'พิพากษา'คดีจำนำข้าวโดยผู้หญิงเกิดในต่างจังหวัด...

'พิพากษา'คดีจำนำข้าวโดยผู้หญิงเกิดในต่างจังหวัด...

ประชาชนที่ติดตามนโยบายจำนำข้าวมาตั้งแต่ พ.ศ.2554 จนเกิดคดีจำนำข้าว เราต่างคงมี “คำพิพากษา” ของตัวเองเพียงแต่จะแสดงออกมาหรือไม่

ในฐานะผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งเกิดในต่างจังหวัด ได้สัมผัสความทุกข์ยากของชาวนาและได้เคยทำงานร่วมกับพ่อแม่ผู้ค้าข้าวเปลือกข้าวสารอยู่ในภาคเหนือตอนบนนานเกือบครึ่งศตวรรษ ผู้เขียนได้ ‘พิพากษา’ นโยบายนี้ตั้งแต่ประกาศว่าเป็นการกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรกซึ่งไม่ใช่และต่างจากข้อหาละเลยปฏิบัติหน้าที่จนทำให้เกิดความเสียหายที่เป็นคดีอยู่

ตั้งแต่ก่อนจะเป็นคดี มีประชาชนไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้จน “เรียกแขก” ได้ในการชุมนุมมวลมหาประชาชนพ.ศ. 2556-2557 ผู้รู้ในวงการเช่นสมาคมโรงสีข้าวฯ นักเศรษฐศาสตร์หลายสถาบันรวมทั้ง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ได้ออกมาเตือน 

นโยบายเมื่อผิดแล้วดำเนินต่อไปย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะ “ถูก” จากการตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงตามนโยบายที่พรรคฯประกาศและแถลงต่อสภาฯ อาจจะ “ถูก” ได้ตามขั้นตอนบริหารแผ่นดิน แต่ผู้เขียนในฐานะประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งก็ยังเห็นว่า “ผิด” อยู่ดีในเนื้อหาสาระตั้งแต่เป็นนโยบาย กล่าวคือ

  1. สุ่มเสี่ยงซื้อข้าวเปลือกโดยฝีมือเซอร์เวเยอร์รับการอบรม 2-3 ชั่วโมงร่วมกับตำรวจข้าราชการปกครองโดยที่ในวงการซื้อข้าวเปลือกมืออาชีพเขาถึงกับประมูลตัวแย่งผู้ชำนาญการดูข้าวเปลือกกันแล้ว นโยบายยังซื้อข้าวแพงกว่าราคาตลาด ข้าวเปลือกจำนวนมากคุณภาพต่ำทำอย่างไรก็ไม่มีวันแปรเป็นข้าวสารที่ดีได้
  2. ซื้อข้าวเปลือกอย่างชุ่ยๆแล้วยังเก็บรักษาอย่างชุ่ยๆด้วยการเช่าโกดังที่เจ้าของไม่ต้องรับผิดชอบคุณภาพข้าว ต้องรู้สิว่า ว่าโกดังเก็บข้าวเปลือกของพ่อค้าข้าวเปลือกผู้ประกอบการโรงสีเขาถือเสมือนเป็นกล่องดวงใจที่ต้องสร้างและดูแลให้ดีก่อนบ้านอยู่อาศัยของตัวเองเสียอีก เพราะตลอดเวลา 1-2 ปี ใช้เป็นที่เฝ้าควบคุมรักษาความชื้นข้าวเปลือกที่เป็นอินทรีย์มีชีวิตให้ไม่เกิน 14-14-15 % ป้องกันมดไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอมปลอดความไม่บริสุทธิ์ใดๆเช่น ความชื้น มูลนก มูลหนู เชื้อรา ฯ การค้า ต้องตรวจสอบเช็คสต็อกทั้งคุณภาพและจำนวนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่เกิดคำถามทีไร รัฐบาลตอบว่ายังไม่ได้เช็คสต็อก
  3. สุดยอดความชุ่ยคือซื้อข้าวเก็บเก็งราคาโดยไม่คิดขายระบายออกไปด้วยอย่างที่เป็นปกติของพ่อค้าข้าวและผู้ประกอบการโรงสีมาเกือ 3 ศตวรรษ คนไทยสติดีจะไม่กินข้าวเก็บนานเกิน 1-2 ปี เพราะข้าวเสื่อมสภาพมีอายุขัย เว้นภาวะไม่ปกติ สงคราม น้ำแล้ง น้ำท่วม ฯ ข้าวอาจถูกเก็บ 3 ปี แต่ไม่นานกว่านั้น

ด้วยความชุ่ยเพียบพร้อมทุกขั้นตอนความเสียหายอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนจึงเกิดขึ้นทั้งที่ไทยปลูกข้าวบริหารจัดการข้าวจนถึงส่งออกมีมูลค่ามหาศาลมาได้ตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรมที่มีหลักฐานว่าเราส่งข้าวไปขายถึงจีน

ความเสียหายไม่ใช่เฉพาะเม็ดเงินแสนล้านบาทอย่างที่ระบุในคดีเพราะที่คิดเป็นเม็ดเงินไม่ได้มีอีกมาก โดยเฉพาะความปั่นป่วนเสียหลักที่เกิดขึ้นทั้งระบบตั้งแต่ปลูกข้าวไปจนถึงส่งออกและตลาดข้าวต่างประเทศซึ่งผลกรรมยังต้องตามแก้อีกนาน

โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจผิดที่อาจถึงขั้นกล่าวเท็จหลอกลวงสาธารณชนผู้ไม่รู้เท่าทันเพื่อสร้างภาพคนดีหาเสียงที่มักเป็นมาตลอดไม่ว่ารัฐบาลใด ล่าสุดคือการแถลงปิดคดีด้วยวาจาของจำเลยเมื่อ 1 ส.ค. ที่ตอกย้ำว่าพ่อค้าข้าวและผู้ประกอบการโรงสีเป็น “ตัวกลาง” เอาเปรียบชาวนา รัฐบาลคือคนดีมาปราบผู้ร้าย ปลดแอกและเกื้อหนุนชาวนา

 ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผอ.วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอชี้ว่าในความเป็นจริงผู้มีความสำคัญถือว่าเป็น ผู้สร้างกำหนดราคาซื้อขายข้าวในประเทศคือกลุ่มผู้ค้าและนายหน้าระหว่างประเทศ (international trader/broker) ผู้มีบทบาทเป็นตัวแทนของผู้ซื้อข้าวสารที่จะไปเจรจาซื้อข้าวและเสนอราคาต่อผู้ส่งออกในประเทศต่างๆโดยเป็นผู้เสนอราคาซื้อ 

 ขั้นต่อไปบริษัทส่งออกมักนำราคานี้มาคำนวณทอนเป็นราคาที่จะรับซื้อจากนายหน้าอีกต่อหนึ่งในประเทศ จากนี้บรรดาโรงสีจึงจะกำหนดราคาซื้อข้าวเปลือกของตนตามกันไปเป็นทอดๆ ลักษณะธุรกิจข้าวที่การกำหนดราคามาจากการเสนอสนองกันระหว่างพ่อค้าส่งออกกับผู้ซื้อในตลาดโลกเช่นนี้ ผู้ประกอบการโรงสีเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านราคาข้าวมากกว่าตัวกลางอย่างผู้ส่งออกเสียอีก ถึงได้มีโรงสีที่ขาดทุนล้มหายตายจากไปจากวงการเสียก็มากเพราะเก็งราคาข้าวผิดพลาด

 “คนกลาง”เรื่องข้าวยังมีในอีกหลายภาคส่วนอย่างที่เรากำลังรอฟังคำตัดสินศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)โดยมิชอบที่มีอดีตรมว.พาณิชย์ บุญทรง เตริยาภิรมย์ และพวก 28 รายเป็นจำเลยวันที่ 25 ส.ค.นี้ พร้อมกับคดีจำนำข้าวนี้อย่างไร โดยจะมีพ่อค้าข้าวเจ้าของโรงสี ตำรวจ ฯ อีกชุดใหญ่กำลังจะถูกฟ้องคดีทุจริตตามมา

ศาลประชาชนที่มีผู้เขียนนั่งบัลลังก์เห็นข้อจำกัดจำเลยชัดเจนใน "...การใช้ประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่เกิดในต่างจังหวัด มีโอกาสได้รับรู้สัมผัสความทุกข์ยากแสนสาหัสของชาวไร่ชาวนา ซึ่งประเทศนี้เคยเรียกพวกเขาว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติและเรียกร้องให้คนไทยทุกคนเกื้อหนุนดูแลและดิฉันก็ได้ทำแล้วในโครงการจำนำข้าว..." จึงให้เพิ่มโทษจำเลยในความผิดที่เป็นความประมาทเลินเล่อร้ายแรง ใช้เพียงประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งมากำหนดดำเนินนโยบายประเทศและทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการข้าวอย่างไม่ฟังเสียงใคร 

อนึ่ง การพยายามบิดเบือนคดีความผิดที่เกิดจากความชุ่ยของนโยบายว่าเป็นการกลั่นแกล้ง มีใบสั่ง จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาข้าวของประเทศตกอยู่ในวังวนมืดมิดต่อไปไม่สิ้นสุด