เรื่องของจุฬาฯ ให้คนในจุฬาฯ ได้พูด (บ้าง)

เรื่องของจุฬาฯ ให้คนในจุฬาฯ ได้พูด (บ้าง)

น่ายินดีที่มีคนภายนอกให้ความสนใจใฝ่รู้เรื่องภายในของจุฬาฯ เป็นอันมาก คนที่ปรารถนาดีก็มีคนไม่ประสงค์ดีก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

ในฐานะที่สามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็นผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันแห่งนี้ทั้งเป็นอดีตนิสิตเป็นนักกิจกรรม ภายในคณะรัฐศาสตร์ และยังออกไปโลดแล่นเป็นสมาชิกสภานิสิตไปเป็นกรรมการบริหารร้านสหกรณ์จุฬาฯ มาในวันหนึ่งได้มีโอกาสมารับใช้ทดแทนคุณสถาบันอันเป็นที่เคารพรัก ด้วยการเป็นอาจารย์สอนหนังสือให้ลูกชาวนาชาวสวนกรรมกรไปกระทั่งถึงบุตรหลานผู้นำในสังคมมากมาย ยืนยันได้ว่าข้อเขียนนี้เป็นไปด้วยความปรารถนาดีและไม่นำอคติใดๆ มาเจือปน

ไม่อาจปฎิเสธได้เลยว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมีคุณูปการและมีความใกล้ชิดกับชาวจุฬาฯ อย่างแนบแน่น ตั้งแต่การได้พระนามอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราช มาประดิษฐานเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย อันมีปฐมเหตุมาจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ต้องการสร้างพระราชานุสรณ์แด่พระราชบิดาเป็นสถาบันการศึกษาอันเป็นหลักมั่นคงให้คนในชาติ 

มาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระภัทรมหาราช ศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยอีกพระองค์หนึ่งก็ได้มีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อชาวจุฬาฯ และสถาบันแห่งนี้มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต การร่วมกิจกรรมกับเหล่านิสิตในวาระโอกาสต่างๆ เช่น วันทรงดนตรี การพระราชทานเพลง “มหาจุฬาลงกรณ์” เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย ทรงพระราชทานทุนการศึกษา และยังทรงโปรดให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทรงศึกษาในคณะอักษรศาสตร์

สิ่งเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานที่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโดยพระราชจริยาวัตรขององค์พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ทรงปฎิบัติตนไม่แตกต่างกับพสกนิกร ดังจะเห็นได้จากการเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราช ทรงเดินทางพบปะประชาชนในที่ต่างๆ มีปฎิสัมพันธ์อย่างเป็นกันเองไม่ทรงถือพระองค์ 

ปรากฎให้เห็นทั้งภาพทรงสรงน้ำ ทรงทำครัวด้วยพระองค์เอง หรือแม้แต่ในรัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 พระผู้ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระองค์ได้ทรงก่อตั้งกองเสือป่าเพื่อฝึกหัดระเบียบวินัย ความเป็นสุภาพชนรู้รักสามัคคีพรักพร้อมเสียสละที่จะทำหน้าที่ช่วยเหลือปกป้องชาติบ้านเมืองของพวกเรานี้ 

พระองค์ทรงเสด็จประทับนอนกลางดินกินกลางทรายมีหลักฐานภาพถ่ายเก็บรักษาไว้ที่หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน 

เมื่อมาถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระภัทรมหาราช เราต่างได้ให้เห็นการทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่ตรากตรำ พระองค์นั่งทรงงานกับพื้นแผ่นดินท่ามกลางหมู่มวลพสกนิกรของพระองค์ พระเสโทไหลอาบพระพักตร์และพระวรกายอบ่างไม่ทรงย่อท้อ พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของผู้นำที่ชาวจุฬาฯ ได้นำมาเป็นแบบอย่าง 

เพราะปณิธานของจุฬาฯ ในฐานะเสาหลักของแผ่นดิน คือ การผลิตบัณฑิตที่มีทั้งความรู้คู่คุณธรรม แยกแยะได้ว่าอะไร คือวัฒนธรรมประเพณี อะไรคือสิทธิเสรีภาพ ที่สำคัญต้องมีความอดกลั้นอดทนและไม่เกรงกลัวต่ออุปสรรคขวากหนามใดๆ แม้จะต้องเนื้อตัวเปียกปอน หรือต้องแปดเปื้อนฝุ่นความสกปรกตามเนื้อตัวบ้างในบางวาระโอกาส 

เราคงจำภาพประธานาธิบดีปูตินยืนฟังเพลงชาติท่ามกลางสายฝนกระหน่ำโดยไม่ต้องสวมหมวกกันฝน เช่นเดียวกับผู้นำอีกจำนวนมากที่ ไม่รู้สึกว่าฝนฟ้าจะเป็นปัญหาในการทำหน้าที่หรือแสดงออกในสิ่งที่เป็นความจงรักภักดี

จะว่าไปจริงๆ ทุกกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยจัดให้มีขึ้นก็ใช้หลักของความสมัครใจมาตั้งแต่สมัยผู้เขียนเป็นนิสิต ย้อนไปได้เมื่อราว 40 ปีที่ผ่านมา แต่แม้จะเป็นความสมัครใจก็มีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นนิสิตส่วนใหญ่น่าจะเกือบทุกคนเพราะเราต่างมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเข้าใจยอมรับวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันที่เมื่อรักจะเข้ามาเป็นสมาชิกของสังคมชุมชนใดแล้ว หากเราจะอยู่อย่างมีความสุขไม่แปลกแยกแตกต่างจากผู้อื่นก็ต้องมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว มีความรับผิดชอบร่วมกัน จึงจะถือเป็นวิสัยของสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีที่พึงยึดถือปฎิบัติตามแนวทางที่สุภาพชนพึงมี

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่เคยกีดขวางความคิดอ่านของสมาชิก และเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่เมื่อสมาชิกส่วนใหญ่เห็นเหมาะสมเป็นอย่างไร การที่ผู้ใดต้องการเปลี่ยนแปลงความคิดความอ่านผู้อื่น ไปในทิศทางที่ตนชี้นำหรือต้องการ ย่อมสะท้อนภูมิปัญญาความคิดในเชิงอำนาจนิยม และสะท้อนความหลงในตัวตนที่น่าสมเพชเวทนา มากกว่าความรู้สึกน่าชื่นชมยินดี 

ที่น่าประหลาดใจ คือในระยะหลังมานี้ มหาวิทยาลัยได้รับความสนใจทั้งจากสื่อบางค่ายบางสำนัก รวมทั้งบุคคลและกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวเป็นนักวิชาการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นปราชญ์เป็นนักวิชาการอิสระบ้าง (ซึ่งเคยชี้ให้เห็นแล้วว่าคำนี้ในวงวิชาการไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะเหมือนจะเป็นการใช้คำ “อิสระ” ที่ว่านี้ ถูกนำไปเป็นเกราะกำบังให้ตนเองไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ) 

แต่มีข้อสังเกตุว่าต่างให้ความสำคัญกับข่าวของ จุฬาฯ ในบางเรื่องอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแบบอย่างที่ดี มีผลงานการอุทิศตนเพื่อสังคมส่วนรวมของสมาชิกชาวจุฬาฯ อยู่มากมาย แต่เรื่องที่ต้องตำหนิ คือ การวิพากษ์วิจารณ์การแสดงความเห็นในเรื่องละเอียดอ่อนหลายกรณี โดยจรรยาบรรณจริยธรรมและมารยาทในการทำหน้าที่ของสื่อทั้งหลายและความเป็นนักวิชาการที่มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มมักนิยมเรียกตนเองเช่นนั้น 

จะคิดจะพูดหรือนำเสนออะไร ควรได้มีการคัดกรองเนื้อหาสาระและหลีกเลี่ยงการกล่าวหาในสิ่งที่ไม่รู้จริงไปในทำนองสร้างความแตกแยกหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างไม่เป็นธรรม