ส่องผลตอบแทนหลังปรับดอกเบี้ย

ส่องผลตอบแทนหลังปรับดอกเบี้ย

ปี 2017 ถือว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมถึงค่าเงิน บทความนี้ จึงขอพลิกปูมของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่างๆ

สำหรับการเปลี่ยนแปลงโหมดอัตราดอกเบี้ยทั้งขาขึ้นและขาลง

โดยหากดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงของสินทรัพย์หลักๆสูงขึ้นหรือลดลงมากน้อยเพียงใด รวมถึงดอกเบี้ยลง จะส่งผลเป็นเช่นไร

เรื่องนี้ ทางเครดิต สวิส ได้ทำการศึกษา 2 ช่วงเวลา ได้แก่ 1. ช่วงที่ธนาคารกลางทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบต่อเนื่อง และ 2. ช่วงที่ธนาคารกลางทำการลดอัตราดอกเบี้ยแบบต่อเนื่อง

การลงทุนหลังอัตราดอกเบี้ยขึ้นหมายถึงซื้อสินทรัพย์หลังจากแบงก์ชาติประกาศขึ้นดอกเบี้ย (อาทิ เฟดขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. 2015) ทำการลงทุนตราบเท่าที่อัตราดอกเบี้ยยังขึ้นหรืออย่างน้อยก็คงที่ และทำการขายสินทรัพย์เมื่อแบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ส่วนการลงทุนหลังจากอัตราดอกเบี้ยลดลงหมายถึงการซื้อสินทรัพย์เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง แล้วถือสินทรัพย์ดังกล่าวจนกระทั่งอัตราดอกเบี้ยขึ้นในครั้งถัดไป

จากการศึกษาข้อมูลสหรัฐ ระหว่างปี 1913 ถึงปี 2015 ตลาดสหรัฐอยู่ภายใต้โหมดอัตราดอกเบี้ยขึ้น 44% ของช่วงเวลาทั้งหมด ส่วนอยู่ภายใต้โหมดอัตราดอกเบี้ยลง 56% ของช่วงเวลาทั้งหมด ส่วนข้อมูลอังกฤษ ระหว่างปี 1930 ถึงปี 2015 อยู่ภายใต้โหมดอัตราดอกเบี้ยขึ้น 30% ของช่วงเวลาทั้งหมด ส่วนอยู่ภายใต้โหมดอัตราดอกเบี้ยลง 70%

จากรูป ด้านซ้ายมือ เป็นข้อมูลของสหรัฐ จะพบว่ามีความแตกต่างของผลตอบแทนระหว่างช่วงอัตราดอกเบี้ยขึ้นและอัตราดอกเบี้ยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หุ้นและตราสารหนี้ โดยที่ตราสารทุนให้ผลตอบแทนที่แท้จริงแบบรายปีในช่วงเวลาดังกล่าวที่ 6.2% ทว่าในช่วงอัตราดอกเบี้ยขึ้น ให้ผลตอบแทนเพียง 2.3% เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยลดลงที่ 9.3% สำหรับตราสารหนี้ของสหรัฐ ให้ผลตอบแทนที่แท้จริงที่ 2.2% ในช่วงเวลาทั้งหมด โดยที่ในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ให้ผลตอบแทนที่แท้จริงที่ 0.3% เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยลดลงที่ 3.6% ส่วนตราสารหนี้ระยะสั้น ให้ผลตอบแทนที่ไม่แตกต่างกันมากนักในทั้ง 2 ช่วงเวลา

สำหรับ อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ ถือว่าเป็นไปตามคาด ที่ช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น มีอัตราเงินเฟ้อที่ 4.3% ส่วนในช่วงผ่อนคลายนโยบายการเงินที่ 2.2% โดยทั่วไป ช่วงที่ขึ้นดอกเบี้ย มักจะมาจากความกลัวว่าจะเกิดอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งโดยทั่วไป แบงก์ชาติมักจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งและมักจะต้องใช้เวลากว่าผลของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีต่อระดับอัตราเงินเฟ้อ จึงไม่น่าแปลกใจที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะสูงขึ้นในช่วงนโยบายการเงินตึงตัว

ท้ายสุด ด้านค่าเงินดอลลาร์ ค่อนข้างที่จะค้านกับความรู้สึกที่ว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูง ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่า ส่วนช่วงอัตราดอกเบี้ยลดลง ค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่า เนื่องจากในความเป็นจริง ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าปีละ 1.7% ในช่วงนโยบายการเงินตึงตัวหรือขึ้นดอกเบี้ย ส่วนในช่วงที่นโยบายการเงินผ่อนคลาย ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าปีละ 0.6% อาจจะเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นหรือเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแรงขึ้นในช่วงอัตราดอกเบี้ยลดลง ทว่าสิ่งนี้ กำลังเกิดขึ้นกับดอลลาร์สหรัฐในขณะนี้แบบตรงเผง

เช่นเดียวกับสหรัฐ อังกฤษก็มีรูปแบบของอัตราผลตอบแทนของตราสารทางการเงินต่างๆ ใกล้เคียงกับของสหรัฐ อาทิ ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น หุ้นอังกฤษให้ผลตอบแทนเพียง 1.7% ส่วนในช่วงดอกเบี้ยขาลง หุ้นอังกฤษใ้ห้ผลตอบแทน 8.2% ส่วนตราสารหนี้อังกฤษ ทั้ง 2 ช่วงเวลา ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ดี ค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นโดยเฉลี่ย 1% ต่อปี ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น และ อ่อนตัวโดยเฉลี่ย 2.3% ต่อปี ในช่วงดอกเบี้ยขาลง

อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่างานศึกษาดังกล่าว ไม่ได้คำนึงถึงการถอน QE หรือ การลดขนาดสินทรัพย์ของงบดุลธนาคารกลาง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยมิได้มีค่าติดลบ เนื่องจากในอดีตไม่เคยเกิดขึ้นกับประเทศหลัก ดังนั้นทิศทางและขนาดผลตอบแทนสินทรัพย์ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ ก็อาจต้องคิดลึกกว่าผลของการศึกษาดังกล่าวครับ