ทำเงินบนเฟซบุ๊ค เล่ากี่ทีก็ไม่เหมือนเดิม

ทำเงินบนเฟซบุ๊ค เล่ากี่ทีก็ไม่เหมือนเดิม

“อยากขายของออนไลน์” ประโยคนี้จะไปไหนก็มีคนพูดเต็มไปหมด เรื่องการมีอาชีพที่สอง (Second Job)

หรือว่าแหล่งรายได้อื่นดูจะจำเป็นมากขึ้นในวันที่กาแฟแก้วละร้อยบาท มนุษย์เงินเดือนต่างก็เป็นหนี้กันมากมาย ก้มมองมือถือและหน้าจอคอมพิวเตอร์ ก็พอจะเจอทางออกว่าขายของทางเฟซบุ๊คน่าจะเป็นทางที่ดี ว่าแต่จะทำยังไงให้มันมียอดขายเข้ามาได้จริงๆ?!

รายการ Business 101 ช่วง Biz Connect เชิญคุณ “ปฤณ จำเริญพานิช” นักเล่าเรื่องดิจิทัล (Digital Teller) ที่เคยล้มเหลวจากการลองผิดลองถูกทำการตลาดออนไลน์ด้วยตัวเอง จนเห็นบทเรียน ได้ประสบการณ์และอยากเอามาบอกเล่าให้ผู้คนทั่วไปได้ทราบกัน

สิ่งสำคัญที่สุดของการทำการตลาดบนเฟซบุ๊คคือต้องรู้จริงๆ ว่ากลุ่มเป้าหมายของเรา (Target) คือใคร เป็นแม่บ้านที่มีลูกอ่อน เป็นนักเรียนนักศึกษา หรือว่าคนทำงานที่่กำลังจะจัดงานแต่งงาน  เมื่อเราเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร มีรูปแบบการใช้ชีวิต (Life Style) อย่างไร ถ้าพวกเขาไม่ได้ใช้เฟซบุ๊ค การสื่อสารการตลาดก็อาจต้องอาศัยทางอื่นแทน เช่น การใช้สื่อนอกบ้าน หรือ การจัดอีเวนท์ต่างๆ แทน 

แต่เราก็ทราบดีว่าพฤติกรรมของคนไทยติดการใช้โซเชียลมีเดีย โดยทั่วๆ ไป เฟซบุ๊คจึงยังถือว่าครอบคลุมพอสมควรและเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เราสามารถสร้างแฟนเพจขึ้นมาเองเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการเมื่อไหร่ กี่เพจก็ได้ แต่เดิมเราอาจจะให้ความสำคัญกับจำนวนยอดไลค์ของเพจ ด้วยเชื่อว่าถ้าคนติดตามเยอะ โอกาสในการเห็นข้อมูลที่เรานำเสนอก็จะเยอะตามไปด้วย สุดท้ายเห็นสิบคนสั่งซื้อสักหนึ่งคนก็คุ้มแล้ว 

ปัจจุบันแนวคิดแบบนี้อาจจะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะว่าเพจเกิดใหม่วันหนึ่งจำนวนมาก สังเกตุดูก็จะพบว่าเพจที่เราไปติดตามเราก็ไม่ได้เห็นโพสต์ใหม่ๆ ทุกครั้ง เฟซบุ๊คมีระบบการจัดการหลังบ้านที่ฉลาด ปรับฟีดของสิ่งที่เราเจอไปตามพฤติกรรมของเรา เราไม่ได้เห็นทุกข้อความของทุกเพจที่เรากดไลค์ในไทม์ไลน์ของเราแล้ว ถ้าอยากให้เห็น ก็จ่ายตังค์เสียสิ! ด้วยเหตุนี้ยอดขายของเฟซบุ๊คจากการโฆษณาจึงถล่มทลาย ตัวเลขรายได้ของไตรมาสที่สองปีนี้ทะลุกว่า 9 พันล้านดอลลาร์ไปแล้ว ขณะที่ตัวเลขของผู้ใช้ที่มีความเคลื่อนไหว (Active Users) ก็มีถึง 2 พันล้านคนต่อวัน

ด้วยปริมาณข้อมูลมหาศาลแบบนี้ เฟซบุ๊คจึงทำมาหากินกับมันได้เป็นกอบเป็นกำ บรรดาเพจและร้านค้าต่างก็ต้องหันมาพึ่งพาการโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ค (Facebook Ad) กันเต็มไปหมด เพราะว่าทำเพจไป ดีแค่ไหน ถ้าคนไม่เห็นก็ขายของได้ยาก ครั้นจะตั้งหน้าตั้งตาโปรโมทเพจหรือโพสต์ (Boost Post) อย่างเดียว ก็พาลจะเสียเงินไปเป็นหมื่นเป็นแสนโดยที่ยอดขายอาจไม่คุ้มค่า

ปฤณ จึงแนะนำวิธีการโฆษณาเป็น 3 แบบดังนี้ 1.ซื้อโฆษณาตามกลุ่มเป้าหมาย (Targeting) คือ ดูตามลูกค้าที่เราสนใจเป็นเพศอะไร อายุเท่าไหร่ ทำงานสายงานไหน อยู่ในพื้นที่ใด มีความสนใจในเรื่องอะไรบ้าง ถ้าเจาะลึกขึ้นจะเป็น  2.การกำหนดกลุ่มคนให้เจาะจง (Custom Audience) โดยเอาฐานลูกค้าเก่าที่เรามี เช่นเบอร์โทรศัพท์หรืออีเมล อัพโหลดเข้าฐานข้อมูลของเฟซบุ๊ค แล้วระบบจะแจ้งว่าใครที่ใช้เฟซบุ๊คบ้าง ก็จะติดต่อไปที่ลูกค้าเหล่านั้นได้โดยตรง และส่งข้อความซ้ำๆ ไปกระตุ้นยอดขายเพิ่มได้  3.คือการนำฐานข้อมูลจาก Custom Audience มาจัดการอีกครั้ง จัดกลุ่มของพฤติกรรมบรรดาลูกค้าที่ชื่นชอบและสนใจเรื่องที่คล้ายกัน แล้วเฟซบุ๊คจะนำไปจับคู่กับคนอื่นที่ไม่ได้เป็นลูกค้าแค่มีความสนใจแบบเดียวกัน ก็จะได้กลุ่มเป้าหมายใหม่ที่คล้ายคลึงกับลูกค้าเดิม (Look Alike) วิธีนี้คุณปฤณบอกว่าเป็นวิธีมีประสิทธิภาพมากที่สุดครับ

สินค้าและบริการของเราไม่ได้ผลิตขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม มันจะตอบโจทย์กับคนบางกลุ่มเท่านั้น” นี่คือสิ่งที่คุณปฤณทิ้้งท้าย ซึ่งตรงกับความเป็นจริงที่สมัยนี้ความสนใจและความต้องการของผู้บริโภคแตกย่อยและกระจัดกระจาย(Fragmented) อย่างยิ่ง คนทำธุรกิจก็ต้องทำการตลาดให้ละเอียดขึ้น และต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น ถึงจะทำเงินได้ โจทย์การตลาดที่คลาสสิคเสมอ คือ เราต้องรู้ว่าลูกค้าเราคือใคร เป็นอย่างไร ตอบโจทย์ให้โดนใจพวกเขา เท่านี้ก็จะยังคงมียอดขาย มีเงินเข้ากระเป๋า เพียงแต่เครื่องมือที่ใช้อาจเป็นช่องทางใหม่ และวิธีการใช้งานมันก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเสียด้วยสิครับ วันนี้พูดแบบนี้ อีกสามเดือนอาจต้องปรับสคริปต์แล้วก็เป็นได้