มาลงทุนในวิจัยและนวัตกรรม (R&I) อย่างชาญฉลาด

มาลงทุนในวิจัยและนวัตกรรม (R&I) อย่างชาญฉลาด

ก่อนที่สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (USSR) จะล่มสลาย ประเทศนี้มีนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนกว่า 1 ใน 4 ของโลก

กล่าวคือมีจำนวนถึง 1.5 ล้านคน และมีวิศวกรคิดเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนวิศวกรในโลก (Kris Borer 2012) งบประมาณด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ของโซเวียตก็มากมายมหาศาล นักวิทยาศาสตร์ก็เป็นชนชั้นที่ได้รับการยกย่องในสังคม ยิ่งไปกว่านั้นข้าราชการที่มีรายได้ประจำที่รัฐผู้ให้สูงสุดก็คือ ประธานของ Soviet AcademyofSciences นักวิจัยได้รับรายได้สูงจนแม้กระทั่งรัฐมนตรีก็ยังต้องการให้บุตรหลานของตนเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ทั้งหมดก็เป็นการสูญเปล่า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การลงทุนที่ชาญฉลาดในด้าน R&D ไม่ใช่แค่การอัดฉีดงบประมาณลงไปหรือสร้างนักวิจัยจำนวนมหาศาล แต่รัฐต้องยอมให้คนคิดและคิดต่างได้เพื่อจะได้สร้างความหลากหลายทางนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนั้น รัฐยังต้องติดตามผลว่า งานวิจัยและนวัตกรรม (R&I) รัฐบาลลงทุนไปให้แก่มหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐมีผลคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่

ในระยะหลังนี้ได้มีการประเมินความคุ้มค่าของโครงการใหญ่ๆ เป็นระยะ เช่นโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติก็ได้มอบหมายให้มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะดำเนินการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนในมหาวิทยาลัยของรัฐเพื่อดูมหาวิทยาลัยไทย ว่าจะมีส่วนร่วมผลักดันประเทศสู่ไทยแลนด์แดนนวัตกรรม 4.0 ได้หรือไม่

จากผลการศึกษาของโครงการฯ ซึ่งวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการวิจัยจาก 15 มหาวิทยาลัย โดยแบ่งเป็นการวิเคราะห์ด้วยวิธีต้นทุนและผลประโยชน์ (Cost–Benefit Analysis: CBA) จำนวน 14 กรณีศึกษา การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment: SROI) จำนวน 3 กรณีศึกษา รวมทั้งสิ้น 17 กรณีศึกษา พบว่า ผลการลงทุนวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยของรัฐในโครงการที่ศึกษา มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ระหว่าง 2 ล้านถึง 48,984 ล้านบาท มีอัตราส่วนของผลได้ต่อต้นทุน (B/C ratio) อยู่ระหว่าง 1.33 - 1,199 สามารถสรุปโดยรวมได้ว่า ทุกโครงการวิจัยมีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ โดยมีผลได้ต่อการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.33 เท่า และสูงสุดถึง 1,199 เท่า โดยไม่มีโครงการวิจัยใดมีมูลค่าผลได้ต่ำกว่า 1 เท่าของเงินลงทุน จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในการศึกษานี้ นอกจาก R&I ในภาคเกษตรและอาหารแปรรูป ยังมีการวิเคราะห์โครงการหุ่นยนต์รวมถึงการลงทุนในการวิจัยการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนอีกด้วย

การศึกษานี้เสนอว่าการลงทุนที่ได้ผลต้องเป็นการลงทุนวิจัยและพัฒนาสะสมในลักษณะโปรแกรมอย่างต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดผลได้สูงมากในระดับพันล้านถึงหมื่นล้านบาท 

แม้ว่าในระยะแรกของการลงทุนวิจัยและพัฒนาอาจจะมีต้นทุนสูงและผลตอบแทนต่ำอยู่ในระยะหนึ่ง แต่เมื่อโครงการวิจัยเริ่มสร้างผลผลิตและผลลัพธ์แล้ว ผลได้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อนวัตกรรมเป็นผลผลิตที่ไม่มีการทดแทนโดยผลิตภัณฑ์อื่นทำให้สามารถดำรงอยู่ในตลาดได้ค่อนข้างนาน และผลประโยชน์ก็จะเพิ่มพูนมากขึ้นตามกาลเวลา แต่ถ้าเป็นสินค้าหรือเทคโนโลยีที่มีการทดแทนได้ง่าย อาจมีช่วงเวลาเกิดผลประโยชน์ที่จำกัด 

อย่างไรก็ดี โครงการวิจัยที่เป็นกรณีศึกษาดังที่กล่าวมาแล้วส่วนใหญ่ยังจะไม่เกิดผลประโยชน์ในช่วง 5 ปีแรก หมายความว่า Thailand 4.0 ที่หวังพึ่งนวัตกรรมยังต้องอาศัยเวลา

การศึกษานี้มีผลสอดคล้องกับผลงานวิจัยในต่างประเทศที่พบว่า ผลงานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยของรัฐมีบทบาทสำคัญในด้านเกษตรและด้านสุขภาพเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า งานวิจัยด้านอุตสาหกรรมไม่เกิดผล แต่เป็นเพราะนักวิเคราะห์ความคุ้มค่าเข้าถึงข้อมูลผลได้และกำไรจากอุตสาหกรรมของภาคเอกชนได้ค่อนข้างยาก

ข้อค้นพบอีกประการหนึ่งก็คือ ผลิตภัณฑ์ด้านอุตสาหกรรมมักมีการทดแทนกันได้ง่าย ในบางครั้งก็ข้ามสายเทคโนโลยี งานศึกษาความเป็นไปได้ของการวิจัยในต่างประเทศเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับใช้ประโยชน์ภาคอุตสาหกรรม พบว่า จากวันแรกที่ทำวิจัยกว่าจะเห็นผลกินเวลาไม่ต่ำกว่า 7 ปี และจะให้ผลอีก 8 ปีก็จะถูกทดแทนโดยผลิตภัณฑ์ใหม่

จากผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่า ยังสรุปบทเรียนที่สำคัญได้หลายประเด็นด้วยกันคือ

1) การลงทุนวิจัยพื้นฐาน (Basic research) เป็นเงื่อนไขสำคัญของความสัมฤทธิ์ผลของ R&I

2) การสร้างองค์ความรู้ที่มีพลวัต มั่นคงและยั่งยืนต้องลงทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องในลักษณะโปรแกรมมีการประเมินความคุ้มค่า ไม่ปล่อยนักวิจัยลงทุนอย่างไม่มีเป้าหมายการใช้ประโยชน์

3) รัฐยังต้องคงบทบาทสูงในการลงทุน R&I ในภาคเกษตรพร้อมกับการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตถึงจะทำให้องค์ความรู้สามารถต่อยอดในเชิงปฏิบัติและเชิงพาณิชย์ได้

4) การสร้างกลไกวิจัยที่ยืดหยุ่นและที่สามารถบูรณาการและเลื่อนไหลข้ามสาขาเป็นเงื่อนไขจำเป็นของความสำเร็จ เพื่อให้ตามทันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

5) มหาวิทยาลัยขนาดเล็กและมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาคมีโอกาสและมีความสามารถที่จะสร้างนวัตกรรมรับใช้สังคมและนวัตกรรมสำหรับ SMEs ได้เป็นมูลค่าที่น่าพอใจ จึงควรให้มหาวิทยาลัยในภูมิภาคมีบทบาทในการขับเคลื่อนนวัตกรรมสูงภาคเอกชนและเกษตรกรในท้องถิ่น

6) นอกเหนือไปจากงานวิจัยสำหรับอุตสาหกรรม รัฐบาลควรสร้างแรงจูงใจที่ดีสำหรับงานวิจัยรับใช้ชุมชนและสังคมซึ่งจะมีความสำคัญสำหรับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีผลตอบแทนเช่นกัน

7) การวิจัยเพื่อสร้าง R&I เชิงสังคมสำหรับชุมชน นอกจากจะต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมแล้ว นักวิจัยจะต้องติดตามผลและเป็นพี่เลี้ยงอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

8) การวิจัยด้านพัฒนาตลาด สำหรับสัตว์ ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นดั้งเดิมสามารถช่วยขับเคลื่อนการอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมได้

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดรายงานดังกล่าว ผู้เขียนจะนำเสนอภาพรวมการประเมินความคุ้มค่า ในงานประชุมมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 (Thailand Research Expo 2017) ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) วันที่ 23 ส.ค. 2560 หัวข้อเรื่อง พลิกโฉมอนาคตนวัตกรรมไทยจากการประเมินผลงานวิจัย เวลา 13.30 - 16.30 น. และนำเสนอการวิเคราะห์ความคุ้มค่าเป็นรายโครงการในวันที่ 24 ส.ค. 2560 เวลา 09.00 - 12.00 น. สำหรับผู้สนใจเข้าฟังจะมีเอกสารแจกฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน