อนาคตยูโรและยุโรป (3)

อนาคตยูโรและยุโรป (3)

กำเนิดของยูโรมีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องของแรงจูงใจทำให้ประเทศยุโรปใต้ใช้จ่ายเกินตัว ดูได้จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เรื้อรัง

และมีมากขึ้นก่อตัวเป็นหนี้ที่เพิ่มมากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน และเมื่อเกิดวิกฤตก็พัฒนาเป็นวิกฤตหนี้ของรัฐหรือ Sovereign debt crisis กระนั้นก็ตามคงเป็นการสรุปที่ไม่ถูกต้อง ถ้าจะสรุปว่าวิกฤตหนี้ของยุโรปเป็นวิกฤตที่เกิดจากความสุรุ่ยสุร่ายหรือการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาลซึ่งในกรณีนี้พิจารณาจากข้อมูลที่เราได้วิเคราะห์ให้เห็นจะเป็นจริงเฉพาะกรณีของกรีซและรองลงมาคืออิตาลี แต่ไม่ใช่กรณีของประเทศอื่นๆ ที่เหลือ เช่น โปรตุเกส สเปนและไอร์แลนด์ โดยรวมก่อนวิกฤต ระดับหนี้ภาครัฐของยูโรโซนไม่ได้สูงกว่าสหรัฐฯ

ข้อสังเกตุข้างต้นนี้ชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างของปัญหาพื้นฐานในแต่ละประเทศกลุ่ม PIIGS มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ แม้กระทั่งประเทศยุโรปเหนือที่ไม่เผชิญวิกฤตรุนแรง เราจะเข้าใจเหตุแห่งวิกฤตได้ลึกซึ้งมากขึ้น ถ้าเราเข้าใจวิวัฒนาการและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ปัจจัยทางด้านสถาบันทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศนั้นๆ

ในกลุ่ม PIIGS จะขอยกตัวอย่างกรีซที่มีลักษณะพิเศษค่อนข้างจะสุดขั้ว ประเทศกรีซวันนี้เหมือนอยู่ในความมืด ชาวกรีซคงต้องสะเทือนใจว่าอารยรรมกรีซหรือเราคือจุดกำเนิดที่ให้ความสว่างแก่ตะวันตก คนกรีซจำนวนหนึ่งคงมองความทุกข์ยากของตัวเอง ความล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นความผิดและความไม่เป็นธรรมของประเทศกลุ่มเจ้าหนี้ โดยเฉพาะเยอรมนี คนกรีซจะมีความรู้สึกที่ดีขึ้นไหมถ้าได้รู้และเข้าใจว่าปัญหาที่ตัวเองและประเทศที่ต้องเผชิญอยู่วันนี้เกือบทั้งหมด ตัวเองเป็นผู้ก่อขึ้นเองทั้งสิ้น

มีบางประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (หรือ EC เป็นชื่อเรียกในยุคแรกๆ ก่อนจะเป็น EU) แล้วสมาชิกประเทศอื่นๆ พบว่าทำงานด้วยไม่ง่าย เข้ากับใครไม่ค่อยได้ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล Robert Mundell ที่เป็นเสมือนบิดาผู้สนับสนุนการเกิดของเงินสกุลยูโรเคยให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าอังกฤษไม่เข้าร่วมด้วยก็น่าจะดี 

กรีซเป็นอีกประเทศหนึ่งที่คนอื่นมองเหมือนเป็นตัวเจ้าปัญหาทั้งก่อนและหลังการเข้ามาเป็นสมาชิก กรีซไม่ค่อยให้ความร่วมมือและมีวิธีบริหารประเทศที่ดูออกนอกลู่นอกทางอย่างเสมอต้นเสมอปลาย กรีซเข้าเป็นสมาชิก EC เป็นลำดับที่ 10 ในปีค.ศ. 1981 ฝรั่งเศสสนับสนุนส่วนหนึ่งเพราะต้องการมีอิทธิพลและขายอาวุธให้แก่กรีซ 

อดีตประธานาธิบดีของฝรั่งเศส Giscard d’Estaing บอกว่ากรีซคือรากเหง้าของอารยธรรมตะวันตก โดยเฉพาะเรื่องประชิปไตย ต้องสนับสนุน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการเข้ามาเป็นสมาชิกของกรีซที่ความเห็นของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ซึ่งให้กรีซเตรียมความพร้อม 10 ปี ตั้งแต่ปีค.ศ. 1976 เพื่อเข้าเป็นสมาชิก ถูกเปลี่ยนแปลงและยกเลิกโดยสภารัฐมนตรี ผ่านมา 30 ปี เมื่อกรีซเผชิญวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่ในปีค.ศ. 2010 Giscard d’Estaing สารภาพยอมรับความจริงกับผู้นำเยอรมัน Helmut Kohl ว่ามองย้อนอดีต เขาคิดว่า Kohl มองกรีซได้ถูกต้องกว่าเขา วันนั้นเขาเข้าใจกรีซผิด เขาคิดว่า “กรีซเป็นพวกตะวันออกหรือ Oriental” ซึ่งเขาหมายความว่ายังเป็นพวกล้าหลัง

ในหลักการและความคาดหวัง ประเทศที่รายได้ต่อหัวหรือความเจริญความทันสมัยในด้านต่างๆ ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EC) หรือสหภาพยุโรป (EU) หรือสหภาพการเงินยุโรป (Euro) ล้วนคาดหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือและเงินอุดหนุนและปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ประชาคมหรือสหภาพกำหนดไว้เพื่อไต่เต้าลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ (Convergence) กรีซเป็นประเทศหนึ่งตั้งแต่เริ่มแรกที่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าและพยายามทำทุกวิถีทาง เล่นแร่แปรธาตุ แม้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องทำนองครองธรรม (เช่น รายงานข้อมูลการขาดดุลการคลังต่ำกว่าความเป็นจริงมากหลายครั้งทั้งก่อนและหลังการเข้ามาเป็นสมาชิก รับเงินอุดหนุนช่วยเหลือโครงการต้นมะกอกโดยสร้างข้อมูลผีไม่มีจริงซึ่งทำได้เพราะระบบทะเบียนที่ดินล้าหลัง ข้อมูลเศรษฐกิจของกรีซ นักวิชาการคิดว่าไม่น่าเชื่อถือ เป็นต้น) เป็นที่น่าเสียดาย ในความเป็นจริง เมื่อเวลาผ่านไป ไม่ว่า EC หรือ EU หรือ EURO ไม่สามารถพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงกรีซให้สมฐานะกับการเป็นประเทศกลุ่มรายได้สูง

ถ้าย้อนอดีตในทศวรรษ 60 ประเทศเช่น ไอร์แลนด์ สเปน โปรตุเกส ล้วนอยู่ในกลุ่มประเทศที่รายได้และระดับความเจริญใกล้เคียงกับกรีซคืออยู่ในกลุ่มประเทศที่ยังยากจนโดยเปรียบเทียบเมื่อเทียบกับกลุ่มยุโรปเหนือและตะวันตก หลายสิบปีผ่านไป ไอร์แลนด์และสเปน เมื่อเข้า EU และ EURO ทำได้ดีกว่ากรีซในการเขยิบฐานะทางเศรษฐกิจของตัวเองใกล้เข้าไปเท่ากับกลุ่มรายได้สูง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น อะไรคือปัญหา

ความแตกต่างของประเทศกลุ่มยุโรปใต้ เช่น กรีซ สเปน โปรตุเกส กับยุโรปเหนือหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่สำคัญคือกลุ่มยุโรปใต้เพิ่มมาเป็นประชาธิปไตยในทศวรรษ 70 ช่วงค.ศ. 1967-1974 กรีซยังมีรัฐบาลเผด็จการทหาร ประเด็นที่น่าสนใจของกรีซน่าจะอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยกับความเจริญเติบโตหรือการพัฒนาและคุณภาพของสถาบัน บทสรุปที่สำคัญสำหรับกรีซน่าจะอยู่ที่ว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 หรือกว่า 60 ปี 

ในภาพรวม กรีซมีเพียงช่วงสั้นๆ ระหว่างปีค.ศ. 1950-1973 ที่เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ในอัตราที่สูง เงินเฟ้อต่ำ รัฐบาลไม่ขาดดุล แปลกแต่จริง เมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ปีค.ศ. 1974 เรื่อยมา 20 ปีเศษ รายได้ต่อหัวโตได้เฉลี่ยเพียงแค่ปีละ 1.5% เท่านั้น ทั้งๆ ที่ยังเป็นประเทศที่รายได้ต่ำยากจนโดยเปรียบเทียบ ที่สำคัญกว่านั้น การเติบโตที่ต่ำนี้เกิดขึ้นในบริบทที่การบริหารเศรษฐกิจมหภาคเป็นไปอย่างไม่มีคุณภาพ ผลิตภาพโดยรวมต่ำ การคลังขาดดุลสูงถึงสองหลักต่อจีดีพีและเรื้อรัง (แต่เมื่อจะเข้าร่วมยูโร รัฐบาลก็ลดการขาดดุลให้เหลือร้อยละ 2 ได้อย่างน้อยชั่วคราว) นโยบายการเงินหละหลวม เงินเฟ้อสูงตลอด และที่ร้ายแรงมากคือคุณภาพของภาครัฐ โดยมาตรฐานของ EU ยุโรปเหนือ รัฐกรีซคือรัฐล้มเหลว เป็น Patrimonial state คือรัฐที่คนเอาสมบัติของรัฐและส่วนรวมเป็นสมบัติส่วนตัว ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ระบบการเมืองและระบบสังคมของกรีซที่ผ่านมาค่อนข้างยาวนาน ระบบการเมืองเป็นระบบอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก ทีใครทีมัน ระหว่างพรรคฝ่ายซ้าย (PASOK) และขวา (New democracy หรือ ND) ส่งผลให้ภาครัฐขยายตัวรวดเร็วใหญ่โตในช่วงที่เป็นประชาธิปไตย ก่อนวิกฤต กรีซมีระบบบำนาญที่ใจดีมาก เคยใช้เงินภาครัฐถึงร้อยละ 10 ของจีดีพี รัฐบาลกรีซพยายามปฏิรูปเพื่อเข้าร่วมยูโรในปีค.ศ. 1999 แต่ความพยายามหลายอย่างล้มเหลว เป็นของเทียมมากกว่าของจริง เห็นได้จากปัญหาที่ตามมาภายหลัง สังคมกรีซไม่มีใครไว้ใจใคร โดยเฉพาะต่อนักการเมืองและภาครัฐสะท้อนออกมาให้เห็นจากระดับการหนีภาษีที่ทำกันทุกระดับ เศรษฐกิจใต้ดินสูงถึงเกือบร้อยละ 30 ของจีดีพี

นี่เป็นผลพวงของประวัติศาสตร์ที่เคยถูกปกครองโดย Ottoman ทำให้คนกรีกแสดงออกถึงความรักชาติโดยหนีภาษีเลยติดเป็นนิสัยทำเรื่อยมาเมื่อได้เอกราช แปลกแต่จริง ช่วงเศรษฐกิจโต รายได้ภาษีไม่โตตามสัดส่วนจนรัฐต้องเก็บภาษีทรัพย์สินควบไปกับบิลค่าไฟ เป็นต้น