ดอลลาร์อาจอ่อนเกินไป

ดอลลาร์อาจอ่อนเกินไป

ดอลลาร์อาจอ่อนเกินไป

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างคาดว่าค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าลงสู่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสาเหตุหลักมาจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีกว่าที่คาด อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างชัดเจน กอปรกับความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปที่จะมีการเลือกตั้งในหลายๆ ประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้บางประเทศเดินตามรอยสหราชอาณาจักรโดยการขอออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้

แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นเดือนส..นี้ ค่าเงินบาทกลับแข็งค่าอยู่ที่ราว 33.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผิดไปจากที่ตลาดคาดมาก โดยค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคเล็กน้อย ซึ่งการที่ค่าเงินบาทแข็งค่านี้ มีสาเหตุหลักมาจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ดังนี้

1. ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือความคาดหมายของตลาด โดยเมื่อช่วงต้นปี ตลาดคาดว่าการดำเนินนโยบายของนายทรัมป์ จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายต่างๆของนายทรัมป์ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีอุปสรรคต่างๆมากมาย อีกทั้งนายทรัมป์ยังเผชิญปัญหาทางการเมืองต่างๆ เช่น ถูกกล่าวหาว่าได้รับการช่วยเหลือจากรัสเซียในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง

2. การแทรกแซงทางนโยบายของนายทรัมป์ ซึ่งโดยปกติแล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐฯจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับค่าเงิน โดยจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเฟดในการบริหารจัดการ แต่นายทรัมป์ออกมาพูดเป็นระยะๆว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากเกินไป จึงส่งผลให้ตลาดกังวลว่า นายทรัมป์อาจจะมีนโยบายใดๆที่อาจส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า

3. ราคาน้ำมันไม่ได้เพิ่มขึ้นมากอย่างที่ตลาดคาด ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯยังคงอยู่ในระดับต่ำ และส่งผลให้ตลาดลดความคาดหวังต่อการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

4. เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของยูโรโซนบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงมีสัญญาณขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และไม่มีแนวโน้มที่จะชะลอลงในอนาคตอันใกล้นี้

สำหรับค่าเงินบาท ยังคงแข็งค่าไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดในภูมิภาค โดยปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทมีดังนี้

1. เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานแข็งแกร่ง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และมีการเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่นโยบายของภาครัฐซึ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีในอนาคต

2. เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ ที่ไหลเข้าตลาด emerging markets เนื่องจากตลาดคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้าๆ ซึ่งไทยก็ได้ประโยชน์จากเงินทุนไหลเข้าเช่นกัน โดยนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย แต่ขายสุทธิตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องในช่วงนี้

ทั้งนี้ การที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ณ ขณะนี้ เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายของตลาด โดยอยู่ที่ระดับต่ำกว่าก่อนที่เฟดจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ย และต่ำกว่าช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯมีความอ่อนแอมากกว่านี้ (ตลาดแรงงานอ่อนแอ เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ การขาดดุลการค้าอยู่ในระดับสูง ฯลฯ) ดังนั้น สาเหตุหลักของการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐจึงน่าจะมาจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเมืองของสหรัฐฯ รวมถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอาจจะตอบรับโอกาสที่เฟดจะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไป โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐน่าจะกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยส่วนใหญ่คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ราว 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิ้นปีนี้

แต่อย่างไรก็ดี บทความนี้ไม่ได้ต้องการชี้นำว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงในอนาคตแต่อย่างใด เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินประกอบไปด้วยหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยพื้นฐานภายในและภายนอกประเทศ ปัจจัยที่สามารถคาดเดาได้และปัจจัยที่ไม่สามารถคาดเดาได้ เป็นต้น ทั้งนี้ ตลาดอาจมองว่า เศรษฐกิจประเทศอื่นๆ อาจขยายตัวได้ดีกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงนี้ จึงมีความน่าสนใจมากกว่า ถึงแม้ตลาดหุ้นสหรัฐฯทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่องก็ตาม ดังนั้น นักลงทุนและผู้ประกอบการควรติดตามสถานการณ์ค่าเงินอย่างใกล้ชิด