อูเบอร์กับแท็กซี่ : การใช้บริการและข้อกฎหมายที่แตกต่าง (1)

อูเบอร์กับแท็กซี่ : การใช้บริการและข้อกฎหมายที่แตกต่าง (1)

ปรวิชย์ มะกรวัฒนะ อัยการผู้เชี่ยวชาญ

ปัญหาการให้บริการขับขี่รถยนต์อูเบอร์รับส่งผู้โดยสารนั้น เป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นมาตลอดในช่วงเวลาประมาณ 4-5 ปี ในหลายประเทศทั่วโลก บางประเทศได้มีการแบนหรือห้ามการให้บริการขับขี่อูเบอร์ด้วยเหตุผลว่าเป็นแท็กซี่เถื่อน คือไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนรถยนต์โดยสารสาธารณะ ทั้งผู้ขับขี่ก็มิได้มีใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ ในขณะที่บางประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดยนีเซีย สหรัฐ ก็ได้มีกฎหมายรองรับการใช้งานของการให้บริการอูเบอร์ผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ 

ประเด็นดังกล่าวยังมีการถกเถียงกันมาตลอดจนถึงปัจจุบันในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย โดยที่ล่าสุดกรมการขนส่งทางบกได้ประกาศชัดว่าอูเบอร์เป็นการให้บริการแท็กซี่ที่ผิดกฎหมาย แต่อูเบอร์ได้ยืนยันว่าไม่ใช่แท็กซี่และไม่ยุติการให้บริการโลจิสติกส์ประเภทนี้ในประเทศไทย

หากพิจารณาโดยเนื้อแท้ระบบโลจิสติกส์ของอูเบอร์นั้น จะพบว่าการให้บริการรับส่งโดยสารระหว่างอูเบอร์กับแท็กซี่นั้น มีความคล้ายคลึงกันจนบ่อยครั้ง ผู้คนเข้าใจผิดว่าอูเบอร์ก็คือแท็กซี่ประเภทหนึ่งที่เพียงเรียกได้โดยการใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น โดยฝ่ายอูเบอร์เองก็ได้ปฏิเสธมาตลอดว่า อูเบอร์มิใช่การให้บริการเช่นแท็กซี่ แต่เป็นรูปแบบใหม่การให้บริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) บริการผ่านสมาร์ทโฟน 

การเกิดขึ้นของอูเบอร์ในแต่ละประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับว่าระบบขนส่งมวลชนของแต่ละประเทศว่ามีประสิทธิภาพและรองรับการขยายตัวของสังคมเมืองและประชากรมากน้อยเพียงใด

เช่นในประเทศญี่ปุ่นผู้คนกลับไม่นิยมใช้บริการอูเบอร์ เนื่องจากว่าบริการแท็กซี่ของเขานั้นมีระบบระเบียบชัดเจน มีความสะอาด สุภาพและปลอดภัยกับผู้โดยสาร ผู้ขับขี่แม้จะสูงวัยแต่ก็มีมารยาทและให้ความช่วยเหลือกับผู้โดยสารเป็นอย่างมาก ธุรกิจอูเบอร์ในญี่ปุ่นจึงไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนเท่าไรนัก ในทางตรงกันข้าม การใช้บริการโดยสารแท็กซี่ในประเทศไทยนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้โดยสารจะต้องมีความเสี่ยงภัยกับการไร้มารยาทและนิสัยที่เกเรของผู้ขับขี่ การทอดทิ้งผู้โดยสารลงจากรถ การปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารด้วยเหตุผลต่างๆ นานา และการดูแลของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบก็ปล่อยปละละเลย ขาดประสิทธิภาพ ทำให้เกิดภาพและหลักฐานวีดิโอต่างๆ ออกมาว่า ผู้ขับขี่แท็กซี่ทะเลาะวิวาทกับผู้โดยสารจนถึงขั้นไล่ผู้โดยสารที่เป็นผู้หญิงและเด็กลงจากรถแท็กซี่ ดังนั้น จึงมิใช่เรื่องแปลกที่ ระบบโลจิสติกส์อูเบอร์หรือ Grab taxi กลับได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย

เป็นที่น่าแปลกใจและน่าเสียดายที่ประเทศไทยมีนโยบายต้อนรับนักท่องที่ยวจากต่างประเทศ จนถึงขนาดว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาใช้จ่ายเงินมากที่สุด แต่ในทางกลับกันระบบโลจิสติกส์และการขนส่งสาธารณะในประเทศไทยกลับเสมือนหนึ่งล้าหลังไม่ได้รับการพัฒนาให้ทันสมัยสมกับเป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยวของโลกเลย 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขับรถเมล์อันธพาลที่เป็นตำนานอย่างรถเมล์สาย 8 แฮปปี้แลนด์ หรือเรื่องการข่มขู่และไล่ผู้โดยสารลงจากรถแท็กซี่ การขูดรีดค่าโดยสารในอัตราสูงมากของรถแท็กซี่และตุ๊กตุ๊ก (คนต่างชาติฝากคอมเพลนมาว่า ถูกตุ๊กตุ๊กไทยเรียกค่าโดยสารจากถนนข้าวสารมาโรงพยาบาลกลางในราคา 500 บาท)

ความเสี่ยงภัยในภยันตรายต่างๆนานาในระบบการขนส่งสาธารณะบนท้องถนนเมืองไทยนั้น จึงยิ่งเป็นเรื่องโจษจันกันอย่างกว้างขวางในโลกโซเซียล นอกจากคลิปวีดิโอต่างๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต ประสบการณ์ของผู้เขียนเองก็เคยโดนไล่ลงจากรถแท็กซี่ในขณะที่รถติดขัด คนขับแท็กซี่อ้างว่าทางไปปลายทางนั้นรถติดมาก ขอให้ลงตรงนี้เพื่อเรียกคันอื่นแทน โดยกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “พี่จะร้องเรียนผมก็ได้นะ แต่ยังไงพี่ก็ต้องลงตรงนี้เพราะผมไม่ไปทางนั้น” 

นั่นคือคำสุภาพก็จริง แต่สุดท้ายแล้วผู้เขียนก็ต้องลงจากรถไปเรียกแท็กซี่คันอื่น ทั้งๆที่เวลานั้นเป็นกลางคืน รถติดและหารถยากมากๆ นั่นหมายถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเราจะต้องขึ้นอยู่กับระบบแท็กซี่ที่ขาดไร้ความรับผิดชอบเพียงกระนั้นหรือ ส่วนระบบการร้องเรียนของกรมการขนส่งทางบกก็ไม่ใช่ประโยชน์ใดๆ ที่ผู้โดยสารต้องการจะได้จากการโดยสารสาธารณะ แต่เป็นเรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการเดินทางมากกว่า

พัฒนาการของระบบโลจิสติกส์ในสังคมนั้น ได้มีวิวัฒนาการเกิดขึ้นใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจและต่อยอดไปถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาเรื่องระบบแท็กซี่ที่ไร้คุณภาพเหล่านี้จึงมิใช่เพียงปัญหาเศรษฐศาสตร์ระดับจุลภาคเพียงเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับมหภาคและกระทบถึงภาพลักษณ์การท่องเที่ยวและสะท้อนถึงความเป็นอยู่อย่างด้อยคุณภาพของผู้คนในประเทศไทยด้วย

ส่วนในมุมมองของกฎหมายนั้น กฎหมายจราจรแม้ว่าจะเป็นกฎหมายอาญาก็จริง แต่ในทางทฤษฏีกฎหมายก็ถือเป็นกฎหมายอาญาที่เป็นในส่วนของกฎหมายเทคนิค นั่นหมายถึง กฎหมายเทคนิคจะต้องไม่แข็งกระด้างและเข้มงวดกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจจนเกินไป จนทำให้สังคมเกิดความไม่ยืดหยุ่นในการขับเคลื่อนบนหลักเศรษฐศาสตร์ 

ดังนั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ซึ่งบังคับใช้มาเกือบ 40 ปี ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ก็ควรมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยเพื่อตอบสนองความต้องการในระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบสาธารณะและระบบเอกชนสมัยใหม่อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน

ผู้เขียนเคยใช้บริการคนขับรถจากผู้ประกอบการ You Drink I Drive ให้กับญาติ ซึ่งเป็นการให้บริการคนขับรถ (chauffeur) เดินทางมารับกรณีเจ้าของรถไม่สามารถขับขี่ได้อย่างมีสมรรถนะเนื่องจากได้ดื่มสุราจนมึนเมา ซึ่งเป็นการให้บริการเฉพาะผู้ขับขี่รถยนต์เท่านั้น เพราะเขาจะนั่งแท็กซี่มาขับขี่รถแทนเราจนถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ การให้บริการประเภทนี้จะทำให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ขับขี่รถยนต์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก

ติดตามตอนจบ