การล้างแค้นของ “ผู้ถูกรุมประนาม”

การล้างแค้นของ “ผู้ถูกรุมประนาม”

ณัชชาภัทร อมรกุล นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า

ปี 2559 ถึงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา เป็นปีที่น่าตระหนกตกตื่นของผู้ที่ชื่นชอบประชาธิปไตย เรียกได้ว่าลุ้นกันหัวทิ่มหัวตำกันแทบทั้งปี

โดยเริ่มจากปรากฏการณ์การชนะการเลือกตั้งของนายดูเตอร์เต้ ต่อด้วยการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) และสิ้นปีคือผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทำให้บรรดาแฟน ๆ ของระบอบประชาธิปไตยรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงกับกระแสขวาที่กลายเป็นโดมิโนกินอาณาบริเวณกว้างขวางมากขึ้น พวกเขาต่างพากันหาสาเหตุว่า เพราะเหตุใดมวลมหาประชาชนของประเทศเหล่านี้ถึงได้พร้อมใจกันเทคะแนนเสียงข้างมากให้กับผู้ที่ต่อต้านนโยบายเสรีนิยม เกลียดกลัวคนต่างชาติ หนำซ้ำผู้นำบางคนมีอาการเหยียดสตรี เหยียดเพศ และชูนโยบายกีดกันการค้าเสรี (protectionism) ด้วยซ้ำ

นี่เราจะอยู่ในโลกที่กลายเป็นกระแสขวาตกขอบกันแบบนี้จริง ๆ หรือ

ต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี ที่โลกจึงต้องกลั้นหายใจคอยลุ้นอีกครั้งจากการเลือกตั้งทั่วไปของเนเธอร์แลนด์ในเดือนเมษายน แต่โชคดี พรรคขวาที่เน้นนโยบายต่อต้านผู้อพยพ คือ พรรคเสรีภาพ(PPV) ได้คะแนนเสียงเพียง 20 ที่นั่ง น้อยกว่าพรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย (VVD) ที่เป็นกลาง และได้ สส.ไป 33 ที่นั่ง แต่คอการเมืองทั่วโลกก็ยังเป็นกังวลอยู่ ด้วยพรรค PVV ได้ สส. เพิ่มมาจากการเลือกตั้งเมื่อ 5 ปีที่แล้วถึง 5 คน ส่วนพรรค VVD ได้คะแนนลดลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อน 8 คน

เรียกได้ว่าถึงแม้ว่าพรรคขวาจะไม่ชนะในเนเธอร์แลนด์ แต่ก็ประสบความสำเร็จมากขึ้นกว่าในครั้งที่ผ่านมา

ต่อมาในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ประชาคมโลกต้องลุ้นอีกครั้งกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่ต้องเลือกตั้งถึง 2 รอบ ซึ่งในที่สุดนายแอมานุแอล มาครง จากพรรคอ็องมาร์ช! ก็ได้รับคะแนนเสียงลอยลำได้เป็นประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ทิ้งห่างนางมารีน เลอ แปนจากพรรคแนวร่วมแห่งชาติซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาไปได้เท่าตัว

ล่าสุด ผลการเลือกตั้งในสหราชอาณาจักรในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าพรรคอนุรักษ์นิยมได้คะแนนเสียงลดลง และพรรคแรงงานได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้แนวทางการถอนตัวอย่างสิ้นเชิง (hard brexit) ของพรรคอนุรักษ์นิยมไม่เรียบหรูนัก

แม้ว่าการเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอังกฤษ จะช่วยเบรกกระแสขวาตกขอบที่ฮือฮากันมาตั้งแต่ในปี 2559 กันอยู่บ้าง แต่นักวิเคราะห์ทั้งหลายต่างก็ยังไม่นิ่งนอนใจถึงการแพร่กระจายของกระแสขวาที่ว่านี้

น่าสนใจมากว่า อะไรทำให้กระแสขวากินพื้นที่ประชาธิปไตยไปทั่วโลกขนาดนี้

The Economist Intelligence Unit (EIU) ที่ได้ทำการสำรวจสถานการณ์ประชาธิปไตยโลกมาราว 1 ทศวรรษ ได้ขนานนามประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2559 ไว้ว่าเป็นปีแห่ง การล้างแค้นของ ผู้ถูกรุมประนาม” (Revenge of the “deplorables”) โดยคำว่า deplorables นี้มาจากการเรียกเหล่าแฟน ๆ ของนายทรัมป์ โดย ฮิลลารี คลินตันบอกว่า “เราอาจเรียกคนราวครึ่งหนึ่งที่สนับสนุนทรัมป์ว่า เป็นกลุ่มผู้ที่ “ถุกรุมประณาม” กลุ่มนี้คือพวกเหยียดเชื้อชาติ, เหยียดเพศ, กลัวพวกรักร่วมเพศ, กลัวคนต่างชาติ, กลัวอิสลาม...(ฮิลลาลี คลินตัน 9 กันยายน 2016) ” โดยคำว่า deplorables นี้ รศ. ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ได้แปลไว้จากบริบทของบทความว่า “คนที่ถูกรุมประณาม” เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลในทางลบจากประชาธิปไตย และเผชิญปัญหาหลายประการที่ถูกละเลยมาเป็นระยะเวลานาน

EIU วิเคราะห์ว่าประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาดังนี้

  1. ชนชั้นนำทางการเมือง (political elite) ถูกมองว่าไม่สามารถสะท้อน หรือเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนได้
  2. สถานการณ์นี้ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เกิดก่อนหน้านี้หลายปี นักวิเคราะห์ทางการเมืองได้กล่าวถึงการ “ต่อไม่ติด” ระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองและประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะ ในประเทศประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น
  3. ผลของการต่อไม่ติดดังกล่าว ได้ทำให้เกิดประเด็นใหญ่ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2559 คือ การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ในเดือนมิถุนายน และการได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัล ทรัมป์ ในเดือน พฤศจิกายน ซึ่งทำให้เกิดภาวะความกดดันเกี่ยวกับประชาธิปไตยกระจายไปทั่วโลก

EIU ได้วิเคราะห์ถึงผลของการลงคะแนนเสียงออกจากสหภาพยุโรปและการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องของอารมณ์, การแสดงออกที่ไม่ใช้เหตุผล และความคับแคบของชาตินิยม ซึ่งสะท้อนให้เห็นความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อสถานภาพที่เป็นอยู่ และความต้องการการเปลี่ยนแปลง พวกเกลียดกลัวคนต่างชาติ ผนวกกับปรากฏการณ์ “การเมืองหลังความจริง (post-truth politics)”

EIU ยังได้กล่าวว่า ความไม่เชื่อมั่นในสถาบันทางการเมือง ทำให้สหรัฐอเมริกาตกอยู่ในกลุ่ม “ประชาธิปไตยที่มีข้อบกพร่อง” การสำรวจโดยหลายหน่วยงานในสหรัฐอเมริกา พบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลของตนลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ “ทรัมป์ไม่ได้เป็นผู้ที่ทำลายความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่เขาคือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากปรากฏการณ์นี้”

แม้ในปัจจุบัน กระแสขวาตกขอบจะไม่ได้ลุกลามอย่างน่าตื่นตระหนกแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาก็ช่วยกระตุ้นเตือนให้เห็นว่าประชาธิปไตยของโลกกำลังเผชิญปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำ คนที่เสียเปรียบในระบอบประชาธิปไตยกลายเป็น “ผู้ถูกรุมประณาม” เพราะพวกเขาเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายต่าง ๆ ของรัฐน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม พวกเขาจึงรู้สึกต่อไม่ติดกับผู้นำของเขา และโกรธแค้นจนไม่สนใจเหตุผลหรือความจริง

ปัญหา การล้างแค้นของผู้ถูกรุมประนาม” ในปีที่ผ่านมา จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว หรือน่าตื่นตระหนกอย่างเดียว เพราะในอีกมุมหนึ่ง สิ่งนี้คือสิ่งเตือนใจผู้ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของระบอบประชาธิปไตยให้หันกลับมาชะลอการพัฒนาประชาธิปไตยในเชิงสถาบันที่มุ่งเพียงแต่การรับฟังเสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก โดยจะต้องกลับมาเห็นและแก้ไขปัญหาของ ผู้ที่ถูกรุมประณามเพื่อไม่ให้พวกเขาเหล่านั้นต้องอยู่ในวังวนของความไม่แฟร์ ไม่ยุติธรรม และพยายามสร้างช่องทางของการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เพื่อให้พวกเขาได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐอย่างแท้จริง