“ซัค” โลกสวย กับพลังงาน

“ซัค” โลกสวย กับพลังงาน

มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก (เรียกสั้นๆ ว่า “ซัค”) ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊คเป็นบุคคลหนึ่งที่ชาวโลกจับตา ถึงขนาดมีการทำภาพยนตร์เกี่ยวกับเขาตั้งแต่ปี 2010

ล่าสุดก็มีการกล่าวขวัญว่าเขากำลังเตรียมตัวเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เพราะเขามีกิจกรรมตอบ “ความท้าทายประจำปี 2017” ที่จะไปเยี่ยมเยียนและพบปะผู้คนในทุกรัฐทั้งประเทศจนครบก่อนสิ้นปี

ได้ลอง Google ดูพบข้อมูล 2 ด้าน บทความ Forbes เล่าว่าแม้มีการปฏิเสธข่าวนี้แล้ว แต่ก็ยังมีกลุ่มสาวกรณรงค์หาทุนเพื่อโน้มน้าวให้เขาลงสมัคร บทความ Guardian มองว่าแม้การทัวร์ประเทศของ “ซัค” ดูเหมือนจะชัดเจนว่าเป็นการเตรียมลงเลือกตั้งในปี 2020 ซึ่งอายุเขาจะผ่านขั้นต่ำพอดี แต่มันอาจจะเป็นเพียงกลเกมธุรกิจก็เป็นได้

ไม่ว่าจะเป็นด้านไหนสิ่งน่าสนใจที่สมควรถือเป็นแบบอย่างคือ ซัคเปิดกว้างที่จะรับฟังและพิจารณามุมมองต่างๆ เขาโพสต์ในเฟซบุ๊คให้คนเห็นแง่มุมของคนในอาชีพที่ สังคมต่อต้าน รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าอาชีพนั้นๆ ทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร

ซัค” เป็นคน โลกสวยที่เห็นว่า โลกร้อนเป็นปัญหาท้าทายมากที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับคนรุ่นปัจจุบัน เขาเห็นว่า

“ซัค” โลกสวยไม่ “ดีแต่พูด เขามีส่วนร่วมในการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยศูนย์ข้อมูล (Data Center) ที่เฟสบุ๊คจะสร้างใหม่ทุกแห่งจะต้องใช้พลังงานหมุนเวียน 100%

แทนที่เขาจะ เกลียดชังหรือมีอคติต่อพลังงานฟอสซิลเหมือนกับคนโลกสวยทั่วไป เขากลับเห็นความสำคัญของการเรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมพลังงานถึงแม้จะเป็นเรื่องที่โต้แย้งกัน และได้ไปเยี่ยมชมแหล่งผลิตน้ำมันด้วยเทคนิค “แฟร็คกิ้ง” แห่งหนึ่งในรัฐดาโคต้าเหนือเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

แฟร็คกิ้ง” (Fracking) หรือ Hydraulic fracturing เป็นเทคนิค(ค่อนข้าง)ใหม่ที่ทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเลียมในสหรัฐพลิกฟื้นและขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก ถึงขนาดเปลี่ยนสถานะประเทศจากผู้นำเข้าปิโตรเลียมเป็นประเทศที่มีสามารถผลิตได้มากพอกับการใช้และยังสามารถจะส่งออกได้ด้วย

แฟร็คกิ้งเป็นเทคนิคที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปิโตรเลียมโดยเป็นระบบปิดที่อัดแรงดันน้ำพร้อมด้วยทรายและสาร (ชีวภาพ)บางอย่างเข้าไปในชั้นหิน ฝ่ายต่อต้านเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาลบ้าง ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวบ้าง แต่ฝ่ายอุตสาหกรรมและการเมืองที่ต้องการให้ประเทศผลิตปิโตรเลียมได้มากขึ้น เพื่อเก็บภาษีและสร้างงานยืนยันว่าไม่มีปัญหา อีกทั้งการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้ราคาปิโตรเลียมลดลงเพราะอุปทานที่สูงขึ้น ซึ่งในสหรัฐผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์มากจากราคาก๊าซ (Henry Hub) ที่ลดต่ำลง รวมทั้งจากราคาน้ำมันที่มีผลให้ลดต่ำลงทั่วโลกอีกด้วย

ทั้งนี้ การทำแฟร๊คกิ้งในสหรัฐนั้นส่วนใหญ่จะทำในชั้นหินดินดาน (shale) ที่อยู่ตื้นกว่าในประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีการผลิตหรือวางแผนที่จะผลิตจากชั้นหินดินดาน เพราะยังไม่มีการค้นพบแหล่งที่มีศักยภาพ ซึ่งก็จะไม่สามารถทำให้ต้นทุนถูกพอ นอกจากนั้นกฎหมายบางท้องถิ่นในสหรัฐให้อิสระในการทำแฟร๊คกิ้ง แต่ในประเทศไทยการทำแฟร๊คกิ้งต้องได้รับอนุญาตจากกรมเชื้อเพลิงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง แม้เคยมีการทดลองทำในระดับชั้นหินกักเก็บที่มีความลึกกว่าน้ำบาดาลมาก แต่ไม่ได้ผลที่น่าพอใจจึงไม่มีการดำเนินการต่ออย่างใด

เฟซบุ๊คของ “ซัค” ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นที่โต้แย้งโดยตรง แต่เล่าถึงพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในเมืองที่เป็นแหล่งผลิตซึ่งเขาเห็นว่าน่าสนใจมาก

ในด้านเศรษฐกิจช่วงที่การผลิตรุ่งมีคนจากทั่วสหรัฐไหลเข้ามาทำงานและพักอาศัยในเมืองนี้หลายหมื่นคน เป็นการจ้างงานที่ค่าจ้างสูงมากสำหรับคนไม่จบปริญญา และเศรษฐกิจโดยรวมของเมืองก็พลอยดีไปด้วย แต่เมื่อราคาน้ำมันตกการผลิตลดลง การจ้างงานก็ลดลง

ล่าสุดที่ประธานาธิบดีทรัมป์อนุญาตให้สร้างระบบท่อขนส่ง Dakota Access Pipeline ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของน้ำมันที่ผลิตในพื้นที่ถูกลง มีเงินลงทุนไหลเข้ามา มีการสร้างงาน ทำให้เกิดชาวเมืองเกิดความหวัง

“ซัค” โลกสวยอย่างบริสุทธิ์ใจ มีมนุษยธรรมสูง

แม้ส่วนตัวเขาจะไม่ชอบเชื้อเพลิงฟอสซิลและคงยืนฝั่งตรงข้ามทรัมป์ในหลายเรื่อง แต่ “ซัค” ก็มีความเห็นอกเห็นใจคนเมืองนี้ ที่ยอมรับเช่นกันว่าฟอสซิลทำให้โลกร้อน แต่ในช่วงที่พลังงานหมุนเวียนยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศได้เพียงพอ พวกเขาก็ภูมิใจในบทบาทการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สนองความต้องการในชีวิตประจำวันจริงๆ ของคนในชาติ อาทิ การทำให้บ้านอบอุ่นในฤดูหนาว การเดินทางไปทำงาน เหล่านี้เป็นบริการสังคมที่จำเป็น “สังคม” จึงควรเลิกประณามพวกเขาเสียที

ซัคโลกสวยอย่างแท้จริง เขาย้ำกับแฟนคลับว่าหากเรามีความกังวลกับประเด็นปัญหาใดจริงๆ ก็ควรจะศึกษาหาข้อมูลเรื่องนั้นให้ได้มุมมองที่รอบด้าน

คำแนะนำนี้เป็นประโยชน์สำหรับสังคมไทยที่บ่อยครั้งจะฟังความด้านเดียวและใช้อารมณ์ตัดสิน ซึ่งในเรื่องพลังงานก็ได้กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนที่ต้องการสร้างแรงกดดันให้รัฐดำเนินการบางอย่างที่เข้าทางเขา แต่จะทำให้ส่วนรวมเสียหายได้

**************

 ผู้เขียน : อานิก อัมระนันทน์