ประเทศทรัมป์ : ประเทศโลกที่ 4

ประเทศทรัมป์ : ประเทศโลกที่ 4

เมื่อนักธุรกิจที่ร่ำรวยมหาศาลคนหนึ่งผันตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำทางการเมืองของประเทศหนึ่งๆ และยังคงใช้นิสัยเดิมของเจ้าของบริษัทมาใช้บริหารประเทศ

โดยทำตัวเป็นเสมือนเจ้าของ บริษัทประเทศโดยบริหารทุกอย่างตามใจตนเองและไม่สนใจระเบียบการใดๆ การตัดสินใจทางการเมืองกลายเป็นความไม่แน่นอนอย่างถึงที่สุด เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนคนเดียว

สหรัฐที่สามารถเป็นประเทศมหาอำนาจมาได้เนิ่นนานก็ด้วยการสร้างระบบระเบียบในการควบคุมการตัดสินใจทางการเมืองเศรษฐกิจไว้ แต่ในวันนี้ กลับถูกสั่นสะเทือนด้วยความไร้ระบบของการบริหารงานประเทศแบบบริษัทของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ 

ทรัมป์บริหารประเทศอเมริกาอย่างไร

ทรัมป์มองเห็น กลุ่มลูกค้า” ทางการเมืองของเขาอย่างชัดเจนและพยายามจะเชื่อมต่อการตัดสินใจของเขาให้เข้ากับอารมณ์ความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายที่จะซื้อ สินค้าการเมือง” ของเขา การทวีตรายวันหรือรายชั่วโมงในเรื่องต่างๆให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่เรื่องตลกไร้สาระ หากแต่เป็นกลยุทธที่ทำให้ “กลุ่มลูกค้า” ทางการเมืองได้รู้สึกใกล้ชิดและเป็นผู้มีส่วนรับรู้ใน "สินค้าการเมือง” ได้อย่างรวดเร็วและเป็นการรับโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านสื่อหรือกลไกอื่นๆ ซี่งกระบวนการสื่อสารโดยตรงเช่นนี้ทำให้ “กลุ่มลูกค้า” ทางการเมืองของเขารู้สึกได้ถึงความพิเศษที่ตนเองรับรวมไปถึงความรู้สึกที่ว่าตนเองเป็นคนพิเศษในการสื่อสารการเมืองของทรัมป์

โฆษกทำเนียบขาว ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า บัญชีทวิตเตอร์ของทรัมป์ คือคำแถลงอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งลองคิดดูซิครับว่าหากเราเป็นคนอเมริกันธรรมดาๆที่รู้สึกเสมอว่าตนเองไม่ค่อยมีอำนาจอะไร แต่วันนี้ตื่นเช้าขึ้นมาก็เปิดอ่านทวิตเตอร์ของประธานาธิบดีและรับรู้ข้อมูลการคิดของผู้นำทันที ประเด็นนี้น่าสนใจนะครับ เพราะอดีตนายกรัฐมนตรีไทยก็ได้สร้างรายการโทรทัศน์แบบ พูดคนเดียว” ขึ้นมาเพื่อรายงานการทำงานให้แก่ “ลูกค้าการเมือง” ของเขาซึ่งปราบความสำเร็จอย่างมาก จนทำให้นายกรัฐมนตรีคนต่อๆมาต้องทำตามกันหมดเลย

ดังนั้น กระบวนการซื้อความรู้สึกของ ลูกค้าทางการเมือง เช่นนี้ ทรัมป์จึงกล้าตอบโต้โพลทั้งหลายที่ระบุว่าคะแนนความนิยมของเขาลดลง โดยเน้นย้ำว่าฐานเสียงของเขายังคงแข็งแกร่งและยิ่งใหญ่ เพราะเขาเชื่อในกลวิธีเจาะและจับใจ “ ลูกค้าการเมือง” ของเขานั่นเอง

หากมองลึกลงไปว่า “ลูกค้าการเมือง” ของทรัมป์คือคนกลุ่มไหนในสังคม

นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงของอเมริกาได้รายงานผลการวิจัยเอาไว้ว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมอเมริกาได้ทำให้เกิดการเมืองแบบ คณาธิปไตย” ขึ้นมา ซึ่งไม่น่าแปลกใจอันใด เพราะตั้งแต่ในช่วงของการหาเสียงจนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี นักวิชาการจำนวนมากก็ระบุเช่นนี้ไว้แล้ว (หนังสือเรื่อง Hillbilly Elegy : A Memoir of a Family and Culture in Crisis ของ J.D Vance สะท้อนความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำทุกมิติไว้อย่างแหลมคม) ฐานเสียงหรือ ลูกค้าการเมือง" ของทรัมป์ ก็คือ คนที่รู้สึกถึงการสูญเสียโอกาสที่ตนเองจะได้เลื่อนชนชั้นและรับรู้อย่างแรงกล้าถึงความเหลื่อมล้ำที่ตนเองได้รับ

แต่ความเหลื่อมล้ำในสังคมอมริกาไม่ใช่เพียงแค่การทำให้เกิดการปกครองแบบ “คณาธิปไตย” เท่านั้น หากแต่ได้สร้างความแตกต่างภายในรัฐที่แหลมคมกว่านั้นมาก Manuel Castells นักสังคมวิทยาผู้มีชื่อเสียงได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทที่๒ ของหนังสือเรื่อง End of Millennium ที่เน้นว่าความเหลื่อมล้ำได้ทำให้เกิด “โลกที่ 4” ขึ้นมา ( The Rise of the Fourth World : Informational Capitalism, Poverty, and Social Exclusion ) โดยมสังคมอเมริกาเป็นหนึ่งกรณีศึกษาความรุนแรงของความเหลื่อมล้ำ

ความหมายของคำว่า โลกที่ 4” ที่คาสเทลใช้ เป็นการสร้างมโนทัศน์ให้เห็นถึงสภาวะของ โลกที่ 4” ที่ยากจน ย่ำแย่ ปราศจากการดูแลจากรัฐ อันแยกออกมาจาก โลกที่ 3” ที่หมายถึงประเทศด้อยพัฒนา กล่าวคือ ประเทศอเมริกาได้แยกออกเป็นเสมือน 2 โลกที่อยู่ในพื้นที่ประเทศเดียวกัน

จากการศึกษาของคาสเทลนี้ จึงกล่าวได้ว่าฐานเสียงของทรัมป์มาจากกลุ่ม “Underclass” ในโลกที่ 4 ที่อยู่ในพื้นที่ประเทศสหรัฐ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าในขณะที่ทรัมป์ไม่ได้รับคะแนนนิยมจากคนในกลุ่มอื่นๆ เขามุ่งสร้างฐานเสียงจาก “ลูกค้าทางการเมิอง” กลุ่มนี้มาโดยตลอด

การบริหารงานการเมืองของทรัมป์จึงไม่ใช่ทำเพื่อประเทศสหรัฐหากแต่เป็นการงานทั้งหมดเพื่อประเทศทรัมป์ซึ่งเป็นโลกที่ 4 ที่ซ้อนอยู่เบื้องล่างของสังคมอเมริกา

คำถามก็คือทรัมป์จะบริหารประเทศทรัมป์ได้อย่างมีผลสำเร็จอะไรหรือไม่ คำตอบที่ได้จากเวลา 200 กว่าวันที่เขาได้เข้ามาทำงานนี้ ก็คือ ไม่มีทางทำได้ ด้วยเหตุที่ทรัมป์เองก็ไม่ได้มีใจที่จะทำเพื่อคนในโลกที่ 4 อย่างแท้จริง เขาเพียงฉวยโอกาสจากโครงสร้างที่บิดเบี้ยวและล้มเหลวขึ้นมามีอำนาจ และเมื่อทรัมป์ประสบปัญหาทำงานได้ได้เพราะทำงานไม่เป็นนี่ เขาจะทำให้เกิด “วิกฤติ” ภายนอกประเทศเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ และการก่อ “วิกฤติ” ยิ่งจะทำให้กลุ่ม “ลูกค้าการเมือง” ของเขาตกที่นั่งลำบากมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมได้ส่งผลอย่างรุนแรงและกว้างขวางแม้ในประเทศสหรัฐที่ถือได้ว่ามีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมาเนิ่นนาน และความเหลื่อมล้ำนี้จะทำให้เกิดสภาวะวิกฤตการณ์ไปทั่วโลก การต่อสู้ของพี่น้องอาหรับหรือที่เรียกกันว่าอาหรับสปริง ( Arab Spring ) ที่เมื่อช่วงเริ่มต้นได้จุดประกายให้แก่ผู้คนในโลกว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองและนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำกลับตกอยู่ในบ่วงของวิกฤติหนักหน่วงมากขึ้น

ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในประเทศสหรัฐได้ทำให้เกิดประเทศทรัมป์ซ้อนอยู่ข้างล่าง ความเหลื่อมล้ำในโลกกำลังทำให้เกิด “โลกที่ 4 ” กระจายไปทั่วทุกหนแห่ง รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย

เราคงต้องเผชิญอะไรที่ไม่เคยคิดฝันมาก่อนในอนาคตครับ