จากเครื่องมือคาดการณ์อนาคตสู่ การผลักดันไทยแลนด์ 4.0

จากเครื่องมือคาดการณ์อนาคตสู่ การผลักดันไทยแลนด์ 4.0

บทความในสัปดาห์นี้เป็นการสรุปอนุสนธิจากการเผยแพร่ผลงานวิจัยเรื่อง “โครงการศึกษาเทคโนโลยียุทธศาสตร์แห่งชาติด้วยเครื่องมือคาดการณ์อนาคต”

ซึ่งศึกษาโดย ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค สานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้เผยแพร่ในเว็ปไซต์ http://www.apecforesight.org/index.php/research/49-key-tech-final-report.html

เป็นการใช้เครื่องมือ Key Technology Foresight (การมองภาพอนาคตของเทคโนโลยีหลัก) ทำการคาดการณ์อนาคตของเทคโนโลยีหลักและเทคโนโลยียุทธศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ตามกระบวนการ Key Technology Exercise (ปฏิบัติการค้นหาเทคโนโลยีหลัก) เพื่อนำเสนอ “กลไกขับเคลื่อนชุดใหม่” หรือ New Growth Engine เพื่อผลักดัน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ตามโมเดลไทยแลนด์ 4.0

ซึ่งผลของการคาดการณ์อนาคต ให้ภาพดังนี้

กลุ่มอุตสาหกรรม อาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ จะต้องการ 3 เทคโนโลยียุทธศาสตร์ ได้แก่

  1. เทคโนโลยีระบบฐานข้อมูลภูมิศาสตร์ขั้นสูง (Advanced Geographic Information System - GIS)
  2. เทคโนโลยีชีววิทยาระบบ (System biology)
  3. เทคโนโลยีการพยากรณ์และการจำลองสถานการณ์ด้านการเกษตร (Modelling and forecasting for agriculture)

กลุ่มอุตสาหกรรม สาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ จะต้องการ 4 เทคโนโลยียุทธศาสตร์ ได้แก่

  1. เทคโนโลยีอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณที่ฉลาด (Smart sensors)
  2. เทคโนโลยีการผ่าตัดด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer aided surgery)
  3. เทคโนโลยีการเรียงลำดับข้อมูลพันธุกรรมด้วยกระบวนการใหม่ (Next generation sequencing technology)
  4. เทคโนโลยีการสังเคราะห์เซลแบบ 3 มิติ (3D cell-culture)

กลุ่มอุตสาหกรรม เครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม จะต้องการ 2 เทคโนโลยียุทธศาสตร์ ได้แก่

  1. เทคโนโลยีการเก็บพลังงานไฟฟ้าราคาถูก (Electrical/Economical energy storage)
  2. เทคโนโลยีสิ่งทอนาโนคุณสมบัติเฉพาะ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ (Nanomaterials for functional textiles and wearable electronics)

กลุ่มอุตสาหกรรม ดิจิทัล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยี

สมองกลฝังตัว จะต้องการ 3 เทคโนโลยียุทธศาสตร์ ได้แก่

  1. เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity)
  2. เทคโนโลยีการจัดการข้อมูลที่มีจำนวนมาก (Big data)
  3. เทคโนโลยีการทดสอบและจำลองสมบัติของวัสดุต่างๆ (Modelling and testing technology for materials)

กลุ่มอุตสาหกรรม สร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง จะต้องการ 7 เทคโนโลยียุทธศาสตร์ ได้แก่

  1. เทคโนโลยีการปรับคุณภาพน้ำด้วยการกรองแบบนาโน (Nanofiltration for water treatment)
  2. เทคโนโลยีการทำให้อากาศหรือสารที่อยู่ในสถานะเป็นก๊าซมีความบริสุทธิ์ด้วยเยื่อกรองนาโน (Nanomembrane for air/vapor purification)
  3. เทคโนโลยีการผลิตอุปกรณ์นาโนด้วยการจัดเรียงตัวหรือการประกอบตัวขึ้นเอง (Self-assembly for Nanomanufacturing)
  4. เทคโนโลยีการกรองน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดด้วยเยื่อกรองนาโน (NanoMembrane for desalination)
  5. เทคโนโลยีเพื่อการก่อสร้างสีเขียว (Green technology for construction)
  6. เทคโนโลยีการผลิตด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (Additive manufacturing)
  7. เทคโนโลยีการลดปริมาณของเสีย (Waste minimization)

แม้ว่าอนาคตจะเป็นสิ่งที่พยากรณ์ให้แม่นยำได้ยาก แต่การใช้เครื่องมือคาดการณ์อนาคต หรือ Foresight ซึ่งมีวิธีการและขั้นตอนอย่างเป็นระบบ ก็จะทำให้เราเห็นภาพที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของเทคโนโลยี ที่ถือได้ว่า เป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจยุคใหม่

ใครสนใจเทคโนโลยีใด หรือยังไม่รู้จักเทคโนโลยีใด ก็ต้องรีบเตรียมปรับตัวให้พร้อมที่จะทำให้โมเดลไทยแลนด์ 4.0 ได้ตามภาพที่จะเกิดขึ้นจากเครื่องมีอคาดการณ์อนาคตชุดนี้!!!