พลังของการเปลี่ยนแปลง

พลังของการเปลี่ยนแปลง

ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในอดีตคือความเป็นอู่ข้าวอู่น้ำเพราะความอุดมสมบูรณ์ จนเราสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นครัวของโลกได้

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยจึงหนีไม่พ้นผลผลิตทางการเกษตร ที่เราคุ้นเคยกันดีทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ฯลฯ

แต่โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมมานานแล้ว สินค้าส่งออกของเราอันดับต้น ๆ จึงเปลี่ยนไปเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรรวม คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ 

ประเทศไทยก็เป็นฐานการผลิตรายใหญ่จนถึงขั้นที่ปิดโรงงานในบ้านเราเมื่อไรก็จะส่งผลกระทบให้ราคาคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกสูงขึ้นทันทีเพราะขาดชิ้นส่วนสำคัญ

แต่อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับต้น ๆ เหล่านี้อาจไม่ได้สร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพราะเราแทบไม่ได้มูลค่าเพิ่มใด ๆ จากอุตสาหกรรมเหล่านั้น นั่นจึงเป็นที่มาของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตและเราสามารถใช้สิ่งที่มีในประเทศสร้างเป็นมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมได้

ตัวอย่างของอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ เช่น การแพทย์และบริการสุขภาพ ไบโอเทคโนโลยี ยานยนต์ ซึ่งมีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นสูงกว่าอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เราทำมายาวนานจึงมีแนวโน้มที่จะผลักดันให้เป็นแผนงานระยะยาวของประเทศไทยสำเร็จ

การมองหาโอกาสใหม่ ๆ เหล่านี้ควรเป็นภารกิจของนักธุรกิจและเจ้าของกิจการทุกคน เพราะโลกธุรกิจทุกวันนี้มีความผันผวนรุนแรงจนถึงขั้นที่ทำให้ธุรกิจที่มั่นคงมายาวนานนับสิบนับร้อยปีต้องปิดตัวลง แต่ก็เปิดโอกาสใหม่ให้กับหลาย ๆ ธุรกิจเช่นกัน

ตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจที่ถือเป็นกรณีศึกษาไปทั่วโลก เพราะเป็นธุรกิจที่ถือกำเนิดขึ้นมาท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่บีบบังคับให้ประชากรทุกประเทศต้องมองหาพลังงานทางเลือก เนื่องจากภัยธรรมชาติรุนแรงที่เกิดขึ้นจำนวนมากนั้นมาจากภาวะโลกร้อนโดยฝีมือมนุษย์

ธุรกิจนั้นคือรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา ที่แม้จะก่อตั้งมาเพียงไม่กี่ปีแต่กลับทำยอดขายในกลุ่มรถยนต์หรูได้เป็นอันดับหนึ่ง แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาส, บีเอ็มดับเบิลยูซีรีส์ 7, ออดี้ เอ 7 และเลกซัส แอลเอส ไปอย่างง่ายดาย

แม้จะเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มรถหรู แต่ยอดขายในปี 2016 ทั้งปีเทสลา ทำยอดขายได้เพียง 83,000 คัน ยังห่างไกลยักษ์ใหญ่อย่างบีเอ็มดับเบิ้ลยู ที่มียอดขายกว่า 2 ล้านคัน แต่มูลค่าบริษัทของเทสลากลับแซงบีเอ็มดับเบิลยูขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ได้ โดยเป็นรองแค่โตโยต้าและเมอร์เซเดส-เบนซ์ เท่านั้น

เพราะแนวคิดของ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งเทสลามองเห็นเห็นว่าวิกฤติการณ์โลกร้อนที่ธุรกิจยานยนต์มีส่วนก่อให้เกิดผลกระทบขึ้นทั่วโลกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นส่งผลรุนแรงขึ้นทุกปี ไฟป่าในโปรตุเกสที่คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 60 คน หรือน้ำท่วมใหญในจีนที่ทำให้ต้องอพยพประชาชนกว่า 11 ล้านคน มีมูลค่าความเสียหายกว่า 25,000 ล้านหยวนเป็นตัวอย่างล่าสุดที่เกิดขึ้นในปีนี้

รถยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดและสร้างโอกาสให้กับเข้าได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหาก“อีลอน มัสก์” ยังคงยึดมั่นกับธุรกิจแบบเดิมๆและไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามโลก ซึ่งเป็นโลกใบเดิมแต่หมุนเร็วขึ้นด้วยพลังของการเปลี่ยนแปลง