‘แก่’ไม่สำคัญเท่า’เก๋า’….นันยางปรับทัพรับสังคมสูงวัย

‘แก่’ไม่สำคัญเท่า’เก๋า’….นันยางปรับทัพรับสังคมสูงวัย

เห็นชื่อหัวข้อแบบนี้ต้องบอกก่อนว่า “นันยาง” ไม่ได้จะหันไปรุกตลาดรองเท้าของผู้สูงวัยหรอกครับ

แต่เป็นการปรับตัวให้เติบโตสอดคล้องกับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยที่จำนวนเด็กในวัยเรียนลดลง ขณะที่ต้องดันยอดขายให้เพิ่มขึ้นสวนทางกับโครงสร้างประชากร ว่าแต่ตำนาน 6 ทษวรรษของ "นันยางเค้าทำกันอย่างไร?

จักรพล จันวิมล ผู้อำนวยการ ฝ่ายการขายและการตลาดของนันยาง ได้คุยกับทางรายการ Business 101 ช่วง Biz Connect ถึงข่าวที่ฮือฮาทั้งวงการว่านันยางใช้งบประมาณในการทำการตลาดปี 2560 นี้ ถึง 70 ล้านบาท!  จักรพล บอกว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ(Aging Society)แล้ว สัดส่วนของผู้สูงวัยจะมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ผู้คนจะครองตัวเป็นโสดมากขึ้น คู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตรก็เพิ่มจำนวนขึ้นเพราะกังวลเรื่องของความสามารถในการเลี้ยงดู ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปและมีผลต่อควรามคิดเรื่องการมีลูก ทำให้เด็กทารกเกิดใหม่ลดลงและเด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษา หรือ”วัยเรียน” หดลงตามไปด้วย

 พูดง่ายๆ คือจำนวนลูกค้าของนันยางและแบรนด์รองเท้านักเรียนอื่นๆ จะเปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันเด็กนักเรียนในประเทศไทยมีประมาณ 10 ล้านคน อาจฟังดูเยอะ แต่แนวโน้มไม่เพิ่มขึ้น และสินค้ารองเท้านักเรียนเหมือนกับสินค้าประเภทอื่นที่จับจ่ายซื้อหากันเป็นช่วงเวลาหรือฤดูกาล (Seasonality) เดือน พ.ค.ของทุกปี ในช่วงก่อนเปิดเทอมจะเป็นช่วงที่ยอดขายสูงที่สุด นันยางใช้ช่วงเวลานี้อัดกิจกรรมทางการตลาด กระตุ้นยอดขายได้ปีละหลายล้านคู่ และยังครองส่วนส่วนทางการตลาดนี้เป็นอันดับที่ 1 เสมอมา 

จักรพล เห็นว่าเมื่อเด็กนักเรียนจบการศึกษาชั้นมัธยมปลายไปแล้วก็แทบจะไม่มีโอกาสในการขายอีก การสื่อสารการตลาดจึงต้องขยับลงมาในตลาดเด็กเล็กเพื่อให้พวกเขาได้สัมผัสกับแบรนด์ (Brand Touch) มีประสบการณ์ในการใช้สินค้าของนันยาง ถ้าคุ้นเคยกับแบรนด์แล้วโอกาสที่จะซื้อคู่ถัดไปเป็นแบรนด์เดิมก็มีมากกว่าคนที่ไม่เคยลองสวมใส่เลย จึงออกรองเท้านักเรียนกลุ่มใหม่สำหรับเด็กประถมที่มีขนาดเท้าเล็ก 

นี่คือกลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development Strategy) โดยเพิ่มความลึกของผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น ครอบคลุมกลุ่มลูกค้ามากกว่าเดิม นอกจากนี้ นันยางยังคิดลูกเล่นใหม่สำหรับตลาดรองเท้าแตะแบรนด์ ”ช้างดาว” ซึ่งน้อยคนอาจจะรู้ว่านี่เป็นสินค้าของนันยาง ซึ่งต้องทำการบ้านเรื่องการรับรู้(Awareness)ให้มากขึ้น โดยยังเน้นคุณสมบัติของสินค้า คือ ทำจากยางพาราธรรมชาติ 100% ที่ให้ความคงทนมากว่า แม้จะไม่ใช่สินค้าแฟชั่น นันยางก็เพิ่งทำรุ่น “ช้างดาว เบสิค”  สีขาว-ดำ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนของขาดตลาด และพยายามทำให้แบรนด์ดูเด็กลง รับกับตลาดของกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้นด้วย การพัฒนาและออกสินค้าแต่ละตัวนันยางมองระยะยาว ใช้เวลาพอสมควรกว่าที่จะมีสินค้าใหม่ แต่เมื่อออกสู่ตลาด จะขายไปนานๆ หลายปีให้คุ้มค่า

นอกจากประโยชน์ด้านการใช้งานและคุณสมบัติ นันยางให้ความสำคัญกับเรื่องการวิจัยตลาดพอสมควร นำมาปรับใช้ในการวิเคราะห์และจัดทำแผนการตลาดต่อเนื่อง การสื่อสารทางการตลาดยังต้องใช้ช่องทางของสื่อหลัก อย่างโทรทัศน์และสื่อหลักอื่นยังจำเป็นเนื่องจากเป็นสินค้าที่เน้นขายปริมาณจำนวนมาก ขณะที่สอดแทรกความรู้สึกเข้าไปด้วย เช่นรุ่น Have Fun ที่เน้นขายความสนุก ด้วยพื้นรองเท้าที่นุ่มขึ้น ทำให้เด็กนักเรียนใช้เวลาวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ได้นานขึ้น 

จักรพล เน้นย้ำว่าคุณภาพของสินค้าคือหัวใจที่สำคัญที่สุดที่ต้องรักษาไว้ให้ได้และส่งมอบให้ลูกค้า...นี่สิ มืออาชีพที่ยืนหยัดมาได้กว่าครึ่งศตวรรษ