อาหารกุ้งบนความรับผิดชอบต่อสังคม

อาหารกุ้งบนความรับผิดชอบต่อสังคม

สรณัฏฐ์ ศิริสวย ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ที่ผ่านมาทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐ ต่างก็กดดันประเทศไทยในการจัดการปัญหาเรือประมงบ้าง ปัญหาสิ่งแวดล้อมบ้าง โดยนำมาตรการ IUU และ Tier เข้ามาบีบบังคับ ซึ่งบ้านเราก็ตั้งใจทำตัวเป็นเด็กดี มีการออกกฎหลายอย่างเพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากการถูกกล่าวหาว่าไม่ดูแลสิ่งแวดล้อม รอดพ้นจากข้อหาแรงงานและสิทธิมนุษยชน แม้จะรู้กันอยู่ลึกๆว่าสิ่งที่ 2 ฟากประเทศผู้ยิ่งใหญ่แท็คทีมกันทำกับไทยอยู่นั้น ล้วนเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ และการบีบบังคับทางอ้อมในเชิงเศรษฐกิจของมหาอำนาจ

ถ้ายังจำกันได้ กุ้งไทย เคยโดนกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับแรงงานในเรือประมงผิดกฎหมายทั้งๆที่ กุ้งของไทยเรา เป็นกุ้งเลี้ยงมิใช่กุ้งที่ต้องออกเรือประมงไปจับ ... สุดท้ายก็ถึงบางอ้อ เมื่อฝรั่งต่างชาติพยายามโยงว่าก็เพราะกุ้งเลี้ยงกินอาหารที่มีปลาป่นที่ได้จากการจับปลาอย่างไม่รับผิดชอบผสมอยู่

เกิดเป็นความกดดันให้ผู้ผลิตอาหารกุ้งต้องลดปริมาณการใช้ปลาป่นลง ซึ่งแน่นอนว่า ฝ่ายวิจัยพัฒนาสูตรอาหารกุ้งของบริษัทต่างๆ จะต้องคิดค้นนวัตกรรมการใช้โปรตีนชนิดอื่นทดแทนปลาป่น ให้กลายเป็นอาหารกุ้งบนความรับผิดชอบต่อสังคม ที่กระแสโลกต้องการ

ปกติแหล่งโปรตีนสำหรับอาหารกุ้งควรใช้โปรตีนจากสัตว์ ซึ่งในที่นี้ ปลาป่น จะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากสามารถผลิตได้เองในประเทศจากการใช้เศษเหลือจากการแปรรูปสัตว์น้ำและผลพลอยได้จากการจับปลา แต่เมื่อแนวโน้มดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้น การใช้โปรตีนจากแหล่งอื่นโดยเฉพาะจากพืชจึงถูกนำมาทดลองใช้ทดแทนปลาป่น โดยต้องมั่นใจได้ว่า แหล่งโปรตีนที่สามารถทดแทนปลาป่นนี้ ต้องให้ผลไม่แตกต่างจากโปรตีนจากสัตว์ ทั้งในแง่คุณภาพ คุณค่าทางโภชนาการ ความเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ และที่สำคัญต้องสามารถดำเนินการได้จริงในเชิงธุรกิจกล่าวคือควรต้องมีราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่าย และหากเป็นผลผลิตที่หาได้ในประเทศด้วย จะยิ่งดีต่อห่วงโซ่การผลิตของไทยในหลายส่วนทีเดียว

โปรตีนพืชที่ถูกเลือกมาใช้ก็มีหลายชนิด อาทิ กากถั่วเหลือง กากถั่วเหลืองหมักหรือ สาหร่ายสไปรูไรน่า การใช้โปรตีนพืชนี้มีข้อจำกัดอยู่บ้าง จำเป็นต้องเติมเอ็นไซม์ช่วยย่อย หรือกรดอะมิโนที่จำเป็นบางชนิดเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อเพิ่มเพิ่มปริมาณสารอาหารและโภชนาการ ให้เท่าเทียมกับโปรตีนจากสัตว์ แต่เอ็นไซม์หรือกรดอะมิโนเหล่านี้ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าจากสหภาพยุโรปหรือสหรัฐ รวมถึงวัตถุดิบโปรตีนพืชอย่างกากถั่วเหลืองและสาหร่ายสไปรูไรน่า ซึ่งตรงนี้ก็น่าคิด ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเล่นงานประเทศไทย เพื่อบังคับไทยทางอ้อมให้จำเป็นต้องซื้อสินค้าที่ต่างประเทศผลิตขายอยู่หรือไม่

อันที่จริง ถ้าประเทศไทยมีผู้ผลิตอาหารกุ้งที่พร้อมจะเป็นตลาดรองรับพืชผลของเกษตรกรไทยอยู่แล้ว รัฐบาลน่าจะใช้โอกาสนี้ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตวัตถุดิบอาหารเพื่อใช้ทดแทนปลาป่น “สาหร่ายสไปรูไรน่า” มีระดับโปรตีนค่อนข้างสูง ปัจจุบันมีการเลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหารเสริมให้คนรับประทาน จึงน่าจะนำมาขยายผลผลิตในปริมาณมากๆและมีราคาต่ำลง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารกุ้งทดแทนปลาป่น ก็จะเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทยด้วยกัน ไม่ต้องง้อสั่งซื้อสาหร่ายจากต่างประเทศ ให้เข้าล็อกการบีบบังคับของเขาได้ ก็คงจะดีไม่น้อย

ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าการลดใช้ปลาป่นเหลือ 5% จากปกติ 10% สามารถทำได้จริง เพียงนักโภชนาการอาหารสัตว์ ต้องกำหนดสูตรให้โปรตีนในอาหารกุ้งอยู่ในระดับเท่าเดิม โดยพิจารณาถึงเปอร์เซ็นต์การย่อยได้ หรือ เปอร์เซ็นต์โปรตีนที่นำไปใช้ประโยชน์ หากบริษัทไหนทำได้น่าจะเป็นประโยชน์ในทำธุรกิจกับต่างประเทศ เนื่องจากเป็นกุ้งที่เลี้ยงจากอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่เกี่ยวข้องกับแรงงานประมงใดๆ และสอดคล้องกับความต้องการของโลก

ในแง่ของผู้เลี้ยงกุ้งเองก็ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกเช่นกัน จากที่คุ้นเคยกับอาหารกุ้งแบบเดิม อาจต้องค่อยๆเริ่มปรับวิธีการให้อาหาร เช่น คงใช้อาหารกุ้งสูตรเดิมกับกุ้งเล็กๆในช่วงแรก เมื่อกุ้งโตแล้วจึงค่อยเลี้ยงด้วยอาหารรุ่นใหม่ที่ใช้โปรตีนพืชทดแทน ซึ่งปกติอาหารสัตว์จะมีการจัดปริมาณสารอาหารให้เหมาะกับสัตว์แต่ละช่วงวัยอยู่แล้ว จึงไม่น่าส่งผลกระทบใดๆ

ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติมากมายซึ่งควรต้องนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ มีผืนดินผืนน้ำที่สามารถสร้างทรัพย์บนดิน ทรัพย์สินในน้ำได้ ไม่เช่นนั้นอาจเสียโอกาสโดยใช่เหตุ และ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมเหตุสมผลนี่เองจะสร้างคุณูปการแก่ประเทศของเราได้ แม้ไทยจะเป็นประเทศเล็กๆที่ต้องอิงกระแสโลก แต่ถ้าสามารถร่วมมือวิจัย พัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรม และประยุกต์ใช้ทรัพยากรต่างๆได้ด้วยตัวเราเอง เราอาจไม่ต้องถูกบีบบังคับจากมหาอำนาจไปเสียทุกทางเช่นที่เป็นอยู่ครับ