‘นโยบายการเงิน’…เดินทางไหน?

‘นโยบายการเงิน’…เดินทางไหน?

วันพรุ่งนี้(16ส.ค.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีนัดประชุมร่วมกัน

เพื่อพิจารณา “ปรับ” ดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทย

การประชุมครั้งนี้คงไม่ต่างไปจากการประชุมในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ..แม้เวลานี้จะเริ่มมีเสียง “เรียกร้อง” จากภาคธุรกิจให้ กนง. “ลด” ดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25-0.5% เพื่อช่วยผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก

อีกทั้งยังมีแรงกดดันจาก “ค่าเงินบาท” ที่แข็งค่าต่อเนื่อง จนไต่ระดับขึ้นเป็นสกุลเงินที่ “แข็งค่าสุด” ในภูมิภาคเอเชีย ที่สำคัญ “เงินเฟ้อ” ซึ่งเป็น “เป้าหมาย” ของการทำนโยบายการเงิน มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย(1-4%) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

..ทั้งหมดนี้ทำให้ ภาคธุรกิจ มองว่า กนง. มีเหตุผลเพียงพอที่จะปรับดอกเบี้ยลง!

แต่จากการสำรวจความเห็นของ “นักเศรษฐศาสตร์” ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของ กนง. มาโดยตลอด ยังไม่มีคนใดมองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ ..ทุกคน “ฟันธง” เป็นเสียงเดียวกันว่า กนง. จะ “คงดอกเบี้ย” ในระดับ 1.5% ต่อเนื่อง และ เผลอๆ อาจ “คง” ยาวไปถึงปีหน้า

เพียงแต่เวลานี้เริ่มมีคำถามถึง การดำเนินนโยบายการเงินบ้างแล้วว่า จะเดินต่อทางไหน เพราะ “เงินเฟ้อ” ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการทำนโยบาย หลุดเป้ามาแล้ว 2 ปีซ้อน และปีนี้มีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายอีกเป็นปีที่ 3

เงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในช่วงที่ผ่านมา กนง. ให้เหตุผลว่า เกิดจากฝั่งของอุปทาน โดยเฉพาะราคาพลังงานที่ลดลง ไม่ได้เกิดจากฝั่งอุปสงค์ หรือ ความต้องการซื้อของประชาชนที่หายไป การลดดอกเบี้ย ประสิทธิผลที่ได้จึงน้อย เพราะดอกเบี้ยไม่สามารถเอื้อมไปคุมฝั่งอุปทานได้

แต่คำถามเริ่มถูกโยนกลับไปที่ กนง. และเป็นคำถามที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า ..ถ้าเป็นเช่นนั้น นโยบายการเงินโดยใช้ “กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ” ยังเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันหรือไม่

ที่สำคัญ ดอกเบี้ยนโยบาย ถือเป็น “ดอกเบี้ยอ้างอิง” เป็นเครื่องมือหลักในการส่งสัญญาณเชิงนโยบาย ผลของการปรับดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผ่านไปยัง ดอกเบี้ยในตลาดเงิน ตลาดบอนด์ และดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน

..แต่ดูเหมือนว่า เวลานี้ดอกเบี้ยในตลาดต่างๆ ที่กล่าวมา เริ่มจะไม่ยึดโยงกับดอกเบี้ยนโยบายมากนัก โดยเฉพาะดอกเบี้ยในตลาดบอนด์ ซึ่งปกติ “พันธบัตร” รุ่นอายุ 1 เดือน บอนด์ยิลด์ จะเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบาย ในภาวะปกติหากจะแตกต่างกันบ้าง ก็ไม่เกิน 0.1-0.15%

น่าแปลกใจว่าปัจจุบัน บอนด์ยิลด์ ของพันธบัตรรุ่นอายุ 1 เดือน เคลื่อนไหวอยู่ราวๆ 1.1% ต่ำกว่า ดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% หรือมีส่วนต่างที่สูงราว 0.4% ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ ธปท. ลดปริมาณการออกประมูลพันธบัตรระยะสั้นลง คำตอบจึงออกมาอย่างที่เห็น

หรือฝั่งของดอกเบี้ยสถาบันการเงิน ที่ก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งปรับลดดอกเบี้ย MLR และ MRR ลง โดยที่ ดอกเบี้ยนโยบาย ยังยืนอยู่ที่เดิม จึงไม่แปลกที่จะเริ่มมีคำถามถึง การทำนโยบายการเงินของ กนง.

เชื่อว่าการประชุมวันพรุ่งนี้ ประเด็นหลักที่ หลายคนเฝ้าจับตา คงไม่ได้อยู่ที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชนหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่า กนง. จะ “สื่อสาร” กับสาธารณชนอย่างไร ถึงประเด็นเงินเฟ้อและเครื่องมือเชิงนโยบาย