เศรษฐกิจไทย : บนทางสามแพร่ง

เศรษฐกิจไทย : บนทางสามแพร่ง

ในวันนี้ เหตุการณ์หนึ่งที่จะตลาดการเงินจะจับตามองใกล้ชิดได้แก่การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เพื่อกำหนดทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย โดยแม้ว่า ธปท. จะส่งสัญญาณที่จะยังคงตรึงดอกเบี้ยที่ 1.5% อย่างต่อเนื่อง แต่ตลาดการเงินก็คาดการณ์ว่าเป็นไปได้ที่ ธปท. อาจปรับลดดอกเบี้ยลง โดยวัดจากดอกเบี้ยที่ใช้อ้างอิงในตลาดการเงินที่คาดว่าจะลดอย่างน้อย 0.25%

เหตุที่ตลาดการเงินคาดเช่นนั้นเป็นผลจากความไม่สมดุล 3 ประการ คือ 

  1.  แม้ว่า ธปท. จะไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย (ซึ่งได้แก่ดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 1 วัน) แต่ก็ได้ปล่อยให้ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นอื่น ๆ ที่มีอายุตั้งแต่ 1 เดือนถึง 1 ปี ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายแล้ว
  2.  ภาพเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่สวนทาง โดยแม้ว่าภาคต่างประเทศ เช่น การส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี จนทำให้บัญชีเดินสะพัดเกินดุลมหาศาล และทำให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง แต่ภาคเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้น โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน การผลิตภาคอุตสาหกรรม สะท้อนถึงการจับจ่ายที่ลดลง เห็นได้จากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำเกือบ 0%
  3.  ภาพความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้น เห็นได้จากหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นนั้นเป็นหนี้ของคนรากหญ้า รวมถึงหนี้ของเด็กจบใหม่และเพิ่งเริ่มทำงานที่มีรายได้น้อยเป็นหลัก ขณะที่ผู้มีฐานะดีและบริษัทขนาดใหญ่มีเงินเหลือและหันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

แม้ว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ผู้เขียนเชื่อว่าการลดดอกเบี้ยจะทำให้ความไม่สมดุลทั้งสามนั้น อาจสามารถบรรเทาลงได้ โดย (1) ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายสะท้อนภาพดอกเบี้ยในตลาดการเงินมากขึ้น 

(2) การลดดอกเบี้ยที่มาพร้อมคำสัญญาว่า ธปท. จะดูแลค่าเงินบาทใกล้ชิด อาจช่วยชะลอหรือหยุดการแข็งของเงินบาท (หรืออาจทำให้เริ่มอ่อนค่าลง) และทำให้เอกชนหันกลับมาลงทุนและใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และ (3) ช่วยลดภาระทางการเงินของผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นการยากที่จะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ในช่วงนี้ เนื่องจาก ธปท. กังวลในภาวะหนี้โดยรวมที่อยู่ในระดับสูง และหากลดดอกเบี้ยก็จะยิ่งทำให้การกู้ยืมสูงขึ้น

ทั้งนี้ ผู้เขียนมองว่า ในปัจจุบันนี้ เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่บนทางแยกที่สำคัญ โดยเส้นทางที่เศรษฐกิจไทยกำลังดำเนินอยู่นั้น เป็นเส้นทางที่ดูเหมือนจะปลอดภัยในปัจจุบัน แต่ไกลและอ้อมกว่า รวมถึงอาจเสี่ยงกว่าในระยะยาว  เนื่องจาก (1) ภาคเอกชนไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงหากเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านที่การลงทุนและการผลิตขยายตัวดีกว่า (2) ภาครัฐไทยเน้นการดูแลเสถียรภาพมากกว่าประสิทธิภาพเศรษฐกิจและ (3) ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นเริ่มมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้ของคนระดับล่างที่ขยายตัวต่ำกว่าคนในระดับบน

และหากเศรษฐกิจไทยยังดำเนินอยู่ในเส้นทางในรูปแบบปัจจุบันนี้ ภาพของเศรษฐกิจไทยในอนาคตอาจมีลักษณะ 5 ประการ คือ

  1. เงินบาทอาจจะยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลง และกระทบการส่งออกและท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจที่สำคัญในปัจจุบัน
  2. เงินเฟ้ออาจจะยังคงต่ำต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนเกิดภาวะ “จมอยู่กับเงินฝืด” (Deflationary Mindset) ไม่อยากจับจ่าย และทำให้เศรษฐกิจในประเทศซึมเซามากขึ้น
  3. การลงทุนภาครัฐอาจจะยังอยู่ในระดับต่ำ และไม่กระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนตาม
  4.  กฎระเบียบที่ไม่ชัดเจน และไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาของนวัตกรรมและธุรกิจในรูปแบบใหม่ จะทำให้ธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ลำบาก และทำให้เอกชน (โดยเฉพาะขนาดใหญ่) หันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น และ
  5. ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมีมากขึ้น และอาจนำไปสู่วิกฤติทางการเมืองในอนาคต

แต่หากทางการรวมถึงภาคเอกชนไทย ยอมเลือกเส้นทางที่ดูเหมือนเสี่ยงกว่าในปัจจุบัน โดยพร้อมลดดอกเบี้ย และสนับสนุนให้เอกชนโดยเฉพาะรายกลางและเล็กเข้าถึงแหล่งเงินทุนแบบถูกกฎหมายง่ายขึ้น รวมถึงภาครัฐเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ เร่งนโยบายโครงสร้างพื้นฐาน และผ่อนคลายกฎระเบียบในการจัดตั้งธุรกิจใหม่ ๆ ได้ง่ายขึ้น ภาพของเศรษฐกิจไทยในอนาคตอาจมีลักษณะ 5 ประการ เช่นกัน คือ

  1. เงินบาทอาจเริ่มอ่อนค่าลง ทำให้เอกชนรีบเร่งนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักร (เนื่องจากกลัวว่าหากเงินบาทอ่อนจะทำให้ต้นทุนยิ่งแพงขึ้น) ซึ่งอาจทำให้การลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมา
  2. เงินเฟ้ออาจจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น การจับจ่ายเริ่มมีมากขึ้น เศรษฐกิจออกจาก Deflationary Mindset เกิดการบริโภคและจ้างงานเพิ่มขึ้น
  3. การเร่งโครงการลงทุนภาครัฐ จะทำให้เอกชนเริ่มมั่นใจและลงทุนตาม เกิดภาวะ Crowding-in Effect
  4. การลดกฎระเบียบ จะทำให้ธุรกิจใหม่ ๆ ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีแบบใหม่ (หรือ Start-up) เกิดได้ง่ายขึ้น และเป็นการสนับสนุนให้การลงทุนมีมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าธุรกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มีความเสี่ยงที่ล้มเหลวสูง แต่หากสำเร็จก็อาจกลายเป็นธุรกิจ “แชมเปี้ยน” ของไทยได้ และ
  5. การสนับสนุนการบริโภคในระดับภูมิภาค รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน จะทำให้โอกาสในภูมิภาคมีมากขึ้น การขยายตัวของเขตเมืองในภูมิภาคต่างจังหวัด (เช่น หัวเมืองรองต่าง ๆ) มีมากขึ้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง

ทั้งหมดนี้ ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย แต่จุดเริ่มต้นที่ดี เริ่มได้จากวันนี้ วันที่การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนทิศทางเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทย กำลังอยู่บนทางแพร่ง แต่จะมุ่งหน้าไปในทางใดนั้น ผู้กำหนดนโยบาย นักธุรกิจ และภาคเอกชนทุกท่าน พวงมาลัยอยู่ในมือท่านแล้ว 

........................

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่