพิจารณา คือ การแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคม หรือสื่อออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ

ด้านที่ดีมีแน่ ๆ อย่างน้อยทำให้ผู้คนรับทราบข่าวสารได้อย่างฉับไวและทันท่วงที ข่าวที่ว่านี้มีทั้งข่าวราษฎร์และข่าวหลวง รวมถึงทั้งที่เป็นตัวหนังสือ และรูปภาพ จนกระทั่งมีการสื่อไปในทำนองที่ว่า แพทย์ที่อยู่ห่างไกลจะอาศัยเครื่องมือที่ว่าทำงานรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ฟังดูเบื้องต้น จะขัดกันหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ เนื่องจากถ้าอยู่ห่างไกลมาก ผู้ประกอบธุรกิจ อาจไม่มีแรงจูงใจพอที่จะไปสร้างโครงข่ายที่นั่น จะพึ่งพารัฐวิสาหกิจบางแห่ง ก็ยังไม่แน่ใจว่า ท่านลงมือทำหรือยัง

คนที่ห่างเหินกันไปมาก ๆ มีคนเล่าว่า ได้พบกันโดยอาศัยเครื่องมือต่าง ๆ ในสื่อออนไลน์นี้เป็นจำนวนไม่น้อย ทำให้ได้พบกันอีกครั้ง เรื่องนี้ นับเป็นข้อดีแน่ อีกข้อหนึ่ง แล้วทำให้ล่วงเลยไปจนถึงการสร้างเครือข่ายในรูปแบบต่าง ๆ และกว้างขวางมาก ผู้คนก็รู้สึกคึกคักดี

ข้อดีประการต่อมา ทำให้คนหลายคนกลายเป็นผู้รายงานข่าวออนไลน์ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่มือไวพอที่จะบันทึกภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวได้ด้วยความรวดเร็ว เพราะใช้เครื่องมือได้คล่อง เรื่องนี้ทำให้ราชการสืบสวนสอบสวนคดีบางเรื่องได้ดีขึ้น เนื่องจากมีพยานหลักฐานที่เด่นชัดมาก แล้วเลยทำให้การรายงานข่าว หรือการสอบสวนมักจะตบท้ายว่า จะตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดต่อไป

แล้วจะมีข้อดีอีกต่อไปมากมาย

แต่เมื่อมีด้านดี ก็น่าจะมีด้านเสียแน่นอน ทำนองเหรียญมีสองด้าน

เรื่องที่เห็นผู้คนก้มหน้าก้มตากับเครื่องโทรศัพท์ของตน นับเป็นเรื่องธรรมดาในยุคนี้แล้ว แต่เรื่องที่สำคัญคือ การแสดงความคิดเห็นของผู้คนในเรื่องต่าง ๆ ในสื่อออนไลน์ได้ผ่านการพิจารณากันบ้างหรือไม่เพียงใด

ผู้คนสมัยนี้อาศัยความเร็วของนิ้วและของโครงข่าย ส่งข่าวกันอย่างเมามัน ทำนองว่า ฉันน่าจะรู้ข่าวนี้ก่อนใคร หรือเชื่อว่าเป็นข่าววงใน จากนั้น จึงพยายามส่งต่อ โดยไม่สอบถามหรือตรวจสอบกันก่อน (แต่น่าเห็นใจเหมือนกันว่า แล้วจะตรวจสอบจากไหนและกับใคร) ต่อจากนั้น ก็จะมีการแก้ข่าว เทียบกับเมื่อก่อน มีเพียงการส่งจดหมาย ซึ่งทำให้การเขียนและการส่ง นับว่ามีความประณีตและละมุนละไมเป็นอย่างสูง ก่อนจะส่งอาจจะผ่านด่านการตรวจสอบของตนเองหลายครั้งหลายหน เสร็จแล้วจึงค่อยส่ง

หลายคนพออกพอใจกับการแจ้งข่าวของตนเอง ว่าไปทำอะไร กับใครที่ไหน แม้แต่การแจ้งภารกิจประจำวันของตนเอง รวมถึงกับข้าวมื้อนั้นมื้อนี้ มีอะไรบ้าง ยิ่งกว่าดาราเสียอีก เพราะดาราเห็นจะทำอย่างนั้น คงไม่ดีแน่ เพราะตัวเองจะไม่มีเวลาเป็นของตนเองเลย เรื่องนี้ ก็ต้องปล่อยให้ถือเป็นวิถีชีวิตของคน ๆ นั้น คือเขาพอใจจะประกาศตัวเองอย่างนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ควรเข้าใจว่า เวลาถ่ายรูปกับคนอื่นนั้น ไม่ใช่ว่า ทุกคนอยากจะอยู่ในรูปนะครับ นอกจากจะไม่อยากอยู่ในรูปแล้ว อาจมีกรณีที่เวลาถ่ายรูปออกมาก็จริง เขาอาจจะไม่อยากให้เปิดเผย คือต้องการรักษาความเป็นส่วนตัวให้อยู่ในหมู่คณะกก็ได้เหมือนกัน

เรื่องที่สำคัญกว่า คือ การแสดงความคิดเห็นอย่างเมามัน บางครั้งน่าจะพิจารณาได้ว่า เป็นการขาดสติทีเดียว ทั้ง ๆ ที่ตัวเองมิได้อยู่ในเหตุการณ์เลย คนไทยส่วนใหญ่ถือพุทธศาสนา ซึ่งสอนให้มีสติ (ซึ่งที่จริงทุกชาติ ศาสนา ต่างสอนให้มีสติทั้งนั้น) ในเมื่อท่านมิได้อยู่ในเหตุการณ์ ท่านพึงรอฟังเหตุการณ์และข้อเท็จจริง ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์อะไร

การแสดงความคิดเห็นในทำนองนี้ จึงน่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า การแสดงความคิดเห็นอย่างไม่แคร์อะไร อันรวมไปถึงการใช้วาจาสามหาว หยาบคาย ด่าคนอย่างเสีย ๆ หาย ๆ เพราะถึงที่สุดแล้ว คนในข่าวอาจมีเหตุผลบางอย่างที่ได้กระทำเรื่องนั้น ๆ ก็ได้ ผลกระทบที่ว่า จึงทำให้ต้องถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่อาจได้รับโทษทางอาญา ทั้ง ๆ ที่ควรเป็นสามัญสำนึกที่ดีของผู้คน ที่ไม่ควรจะทำอย่างนั้นอยู่แล้ว

หลายคนปรากฏในภายหลังต้องประสบกับผลกรรมของตนเอง ทั้ง ๆ ที่ถ้าในเวลานั้น มีสติยับยั้งแล้วใช้สามัญสำนึกธรรมดา ตนก็จะไม่กระทำสิ่งนั้น

มาช่วยกันรณรงค์เพื่อความมีสติ และสามัญสำนึกที่ดีในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์และเป็นการสร้างสรรค์ดีกว่า โดยเฉพาะกับคนชาวพุทธ อย่าเพียงนับถือแต่ปากเลย

-----------

นักเขียน : องอาจ ทองพิทักษ์สกุล