ข้อสังเกตร่าง พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และการได้มาซึ่ง สว.

ข้อสังเกตร่าง พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และการได้มาซึ่ง สว.

มาถึงตอนนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธ. กำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พรป. หลายฉบับ

และแต่ละฉบับที่เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ล้วนแต่มีคำถามมากมาย ไม่ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

เท่าที่ติดตามดู รู้สึก กรธ. กำลังทำเรื่องที่ไม่ควรซับซ้อนให้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนออกจะงงๆ อยู่หลายเรื่อง

พรป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ทำเหมือนแข่งกีฬาที่แบ่งเป็นสาย จาก 20 กลุ่มอาชีพ แล้วเอามาไขว้กัน หลังเลือกกันเองและส่งมาให้ส่วนกลางเลือก จนในที่สุดเหลือแค่ 50 คนจากทั่วประเทศ

แต่ที่นอนมาคือพวกที่มาจากการแต่งตั้งจำนวน 200 คน จึงไม่ทราบว่า 50 คนที่เลือกกันไปเลือกกันมาจากทั่วประเทศจะทำอะไรได้

แบบเลือกกันเองนี้ ดูจะยังไม่เข็ด ก็เพราะการเลือกกันเองนี้แหล่ะ ในที่สุดก็จะเป็นเรื่องลงสมัครเพื่อเทคะแนนเลือกคนที่จ้างให้สมัครอย่างที่เกิดกับการเลือก สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่ผ่านมาในอดีต

ส่วนเรื่อง สส.แบบบัญชีรายชื่อ ก็จะให้แต่ละคนมีแต่ละเบอร์ ทั้งๆที่ผ่านการคัดเลือกแบบเลือกขั้นต้น (Primary Vote) มาแล้ว อ่านข่าวแล้วก็ออกจะงงเด้ ๆๆๆๆ

ที่จริงระบบเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นการเลือกตั้งทั่วประเทศพร้อมกันนั้นควรจะเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เพราะถ้านักเลือกตั้งห่วย ไม่ว่าจะซับซ้อนแค่ไหน ในที่สุดก็หนีไม่พ้นที่จะได้คนห่วยๆ

ถ้าประชาชนสับสนไม่เข้าใจวิธีเลือก ในที่สุดก็จะกาแบบไม่มั่นใจ บัตรเสียก็อาจเยอะกว่าที่ควร หรือไม่อย่างนั้นก็กาตามที่หัวคะแนนบอกมาอย่างเดียว เพราะคิดเองก็คงยาก เรื่องซื้อสิทธิขายเสียงก็คงเป็นล่ำเป็นสันเหมือนเคย

ในต่างประเทศ ที่เขากำหนดให้มีการเลือกตั้งหลากหลายรูปแบบนั้น เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นธรรมในเขตพื้นที่เลือกตั้ง เช่นเป็นพื้นที่ที่คนกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าปล่อยให้เลือกแบบเสียงส่วนใหญ่อย่างเดียว พวกนี้ก็จะชนะทุกที พวกเสียงส่วนน้อยก็จะไม่มีปากมีเสียง และคณะกรรมการเลือกตั้งจะทำหน้าที่ศึกษาและออกแบบว่าจะเลือกแบบไหนในท้องถิ่นนั้นๆเท่านั้น เกือบจะไม่เห็นที่ไหนเขาใช้วิธีที่สลับซับซ้อนกันในระดับประเทศ

ไม่ได้บอกว่า เราต้องเอาตามประเทศอื่น แต่เราก็ไม่มีประสบการณ์ ซ้ำร้าย ประชาชนก็ตามไม่ทัน การหาเสียงเลือกตั้งก็คงยุ่งยาก และการนับคะแนนเสียงก็อาจจะถูกคัดค้านได้ง่ายๆ

อยากฝากบอก กรธ. ให้คิดด้วยว่า ประชาชนนั้นไม่สามารถแยกแยะในสิ่งที่ซับซ้อนหลายชั้นได้ทุกคน แม้กระทั่งคนมีการศึกษาก็ไม่แน่ว่าจะเข้าใจได้ถูกต้อง

เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าตั้งใจเลือกคนหนึ่ง กลับเป็นว่าไปเลือกอีกคนหนึ่งเอาง่ายๆ