ค่ายเพลงยุคสตรีมมิ่งแค่ปากกัดตีนถีบอาจไม่พอ

ค่ายเพลงยุคสตรีมมิ่งแค่ปากกัดตีนถีบอาจไม่พอ

คนเมืองขึ้นรถไฟฟ้าเปิด Joox ฟังเพลงกันทั้งขบวน ร้านกาแฟเปิดเพลงจาก Youtube คลอไปตลอดทั้งวัน

แอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เปิดตัวกันต่อเนื่องเพื่อแย่งทั้งตา(ดู) ทั้งหู(ฟัง) ทั้งความสนใจจากผู้บริโภค ผ่านเวทย์มนต์ของ “สตรีมมิ่ง” ที่แสนสะดวก เพียงแค่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต อยากฟังเพลงอะไรก็ฟังได้ 

แต่สำหรับค่ายเพลงเจ้าของลิขสิทธิ์ คงไม่สามารถเรียกมันว่ายุครุ่งเรืองของวงการเพลงได้เต็มปาก

วันที่คนหาเพลงฟังกันง่ายแสนง่าย ในมุมกลับกัน นี่เป็นช่วงที่ท้าทายของค่ายเพลงและศิลปินชนิดที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน 

สามขวัญ ตันสมพงศ์ กรรมการผู้จัดการของค่ายเพลง What The Duck คุยกับรายการ Business101 ในช่วง Biz Connect โดยมองว่า คนสมัยนี้เติบโตมาในยุคที่ไม่ได้ซื้อเทปซื้อซีดีกันอยู่แล้ว 

ช่วงที่ผ่านมาคนฟังเพลงออนไลน์กันมาก ค่ายเพลงแทบไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียวจากช่องทางออนไลน์ 

ไม่นานมานี้ยูทูบ เพิ่งให้ส่วนแบ่งรายได้กับค่ายเพลง ถือเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นอีกทาง แต่ สามขวัญ ก็ยืนยันว่าออนไลน์ยังไม่สามารถเอามาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้พอขนาดฝากชีวิตไว้ได้ รายได้หลักของค่ายเพลงตอนนี้คืองานโชว์ตัวและงานจ้างศิลปินเพื่อแสดงในที่ต่างๆ ส่วนนี้คือเส้นเลือดใหญ่ที่จะเลี้ยงดูคนในองค์กรได้ 

สังเกตจากการจัดคอนเสิร์ตที่เกิดขึ้นแทบจะทุกสัปดาห์ หรืองานอีเวนท์ที่จ้างวงดนตรีไปเล่นสร้างสีสันก็ตามที อีกส่วนหนึ่งคือ การเก็บเงินจากบริษัทห้างร้านที่นำเพลงของศิลปินในค่ายไปใช้เชิงพาณิชย์ หรือการจ้างศิลปินแต่งเพลง เป็นพรีเซนเตอร์ให้แบรนด์นั้นๆ เป็นต้น 

เมื่อเทียบสัดส่วน รายได้จากสตรีมมิ่งทุกวันนี้ ยังถือว่าน้อยมากสำหรับสายตาค่ายเพลง ตัวศิลปินยังมีหน้าที่เหมือนเดิมในการแต่งเพลง ร้องเพลง สร้างสรรผลงาน แต่ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือค่ายเพลงในการโปรโมท ช่วยดันศิลปินและสร้างช่องทางหารายได้ 

ตลาดเพลงในตอนนี้ดูดีขึ้นกว่าก่อนหน้า เพราะว่าคนเริ่มมองว่าเพลงไม่ใช่ของฟรี(Free Content)แล้ว เป็นสิงที่ต้องลงทุนและประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์คนก็ตื่นตัวและยอมรับเรื่องการจ่ายเงินเพื่อฟังเพลงกันมากขึ้น 

สำหรับบ้านเราปัจจุบันบริษัทที่ทำแอพสตรีมมิ่งเริ่มทำเป็นระบบมากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา สามารถตรวจสอบการใช้งานได้แม่นยำขึ้น พอจะเห็นเม็ดเงินขึ้นมาบ้างแล้ว ไม่เพียงแต่ Joox ที่คนไทยนิยมใช้ อีกไม่นาน Spotify หรือว่าแอพระดับโลกอื่นๆก็จะเข้ามาเล่นกับตลาดนี้  สามขวัญ ก็เชื่อว่าจะส่งผลดีกับรายได้ของค่ายเพลงต่างๆด้วย

ตัวชี้วัดความสำเร็จของศิลปินในอดีต เราอาจเคยได้ยินว่านักร้องคนนั้นคนนี้ได้ยอดขายเทป “ล้านตลับ” เราก็จะนึกถึงสมัยของพี่เบิร์ด โบว์-สุนิตา หรือ เจมส์-เรืองศักดิ์ สมัยเพิ่งมีผลงาน 

แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่อีกต่อไป ศิลปินหน้าใหม่เกิดขึ้นง่ายมาก ไม่ต้องมีค่ายก็มีผลงานได้ สามารถเข้าไปอยู่ในระบบของสตรีมมิ่งได้หมด กลายเป็นว่าตอนนี้ใครก็ตามที่สามารถเขียนในแบบสอบถามได้ว่าประกอบอาชีพศิลปินเต็มเวลา นี่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะศิลปินยุคนี้ทำงานประจำไปด้วยทำเพลงไปด้วย ไม่อย่างนั้นจะไม่พอกิน 

ไม่ว่ารูปแบบของรายได้และศิลปินจะเปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งที่สำคัญเสมอสำหรับมนุษย์ คงเป็นความปราถนาอย่างแรงกล้า(Passion) ที่ยังเป็น “สิ่งจำเป็น” ที่ทำให้เราสร้างสิ่งใหม่ๆ ในวันที่โลกหมุนไปไม่เคยหยุด