อูเบอร์กับแท็กซี่: การใช้บริการและข้อกฎหมายที่แตกต่าง (จบ)

อูเบอร์กับแท็กซี่: การใช้บริการและข้อกฎหมายที่แตกต่าง (จบ)

ในขณะที่รัฐได้แต่รณรงค์ทำป้ายโฆษณาเมาไม่ขับ หรือเมาแล้วขับรถชนคนตายไม่ใช่ประมาทแต่คือฆาตกร

ซึ่งเป็นการเผยแพร่โฆษณาเนื้อหากฎหมายที่ผิดไปจากเรื่องเจตนาและประมาทที่แยกกันเด็ดขาดในหลักกฎหมายอาญา การที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนต่างๆ ดังกล่าวสามารถคิดค้นวิธีการโลจีสติกส์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในสังคมได้นั้น เราต้องยอมรับว่าเป็นเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐเองประสบความล้มเหลวในการพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ที่มีสวัสดิภาพและปลอดภัยให้กับผู้โดยสารในประเทศไทย

ในปัจจุบัน ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายยอมรับสถานะของอูเบอร์และ Grab Taxi ตามกฎหมายภายในของหลายมลรัฐแล้ว เช่น แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ค เวอร์จิเนีย เพนซิลวาเนีย ฯลฯ โดยมีการเรียกธุรกิจการให้บริการรับส่งโดยสารบุคคลเช่นนี้ว่า “TNCs” (transportation network company) หรือ “MSPs” (mobility service providers) ซึ่งไม่จำกัดอยู่เพียงยี่ห้ออูเบอร์หรือ Grab Taxi เพียงเท่านั้น แต่มีหลากหลายบริษัทด้วยกัน เช่น Gett, Lyft, Juno, Cabify, goCatch, Via, GoCar, GO-JEK, Taxify, Easy Taxi, Feasten ฯลฯ

โดย TNC นั้น หมายถึงบริษัทที่ประกอบธุรกิจขนส่งรถโดยสารที่จะต้องใช้รถโดยสารส่วนตัว (personal vehicle) เท่านั้น และตามกฎหมายของสหรัฐไม่ถือเป็นการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะหรือรถยนต์พาณิชย์ (non-commercial vehicle) แต่อย่างใด ทั้งวิธีการเรียกรับผู้โดยสารนั้น จะต้องเรียกผ่านระบบแอฟพลิเคชั่นของมือถือหรือคอมพิวเตอร์แค่เท่านั้น การโดยสารแบบ TNC หรือ ridesharing จึงไม่ใช่รถยนต์ประเภทที่สามารถขับขี่เร่ร่อนทั่วๆ ไปบนนท้องถนนเพื่อคอยรับผู้โดยสารที่รอโบกรถอยู่ข้างถนนได้ ซึ่งข้อนี้ทำให้กฎหมายในสหรัฐได้บัญญัติให้ TNC แตกต่างไปจากระบบขนส่งโดยสารสาธารณะ และจะไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคปัญหาจราจรเหมือนระบบรถแท็กซี่โดยสารสาธารณะทั่วๆไป ที่จอดรถกระจุกกันเพื่อรอคอยรับผู้โดยสารสองข้างทางจนรถติดขัดกันไปทั้งถนน

ดังนั้น การนำรถยนต์ส่วนบุคคล (private vehicle) มาให้บริการรับส่งแบบ ridesharing จึงแตกต่างไปจากระบบการขนส่งสาธารณะและไม่ใช่เป็นการใช้งานรถผิดประเภทตามที่หลายๆ ฝ่ายเข้าใจ ซึ่งเป็นลักษณะทำนองเดียวกันกับการให้บริการเช่ารถส่วนบุคคลพร้อมมีคนขับขี่ให้ ซึ่งถือเป็นข้อตกลงกันโดยทั่วๆไปได้ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญาระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการรถยนต์ส่วนบุคคล โดยไม่จำเป็นต้องผ่านระบบทางทะเบียนขนส่งสาธารณะแต่อย่างใด

เมื่อพูดถึงเรื่องระบบการขนส่งสาธารณะที่ควบคุมคุณภาพโดยฝ่ายรัฐแล้ว มีข้อน่าสังเกตว่า หน่วยงานรัฐได้อ้างว่ามีระบบการควบคุมการสอบใบขับขี่ของรถยนต์สาธารณะ มีตรวจสอบและการอบรมผู้ขับขี่ ทั้งคุณภาพมาตรฐานของรถยนต์โดยสารแท็กซี่ทุกคันก่อนออกให้บริการรับส่งผู้โดยสาร โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ให้เหตุผลว่า ใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลกับรถบริการสาธารณะนั้นจะแตกต่างกัน โดยผู้ขับขี่รถแท็กซี่ได้รับการตรวจพิสูจน์แล้วว่าผ่านการตรวจร่างกาย ตรวจประวัติอาชญากรรม ตรวจสารเสพติด อย่างเข้มงวดเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ในการขับรถให้บริการผู้อื่น

ถ้าเป็นเช่นที่ ขบ.กล่าวอ้างจริง การใช้บริการรถยนต์แท็กซี่ก็ย่อมต้องมีความปลอดภัยในสวัสดิภาพและทรัพย์สินมากกว่าการใช้บริการอูเบอร์หรือ Grab Taxi และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง สภาพของรถยนต์ที่ใช้ คุณภาพและการให้บริการของแท็กซี่สาธารณะโดยการรับรองของ ขบ. ย่อมจะต้องดีกว่าอูเบอร์หรือ Grab Taxi เป็นแน่แท้ โดยแท็กซี่ไม่ต้องกลัวที่จะรับผลกระทบจากคู่แข่งอย่างอูเบอร์หรือ Grab Taxi แต่อย่างใด

แต่ทุกวันนี้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนท้องถนนในสังคมไทยกลับส่งผลออกมาในทิศทางตรงกันข้ามและฟ้องชัดแล้วว่า รถแท็กซี่หรือผู้มีใบขับขี่รถยนต์สาธารณะนั้น ไม่ได้ขับขี่ให้ได้คุณภาพ ปลอดภัย หรือมีมารยาทบนท้องถนนตามที่ ขบ.ได้กล่าวอ้าง ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่จะเราต้องย้อนกลับมาดูว่า ระบบการคัดกรองคุณภาพของผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ และการตรวจสภาพรถแท็กซี่ของกรมการขนส่งทางบกนั้นมีประสิทธิภาพหรือด้อยประสิทธิภาพกันแน่ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับระบบการตรวจคุณภาพรถและการประเมินคะแนนผู้ขับขี่ของฝ่ายเอกชน

จากการสัมภาษณ์ของผู้ใช้บริการอูเบอร์ และ GrabTaxi ส่วนใหญ่ได้ให้เหตุผลว่า ที่เลือกใช้เนื่องจากมีความปลอดภัยมากกว่าแท็กซี่ และไม่เสี่ยงกับการที่ถูกทอดทิ้งระหว่างทาง หรือโกงราคาค่าโดยสารโดยการปิดมีเตอร์ แสดงให้เห็นถึงว่า ผู้ใช้บริการ ridesharing หรือ private car ในประเทศไทยนั้น ไม่ได้ให้ความไว้วางใจในคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ขับขี่และสภาพความสมบูรณ์ของรถแท็กซี่สาธารณะเลย ในขณะเดียวกันรถโดยสารส่วนบุคคลอย่าง อูเบอร์และ Grab Taxi กลับให้ความสำคัญกับสภาพรถและความสมบูรณ์ของรถยนต์ที่ใช้ โดยผู้ขับขี่อูเบอร์ส่วนใหญ่จะใช้รถของตัวเอง รถที่ซื้อด้วยเงินตัวเองและผ่อนมาเอง จึงคอยซ่อมบำรุงและรักษาความสะอาดอยู่ตลอดเวลา รวมถึงเรื่องการทำประกันภัยที่เจ้าของรถจะต้องทำประกันภัยขั้นต่ำคุ้มครองบุคคลที่สาม ซึ่งครอบคลุมรวมไปถึงการได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถของผู้โดยสารในรถยนต์ส่วนบุคคลดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ทางเลือกระหว่างอูเบอร์กับแท็กซี่นั้น มีสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างไม่อาจทดแทนกันได้ด้วยเช่นกัน นอกเหนือไปจากเรื่องการให้บริการ ความปลอดภัยและสวัสดิภาพแล้ว วิธีการใช้งานของการให้บริการย่อมแตกต่างกันออกไปด้วย เช่นว่า ถ้าท่านผู้อ่านจะโบกเรียกรถข้างทางเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง ท่านจะใช้บริการอูเบอร์หรือ Grab Taxi ไม่ได้ และในขณะเดียวกันถ้าท่านต้องการจะเรียกรถเพื่อไปรับผู้โดยสารเพิ่มเติมอีกคน สองคน หรือสามคน เพื่อไปยังจุดหมายเดียวกัน เช่นจะหารถเพื่อนั่งไปรับญาติผู้ใหญ่อีกบ้านเพื่อพาไปโรงพยาบาลพร้อมๆ กัน โดยต้องแวะหลายจุด ท่านก็จะใช้บริการจากแท็กซี่ไม่ได้เช่นกัน เพราะแท็กซี่จะปฏิเสธ หรือไม่ก็ขอกดมีเตอร์เพิ่มทุกครั้งที่รับคนขึ้น ในกรณีนี้ท่านสามารถใช้ระบบ ridesharing ของอูเบอร์หรือ Grab Taxi ได้

นอกจากนี้ TNC หรือระบบ ridesharing ยังให้ความปลอดภัยกับสุภาพสตรีที่มีบ้านอยู่ในซอยเปลี่ยว สถานที่ที่หารถแท็กซี่ได้ยาก หรืออยู่ในซอยลึกไปมากๆ จากถนนใหญ่ ฉะนั้น เมื่อเราเข้าใจเรื่องราว วัตถุประสงค์ของการให้บริการ และข้อกฎหมายของอูเบอร์จากพัฒนาการในต่างประเทศแล้ว จึงต้องยอมรับว่า ระบบการโดยสารแบบร่วมเดินทาง หรือ ridesharing นั้น มิใช่การใช้ถ้อยคำที่ใช้ตะแบงคำพูดแบบศรีธนญชัยแต่อย่างใด เพราะในปัจจุบัน ประเทศสหรัฐอเมริกาและในอีกหลายประเทศ คำว่า TNC, ridesharing, Uber และ GrabTaxi จึงไม่ใช่นิยามของคำว่า แท็กซี่ในความหมายเดิมๆ อีกต่อไป

**************

ปรวิชย์ มะกรวัฒนะ

อัยการผู้เชี่ยวชาญ