นโยบายการเงิน คำตอบที่ไม่เคยตรงคำถาม

นโยบายการเงิน คำตอบที่ไม่เคยตรงคำถาม

นโยบายการเงิน คำตอบที่ไม่เคยตรงคำถาม

ต้นปีที่ผ่านมาการวางกลยุทธ์รับมือโลกการเงินโลกในยุคที่สหรัฐมีประธานาธิปดีที่ชื่อโดนัลทรัมป์และเฟดพร้อมขึ้นดอกเบี้ยเป็นโจทย์ที่นักวิเคราะห์ทุกคนต้องตอบ และผมก็ตอบเสมอว่า “เราก็ต้องรู้ให้ทัน ขยับให้เร็ว รับกับตลาดเงินที่จะพลิกไปมาบ่อยกว่าที่เคยเป็น”

แล้วก็เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ผมทายผิด ไม่ว่าเงินบาทจะแข็งค่าเท่าไหร่ โดนัลทรัมป์เฟลขนาดไหน หรือเงินเฟ้อไทยจะต่ำเพียงไร ดอกเบี้ยนโยบายไทยยังนิ่งไม่ไหวติงแม้แต่น้อย ตั้งคำถามว่า เราทำดีสุดได้แค่มองอย่างนี้จริงหรือ

สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในตลาดการเงิน ผมกระตุ้นความจำให้ว่าดอกเบี้ยนโยบายเราคือ 1.5% และอยู่ตรงนี้มาตั้งแต่ 29เม.ย.58 หรือ 2 ปีกว่าแล้ว

ผ่านมาครึ่งปีตลาดมีแนวโน้มชัดมาก ดอกเบี้ยเป็นนโยบายที่สามารถชนกับตลาดได้ตรงที่สุด แต่นโยบายที่ถูกหยิบมาใช้กลับเป็นการเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และการควบคุมปริมาณพันธบัตรระยะสั้น

ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1.71 แสนล้านเหรียญสิ้นปีที่แล้ว มาที่ระดับ 1.89 แสนล้านเหรียญในปัจจุบัน สูงที่สุดทำสถิติใหม่ ขณะที่มูลค่าดอลลาร์ที่ซื้อมากลับอ่อนค่าลงถึง 7.5% หรือเฉพาะเงินเก่าก็ขาดทุนถึง 4.4 แสนล้านบาทแล้ว ตั้งคำถามว่าเราจะซื้อดอลลาร์แพงไปทำไม

ขณะที่การลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นในช่วงที่เงินบาทแข็ง ก็ส่งผลให้ดอกเบี้ยในตลาดถูกกดลงต่ำจนผิดปรกติ ยีลด์พันธบัตรอายุ 1 เดือนร่วงลงมาถึงระดับ 1.05% ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.45% และต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤษแฮมเบอร์เกอร์ เกิดคำถามอีกว่าดอกเบี้ยของไทยควรเป็นเท่าไหร่กันแน่ ทำไมธปท.จึงต้องตั้งดอกเบี้ยที่ 1.5% ทั้งที่สามารถกู้ได้ในอัตราที่ต่ำกว่านี้มาก และไม่เข้าใจว่าจะสร้างความไม่สมดุลให้กับตลาดเงินไปเพื่ออะไร

ผมก็คงตอบคำถามเหล่านี้แทนธปท.ไม่ได้

ขอเสนอมุมมองส่วนตัวว่าสถานการณ์ทั้งดอกเบี้ยที่ต่ำและเงินบาทที่แข็งตอนนี้เกิดมาจากปัญหาของทั้งคนซื้อและคนขาย

ฝั่งขายดอลลาร์มองไม่ออกว่าจะเลิกขายทำไม เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่เคยเป็นตัวช่วยก็ไม่พอที่จะดันให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่า ขณะที่การเมืองสหรัฐก็ยิ่งแย่หนักเข้าไปอีก เดาไม่ออกเลยว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

แต่ฝั่งที่มีเงินบาทก็มองไม่เห็นประโยชน์ในการถือเงินบาทเช่นกัน ด้วยเงินเฟ้อที่ต่ำ การลงทุนเอกชนที่ชะลอ และสภาพคล่องที่สูง คนถือบาทสิ้นหวังถึงขนาดยอมรับดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ยแค่ไหนก็ยอม

สถานการณ์นี้ถือเป็นความเสี่ยงอย่างมากสามจุดต่อตลาดการเงินครับ

อย่างแรก ถ้าดอลลาร์กลับตัวไม่ได้ เงินบาทก็จะแข็งค่าต่อด้วยเพราะตลาดไม่ได้รับแรงกดดันจากนโยบายการเงินใด ๆ การเก็งกำไรด้วยการขายดอลลาร์ก็จะยิ่งมากขึ้น

กลับกันถ้าดอลลาร์เกิดกลับตัวขึ้นมาจริง ฟองสบู่ตราสารหนี้ระยะสั้นก็จะแตกทันที เพราะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายมากเกินไป สร้างความผันผวนรุนแรงกับตลาด

และสุดท้ายถ้าเรายังตั้งดอกเบี้ยนโยบายโดยไม่สนใจตลาด อนาคตตลาดก็จะไม่ตอบสนองกับนโยบายการเงิน ไม่เป็นผลดีทั้งการกำกับดูแลตลาดของธปท.และเสถียรภาพของตลาดการเงินไทยในอนาคต

ภาวะแบบนี้ถ้าดอกเบี้ยนโยบายยังถูกปล่อยล่องลอยต่อไป ผู้ประกอบการและนักลงทุนคงต้องช่วยตัวเองกันไปก่อนครับ เพราะลำบากที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่ากลับได้ในระยะสั้น หรือถ้าอ่อนค่ามาจริงก็อาจจะแรงจนต้องระวังเหมือนกัน ทางที่ดีที่สุดคือพยายามฝึกใช้สกุลเงินอื่นนอกจากดอลลาร์ไว้บ้าง หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ดอลลาร์จริง ๆ ก็ควรทำประกันความเสี่ยงเอาไว้ด้วย

ส่วนตัวผมยังเชื่อว่า เราสามารถจัดการนโยบายการเงินได้ดีกว่านี้ครับ อยู่ที่ว่าเราเลือกที่จะทำหรือไม่ เกมการเงินคือเกมที่เล่นหลายคนครับ ถ้าไม่เดินเลย หรือไม่ชนตรง ๆ บ้างก็ยากที่จะได้อยู่ในตำแหน่งที่ดีสุดบนกระดานนี้ครับ