ว่าด้วยเรื่อง พรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (จบ)

ว่าด้วยเรื่อง พรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (จบ)

สมพร มโนดำรงธรรม บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

ในตอนที่แล้วผู้เขียนได้นำเรียนให้ทราบเกี่ยวกับหลักการและเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 (พ.ร.ก. ต่างด้าวฯ) กันไปแล้ว ในวันนี้ ผู้เขียนจึงขอนำรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญหลักๆ มาเล่าสู่กันฟังเพื่อความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น

ประเด็นหลักของกฎหมายฉบับนี้ประกอบด้วย 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือ การกำหนดบทบัญญัติให้การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยโดยผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงาน (ผู้รับอนุญาตฯ) หรือโดยนายจ้างเองจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งจากบทบัญญัติของกฎหมายมาตรานี้จะเห็นได้ว่าการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้นสามารถกระทำได้ 2 ช่องทาง คือ

(1) การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยผ่านผู้รับอนุญาตที่ต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศจากอธิบดีกรมการจัดหางานเท่านั้น หรือ

(2) กรณีนายจ้างเป็นผู้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศโดยตนเองโดยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการจัดหางานเช่นกัน

พ.ร.ก. ต่างด้าวฯ ได้ให้ความหมายของคำว่า “การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน” ว่าหมายถึงการดำเนินการใดๆ เพื่อนำคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศหรือตามนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการจ้างแรงงานมาทำงานกับนายจ้างในประเทศโดยจะมีค่าบริการหรือค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการทำ “บันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือด้านแรงงานกับรัฐบาลต่างประเทศ” (Memorandum of Understanding : MOU) และ “ข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน” กับประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อให้มีการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง

ประเด็นที่ 2 คือ การที่ พ.ร.ก. ต่างด้าวฯ ได้กำหนดบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวไว้หลายประการ อาทิเช่น

(1) กำหนดห้ามผู้รับใบอนุญาตฯ หรือนายจ้างเรียกหรือรับเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดจากคนต่างด้าว หากฝ่าฝืนจะเป็นความผิดทางอาญาโดยผู้รับใบอนุญาตจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีและปรับห้าเท่าของเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นที่เรียกจากคนต่างด้าว หรือกรณีนายจ้างเป็นผู้กระทำความผิดจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อการเรียกหรือรับเงินหรือทรัพย์สินใดๆ จากคนต่างด้าวหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ

(2) กำหนดห้ามผู้ใดยึดใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวไว้ หากฝ่าฝืนจะเป็นความผิดทางอาญาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

(3) กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตฯ ที่นำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ หรือนายจ้างต้องจัดส่งคนต่างด้าวซึ่งไม่ได้ทำงานกับนายจ้างแล้วกลับไปยังประเทศต้นทางภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด หากผู้รับใบอนุญาตฯ ฝ่าฝืนจะมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หรือกรณีนายจ้างเป็นผู้กระทำความผิดจะต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน

(4) กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตฯ หรือนายจ้างที่นำคนต่างด้าวมาทำงานด้วยตนเองต้องมีการวางหลักประกันเพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศเป็นจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย (เช่น ไม่น้อยกว่า 5,000,000 บาท สำหรับผู้ประกอบธุรกิจนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย) โดยหลักประกันนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อชดใช้ค่าเสียหายในกรณีต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการส่งคนต่างด้าวกลับไปยังประเทศต้นทางหากขอรับอนุญาตหรือนายจ้างไม่ดำเนินการส่งแรงงานต่างด้าวกลับยังประเทศต้นทางเมื่อคนต่างด้าวเลิกทำงานกับนายจ้าง โดยหลักประกันนี้ พ.ร.ก. ต่างด้าวฯ ได้กำหนดให้ความคุ้มครองไว้ว่าไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตราบเท่าที่ผู้รับใบอนุญาตฯ หรือนายจ้างยังมีความรับผิดที่ต้องชดใช้ตาม พ.ร.ก. ต่างด้าวฯ กล่าวคือ เจ้าหนี้อื่นไม่สามารถมาเรียกร้องบังคับการชำระหนี้ของตนจากหลักประกันจำนวนนี้ได้

ในส่วนของบทกำหนดโทษของคนต่างด้าวและนายจ้าง ซึ่งปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมายนั้น พ.ร.ก. ต่างด้าวฯ ได้กำหนดอัตราโทษสำหรับความผิดต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นมากโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการป้องปรามการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย เช่น

(1) คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานที่กำหนดเป็นประเภทงานต้องห้ามที่ให้คนต่างด้าว คนต่างด้าวซึ่งกระทำความผิดจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(2) ผู้ใดรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงแปดแสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน

(3) ผู้ใดให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่แสนบาทต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน

(4) นายจ้างผู้ใดไม่แจ้งการออกจากงานของลูกจ้างต่อนายทะเบียนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ผู้รับอนุญาตให้ทำงานออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

คงต้องรอดูกันว่าความพยายามของรัฐบาลที่ใช้ยาแรงเพื่อการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยกำหนดบทลงโทษหนักขึ้นต่อผู้ใช้แรงงานที่ไม่ถูกกฎหมาย เมื่อพ้นระยะเวลาการงดการบังคับใช้บทบัญญัติบางมาตราของ พ.ร.ก. ต่างด้าวฯ ตามคำสั่ง คสชฯ ในวันที่ 1 ม.ค. 2561 จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และนำไปสู่การแก้ปัญหาการใช้แรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายของประเทศเราได้หรือไม่

******************

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่