“ภาคการเงินกับการต่อต้านการทุจริต”

“ภาคการเงินกับการต่อต้านการทุจริต”

อาทิตย์ที่แล้วผมได้รับเชิญจากกลุ่มธนาคารทิสโก้ให้ไปบรรยายพิเศษให้กับกรรมการและผู้บริหารเรื่องบทบาทภาคการเงินกับการต่อต้านการทุจริต

วันนี้ก็เลยอยากจะนำบางประเด็นที่ได้บรรยายมาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ 

ในทุกประเทศ ธุรกิจการเงินเป็นหนึ่งในสามสถาบันของประเทศที่ต้องเที่ยงตรงเพราะเป็นตัวบอกถึงความน่าเชื่อถือ คุณภาพด้านความถูกต้อง และธรรมาภิบาลของประเทศ ที่เหลืออีกสองสถาบันที่ต้องเที่ยงตรง ก็คือ สถาบันยุติธรรมและสถาบันสื่อมวลชน ลองนึกภาพถ้าทั้งสามสถาบันของประเทศเข้มแข็ง ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เป็นที่พึ่งของประชาชนได้และมีธรรมาภิบาลที่ดี ความน่าเชื่อถือของประเทศก็จะมีสูงและประเทศก็จะเข้มแข็ง สำหรับธุรกิจการเงินก็สำคัญต่อเศรษฐกิจ เพราะเป็นกลไกจัดสรรทรัพยากรการเงินของประเทศ เป็นธุรกิจที่ทำงานอยู่บนความไว้วางใจของประชาชน ทำให้ความน่าเชื่อถือต้องมีตลอด เพราะถ้าความไม่มั่นใจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะในจุดใดของระบบก็สามารถสร้างความไม่มั่นใจต่อระบบการเงินทั้งระบบได้ ด้วยเหตุนี้ ระบบการเงินในทุกประเทศจึงเป็นภาคธุรกิจที่มีการควบคุมหรือกำกับดูแลที่เข้มงวด เพื่อลดความเสี่ยงเชิงระบบและเพื่อให้การทำธุรกิจมีจริยธรรม มีธรรมาภิบาล เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน 

แต่แม้ภาคการเงินจะมีการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด เราก็ได้ยินข่าวอยู่เสมอกับความบกพร่องด้านธรรมาภิบาล จริยธรรมและความสุจริตที่เกิดขึ้นในภาคการเงิน แม้ในสถาบันการเงินที่เป็นระดับยักษ์ใหญ่ของโลก ล่าสุดก็กรณีธนาคารเวลส์ฟาร์โก ที่สหรัฐอเมริกา ที่พนักงานกว่า 4,000 คน ถูกปลดออกงาน จากการไปเปิดบัญชีใหม่ให้ลูกค้าโดยลูกค้าไม่ทราบเพื่อทำเป้าธุรกิจ ปัญหาเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบกว้างขวาง ทั้งต่อตัวสถาบันการเงินเองและต่อระบบการเงินของประเทศ ทำให้ประเด็นด้านธรรมาภิบาล จริยธรรม และการป้องกันการทุจริตจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสถาบันการเงินและหน่วยงานที่กำกับดูแล 

ช่วงที่ผ่านมา ความบกพร่องด้านธรรมาภิบาลที่เกิดขึ้นในสถาบันการเงินทั่วโลกชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงหลายรูปแบบที่อาจเกิดขึ้นในธุรกิจการเงิน ทั้งความเสี่ยงที่มาจากความอ่อนแอในระบบการทำธุรกิจของสถาบันการเงินเอง และจากลูกค้าที่มาใช้บริการของสถาบันการเงิน (Client Risk) ความเสี่ยงภายในจากการทำธุรกิจก็เช่น การทุจริตโดยพนักงานที่ฉ้อโกงหรือปฏิบัติไม่ถูกต้อง การเอาเปรียบหรือคดโกงลูกค้า ประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้ง เช่น การให้สินเชื่อกับตัวเองหรือบุคคลใกล้ชิดที่ผิดระเบียบ ผิดมาตรฐาน การใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยกรรมการหรือผู้บริหารสถาบันการเงิน และการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างทั้งกับคู่ค้าที่เป็นเอกชนด้วยกันและหน่วยงานราชการ 

สำหรับความเสี่ยงที่มากับลูกค้า ก็เช่น เป็นกลไกการฟอกเงินให้ลูกค้าที่ได้เงินมาอย่างผิดกฎหมาย การที่ลูกค้าใช้สถาบันการเงินเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฉ้อโกง การปล่อยสินเชื่อที่เงินถูกใช้ในสิ่งที่ผิดกฎหมาย รวมถึงลูกค้านำเงินที่ได้จากสินเชื่อไปให้สินบนหรือทุจริตคอร์รัปชัน การบริจาคเงินที่ลูกค้าหรือตัวสถาบันการเงินบริจาคที่สนับสนุนกิจกรรมที่ซ่อนเร้นแอบแฝงและขัดต่อกฎหมาย เช่น บริจาคเงินสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น 

  คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วสถาบันการเงินจะบริหารความเสี่ยงในประเด็นเหล่านี้อย่างไร และมีเครื่องไม้เครื่องมือพอไหมที่จะดูแลและจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ 

ในเรื่องนี้ ผมคิดว่าประเด็นที่สถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทในธุรกิจหลักทรัพย์และตราสารหนี้หรือตลาดทุน ต้องให้ความสำคัญ จะมีอยู่สามเรื่อง 

หนึ่ง ความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบของทางการ ซึ่งที่สำคัญสำหรับการต่อต้านการทุจริตในบ้านเราก็คือ กฎหมายฟอกเงิน กฎหมายป.ป.ช. กฎหมายสถาบันการเงิน และกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับดูแล ก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานกลต. ที่สถาบันการเงินต้องดำเนินการให้มีระบบการควบคุมดูแลที่เพียงพอและรัดกุม โดยเฉพาะระบบตรวจสอบลูกค้า (KYC หรือ Know Your Customer)  ระบบการบริหารความเสี่ยงจากธุรกิจการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Banking และความปลอดภัยของระบบข้อมูล เทคโนโลยี (Cyber Security) ซึ่งสำคัญมากต่อการป้องกันและลดความเสี่ยงการทุจริตในธุรกิจการเงินยุคปัจจุบัน 

  สอง สถาบันการเงินควรมีนโยบายชัดเจนที่จะทำธุรกิจอย่างสะอาด ปลอดการให้หรือรับสินบน และไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ มีนโยบาย แนวปฏิบัติและระบบควบคุมภายในชัดเจน มีการขับเคลื่อนการปฏิบัติดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงโดยกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ซึ่งก็คือ พันธกิจที่ต้องทำสำหรับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ CAC หรือ โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต น่ายินดีว่าถึงวันนี้ มีธนาคารพาณิชย์และบริษัทในธุรกิจหลักทรัพย์และจัดการกองทุนเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC แล้ว 58 บริษัท และผ่านการรับรองแล้ว 46 บริษัท จากบริษัทที่ได้เข้าร่วมโครงการ CAC ทั้งหมด 844 บริษัท และผ่านการรับรอง 231 บริษัท 

สาม สถาบันการเงินต้องให้ความสำคัญกับพฤติกรรมด้านจริยธรรมของพนักงานและผู้บริหาร เรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เพราะกฎระเบียบและการควบคุมอย่างเดียวจะไม่สามารถลดความเสี่ยงของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ ถ้าจิตใจของพนักงานและผู้บริหารยังพร้อมที่จะทำความผิด ปัญหานี้สามารถดูแลป้องกันโดยสร้างบริษัทให้เป็นบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรด้านจริยธรรมที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญของกรรมการและผู้บริหารบริษัทที่ต้องขับเคลื่อนและทำตนให้เป็นตัวอย่าง

นี่คือประเด็นที่อยากจะมาแชร์ให้ผู้อ่านทราบสัปดาห์นี้