การบริหารกิจการที่ดี กับธุรกิจขนาดเอสเอ็มอี

การบริหารกิจการที่ดี กับธุรกิจขนาดเอสเอ็มอี

เรามักจะได้ยินเรื่องเกี่ยวกับความบกพร่องในการบริหารจัดการที่ดีของธุรกิจเสมอเมื่อเกิดกรณีที่บริษัทขนาดใหญ่

ต้องประสบปัญหาถึงขั้นทำให้บริษัทต้องล่มสลายอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่เมื่อพูดถึงเรื่องของการบริหารจัดการที่ดีสำหรับธุรกิจขนาดเอสเอ็มอี คำตอบที่ได้รับจากเจ้าของหรือผู้บริหาร มักจะออกมาในทำนองที่ว่า 

เอสเอ็มอีมีภารกิจอื่นมากมายที่ต้องทำเพื่อให้อยู่รอด เรื่องการบริหารกิจการที่ดีเป็นเรื่องของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น!!

แต่ในยุคที่เจ้าของหรือผู้บริหารกิจการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่กลายเป็นเป็นทายาทรุ่นที่ 2 หรือรุ่นที่ 3 ที่มีพื้นฐานการศึกษาที่สูงขึ้นแนวทางการทำธุรกิจย่อมจะต้องแตกต่างไปจากรุ่นบุกเบิกไปบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับวิธีบริหารจัดการธุรกิจภายใต้หลักการบริหารกิจการที่ดี

การบริหารจัดการที่ดี หรือ Good Governance ซึ่งอาจมีชื่อในภาคภาษาไทยได้หลากหลาย เช่น จริยธรรมธุรกิจ บรรษัทภิบาล หรือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนมาใช้คำว่า การบริหารกิจการที่ดี เพราะจะมีความหมายที่ครอบคลุมมากกว่าที่จะให้ผู้บริหารทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างเดียว แต่ต้องบริหารกิจการไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนอีกด้วย

สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดแนวปฏิบัติในการจัดการกิจการที่ดีไว้ใน 5 เรื่องหลัก ได้แก่

1) สิทธิของผู้ถือหุ้น  2) การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน 3) บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย 4) การเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส และ 5) ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

ซึ่งก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แนวคิดการบริหารกิจการที่ดีของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทขนาดใหญ่คงนำมาใช้กับธุรกิจในขนาดเอสเอ็มอีได้ยาก เพราะบริบทของการบริหารธุรกิจจะแตกต่างกันอย่างมาก

สำหรับธุรกิจในระดับเอสเอ็มอีที่ต้องการบริหารกิจการให้เป็นไปตามแนวทางของการบริหารกิจการที่ดี จะมีแนวปฏิบัติที่ต่างออกไป ดังนี้

1.การดูแลผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียกับธุรกิจอย่างเป็นธรรม

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียกับธุรกิจเอสเอ็มอีโดยทั่วไป อาจได้แก่ หุ้นส่วน คู่ค้า พนักงาน ผู้บริหาร ลูกค้า หน่วยงานภาครัฐ ผู้บริโภค ชุมชนรอบข้าง และสังคมโดยทั่วไป

2.บริหารธุรกิจอย่างโปร่งใส ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการคอรัปชั่น การให้หรือรับสินบน การกระทำหรือหลีกเลี่ยงการกระทำเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อธุรกิจหรือได้เปรียบคู่แข่งขันทางธุรกิจโดยมิชอบ ไม่สนับสนุนอาชญากรรมทางธุรกิจทุกรูปแบบ รวมถึงการใช้แรงงานอย่างคำนึงถึงข้อกำหนดทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของแรงงานที่พึงได้รับ

3.ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจโดยไม่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ ฝุ่น ควัน กลิ่น เสียง ขยะ ในลักษณะที่อาจสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับชุมชนหรือบุคคลทั่วไป หรือผิดกฎหมาย รวมไปถึงการแสวงหาวิธีการ มาตรการ ในการที่จะพัฒนาวิธีการดำเนินธุรกิจให้ลดผลกระทบเชิงลบต่อสภาวะแวดล้อมให้ได้มากที่สุด และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดและระมัดระวัง

4.การมีระบบบัญชีที่โปร่งใส และการเสียภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย

5.การดูแลพนักงานให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ได้รับค่าจ้างค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ให้สวัสดิการที่จะทำให้พนักงานมีการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงการพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถ ให้กับพนักงาน เพื่อให้มีอาชีพการงานที่มั่นคงและมีความก้าวหน้าในอาชีพการงานได้ตามศักยภาพ รวมถึงการพิจารณาเลื่อนขั้นตำแหน่ง และได้รับการยกย่องเมื่อปฏิบัติหน้าที่การงานได้ดีเด่น

สิ่งเหล่านี้ เป็นพื้นฐานที่ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถทำได้ในบริบทและขอบเขตของการดำเนินธุรกิจที่จะได้รับการยอมรับว่า เป็นเอสเอ็มอีที่มีมีการบริหารกิจการที่ดี

เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเอสเอ็มอีอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากที่เคยเชื่อว่า เรื่องของการกำกับดูแลหรือการบริหารจัดการที่ดีนั้น เป็นเรื่องของบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น

โดยที่เอสเอ็มอีไม่เกี่ยว ???