BikeTech (จบ): จักรยานกับสังคมเมืองไทย

BikeTech (จบ): จักรยานกับสังคมเมืองไทย

เมื่อไม่นานมีโอกาสไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการกับสถาบันการเดินและการจักรยานไทยได้พบภาคีเครือข่ายจักรยานจากทั่วประเทศมาร่วมประชุมจำนวนไม่น้อย

แต่ละคนพูดถึงเรื่องการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน การส่งเสริมและการแก้ไขปัญหาที่เกิดกับผู้ใช้จักรยานบ้าน เพื่อให้คนหันมาใช้ชีวิตที่เรียบง่าย สะดวก ทั้งก่อให้เกิดสุขภาพดี เพราะเป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วย 

ทั้งเคยฟังแพทย์ที่มาบรรยายเกี่ยวกับเรื่องการปั่นจักรยานบอกว่ายิ่งปั่นจักรยานยิ่งทำให้สุขภาพดี เข่าดี กล้ามเนื้อดี หัวใจดี การสูบฉีดโลหิตดี และอีกหลายๆดี ซึ่งส่วนตัวก็ปั่นจักรยานมาเป็นสิบปีแล้ว เดี๋ยวนี้ก็ยังปั่นทุกวันภายในบ้าน เผาผลาญ 1,000 กิโลแคลอรี่ ยืนยันสิ่งที่แพทย์บอกถูกต้องทุกประการ

ทัศนคติของสังคมบ้านเราเกี่ยวกับจักรยานก็กำลังเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้มีผู้แชร์รูปงานศพที่วัดแห่งหนึ่งที่ว่ากันว่าเจ้าภาพเป็นนักสิ่งแวดล้อม และได้ขอให้ผู้ที่คิดจะส่งหรีดเคารพศพเปลี่ยนเป็นส่งจักรยานมาแทน จึงพบว่าในงานสวดศพ ไม่มีหรีดทำด้วยไม้ดอกไม้ประดับอย่างที่เคยเห็นทั่วไปแต่กลับมีผู้ส่งหรีดจักรยานมาแทน 

ราคาหรีดดอกไม้กับจักรยานบ้านก็พอๆกัน ระดับพันบาท แต่หรีดดอกไม้ เลิกงานแล้วก็ถูกทิ้งกลายเป็นขยะที่จะต้องกำจัด ไม่มีประโยชน์อื่นใด แล้วยังสร้างปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมอีกด้วย แต่หรีดจักรยาน เชื่อว่าผู้ที่เป็นเจ้าภาพงานศพคงบริจาคให้ผู้ที่ต้องการและจำเป็นได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนในชนบท จึงถือเป็นทางเลือกที่ดีทางเลือกหนึ่งสำหรับสังคมไทยยุคใหม่

อีกเรื่องหนึ่งคือการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ที่กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่เพราะผู้สูงอายุคนไทยไม่มีเงินออมพอเพียงกับการใช้ชีวิตบั้นปลายเหมือนบางประเทศเช่นญี่ปุ่นที่มีการเตรียมการมาอย่างดี ขณะนี้ที่ประเทศญี่ปุ่นแม้จะมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปถึง 35% ของประชากร ซึ่งจัดว่าสูงสุดในโลก แต่ผู้สูงอายุเหล่านี้มีการออมเงินในระหว่างทำงานสูงมากสามารถใช้จ่ายในชีวิตบั้นปลายได้ถึงปีละ 20,000 ดอลลาร์โดยเฉลี่ย และถ้าคู่สมรสยังมีชีวิตอยู่ด้วยกัน ก็จะมีเงินเพื่อการใช้จ่ายสามีภรรยาสูงถึงปีละ 40,000 ดอลลาร์ 

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเศรษฐีเงินล้านที่มีทรัพย์สินเกินกว่า 1,000,000 ดอลลาร์สูงมากเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ จึงเกิดบริการหรูหราอลังการสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ จากที่เห็นในข่าว มีการให้บริการรถไฟแบบสุดหรูระดับ 7 ดาวสำหรับผู้สูงอายุเกิดขึ้น 2-3 เส้นทาง และได้รับการตอบรับจากผู้สูงวัยดีมาก

หันมามองดูผู้สูงอายุชาวไทยที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที แม้ว่าสัดส่วนจะสูงจะยังไม่สูงเท่าญี่ปุ่น แต่ก็เป็นจุดที่สังคมต้องปรับตัวรองรับกันอย่างจริงจัง เนื่องจากผู้สูงอายุไทยเกือบทั้งหมด ไม่มีการออมเงินอย่างพอเพียงในวัยทำงาน จึงกลายเป็นผู้สูงอายุที่พึ่งพาตัวเองเกือบไม่ได้ และเป็นหน้าที่ของลูกหลานและรัฐที่จะต้องเข้าไปดูแล ซึ่งก็ทำให้เกิดภาระอย่างมาก สิ่งที่รัฐทำได้คือการดูแลในระดับพื้นฐานเรื่องสุขภาพอนามัย แต่เรื่องอื่นๆนั้นเป็นหน้าที่ของลูกหลาน

มีทางออกทางหนึ่ง นั่นคือการให้ผู้สูงอายุไทยได้มีโอกาสมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันโดยอาศัยเครื่องมืออุปกรณ์ที่ไม่แพงมาก การส่งเริมให้มีการใช้จักรยานบ้านน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับสังคมผู้สูงอายุบ้านเรา 

จักรยานบ้านทำให้ผู้สูงอายุไม่ต้องกลายเป็นคนติดบ้านไปไหนไม่ได้ ไม่ต้องนั่งรอลูกหลานมาเยี่ยม ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน ไม่ต้องรอคนพาไปตรวจสุขภาพ จักรยานบ้านราคาไม่แพง แค่หนึ่งหรือสองพันบาท ก็สามารถซื้อหามาใช้ได้แล้ว 

การขี่จักรยานเป็นการออกกำลังไปในตัว ได้ออกไปสังสรรค์สนทนากับผู้คุ้นเคยในอดีต เข้าร่วมกิจกรรมในสังคมชุมชน ช่วยตัวเองได้ การออกกำลังโดยการขี่จักรยานเป็นการลงทุนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับการออกกำลังในฟิตเนสหรือโรงยิม อากาศบริสุทธิ์ สภาพแวดล้อมที่ไม่มีมลพิษ เพื่อนบ้านที่ดี กินอยู่อย่างพอเพียง มีรัฐดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน 

สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างสังคมผู้สูงอายุแบบไทยๆได้เป็นอย่างดี และถ้าสังคมเมืองเล็งเห็นประโยชน์ของการปั่นจักรยานบ้าน แล้วเปลี่ยนจากการรับพวงหรีดงานศพมาเป็นหรีดจักรยาน ก็จะยิ่งช่วยสนับสนุนให้การใช้จักรยานบ้านกลับมาแพร่หลายสำหรับผู้คนทุกวัยตั้งแต่เด็กนักเรียนถึงผู้สูงอายุ

สิ่งที่รัฐควรส่งเสริมสนับสนุนก็คือโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้จักรยานบ้าน ให้มีถนนหนทาง ไฟฟ้า ทิวทัศน์สองข้างทาง ดีพอที่จะทำให้ประชาชนมีความสุขกับการปั่นจักรยาน เจริญหูเจริญตา เพราะเมื่อมีสุขภาพร่างกายที่ดีแล้ว สุขภาพจิตก็น่าจะดีด้วย อย่างที่หลายคนพูดว่า จิตใจที่ดีย่อมอยู่ภายใต้ร่างกายที่แข็งแรง หรือ sound mind in sound body

ถ้าเป็นอย่างนี้ ผู้สูงอายุไทยก็น่าจะมีความสุขไม่น้อยกว่าผู้สูงอายุญี่ปุ่น ด้วยต้นทุนที่ต่ำมากๆ