เปิดตลาด‘สาววาย’เพราะจิ้น เพราะฟิน จึงทำเงิน

เปิดตลาด‘สาววาย’เพราะจิ้น เพราะฟิน จึงทำเงิน

ภาพของเด็กผู้ชายหน้าตาดีสองคนจูบกัน หรือนักกีฬารูปร่างกำยำที่ใกล้ชิดเกินเพื่อน อาจสร้างความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจให้บางคนเมื่อสักประมาณ 20 ปี

แต่ปัจจุบันจะเปิดไลน์ทีวี เปิดโทรทัศน์ อ่านการ์ตูน หรือเข้าเว็บไซต์ต่างๆ เราก็จะเห็นเรื่องราวของรักของผู้ชาย(Boy’s Love)เต็มไปหมด จนเป็นภาพชินตาและสถานะของ  “สาววาย” ที่กรี๊ดกร๊าดเรื่องเหล่านี้ก็กลายเป็นกลุ่มทางสังคม(Social Group)ธรรมดาทั่วไป ที่ไม่ต้องหลบซ่อนและเป็นเป้าหมายทางการตลาดที่มีศักยภาพกลุ่มหนึ่งเลยทีเดียว

ถ้าลองไปดูในโซเชียลมีเดีย จะพบว่ามีแฟนเพจของกลุ่มสาววายจำนวนมาก คำว่า “วาย”เป็นที่ทราบดีว่ามาจากคคำว่า ‘’ยาโออิ(Yaoi)ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่าความรักของชายรักชาย ซึ่งบรรดาผู้หญิงที่คลั่งไคล้เรื่องเหล่านี้จะเรียกว่า “สาววาย” 

แต่ละเพจที่จับตลาดสาววาย มีผู้ติดตามหลายหมื่นบัญชี หนึ่งในนั้นคือเพจ Bakery Book ซึ่งต่อสายคุยกับรายการ Business101 ช่วง Biz Connect เราคุยกับ “ปรางค์” หนึ่งในทีมงานที่รับผิดชอบบริหารจัดการเพจของสำนักพิมพ์ 

เธอให้คำจำกัดความของสาววายว่า “เป็นผู้ที่ชื่นชอบในผลงานที่นำเสนอความสัมพันธ์ที่ตัวละครหรือตัวแสดงนำที่เป็นผู้ชายทั้งคู่” โดยที่อาจจะเป็นคู่รักกันหรือว่าเป็นคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็ได้ 

สาววายแบ่งเป็นกลุ่มๆ ตามความสนใจที่แตกต่างกันออกไป บางกลุ่มชอบซีรีส์ เพราะว่านักแสดงหน้าตาดี บางกลุ่มชอบอ่านนิยายเสพความละเมียดละไมของตัวอักษร ขณะที่มีสาววายจำนวนไม่น้อยที่ชอบอ่านเป็นการ์ตูนวาย จึงพอจะจำแนกได้ตามรูปแบบของการบริโภคสื่อของแต่ละกลุ่ม 

ปรางค์ ขยายความคำว่า “จิ้น” ว่ามาจากจินตนาการ ที่ชื่นชอบความสัมพันธ์ของคู่ที่ชื่นชอบ ลุ้นให้เป็นคู่รักกัน จนอยากสนับสนุนผลงานของศิลปินเหล่านั้นไปเรื่อยๆ เด็กสาวบางคนเลือกซื้อนิยายแนวชายรักชายเรื่องละหลายเล่ม เล่มหนึ่งเอาไว้อ่าน ส่วนอีกเล่มเอาไว้เก็บสะสมเป็นของรักของหวง ราคาเฉลี่ยของหนังสือนิยายสมัยนี้ราคาก็อยู่ที่ 250-300 บาทเข้าไปแล้ว 

เมื่อพิจารณาตามความจริงแล้ว ความรักของชายรักชาย เป็นเรื่องของผู้ชายสองคน ตัวสาววายเองก็ไม่ได้ไปเกี่ยวพันด้วย ทำไมถึงยังชื่นชอบ? มุมมองของ ปรางค์ เห็นว่าในสังคมปัจจุบันความรักของคนเพศเดียวกันยังเป็นเรื่องที่สังคมยังไม่ได้เปิดใจยอมรับเหมือนกับคู่รักชายหญิงปกติ เนื้อเรื่องของนิยายแนววายมักจะมีเรื่องให้ลุ้น ให้ติดตามความรักของตัวละครที่ต้องผ่านอุปสรรคและมุมมองของสังคม ทำให้สนุกและโดนใจคนที่ติดตาม 

โอกาสทางธุรกิจจึงเกิดขึ้น “เบเกอรี่บุ๊ค”เริ่มต้นจากการตีพิมพ์ผลงานของเพื่อนคนไทยด้วยกันเอง จนเมื่อได้รับการตอบรับที่ดี ยอดขายเป็นที่น่าพอใจขึ้น ก็ลองขยายไปติดต่อตัวแทนในต่างประเทศขอนำลิขสิทธิ์จากไต้หวันมาทำและออกขาย กลายเป็นเนื้อหาและแนวการเล่าเรื่องจะแตกต่างออกไปจากนิยายวายที่มีในท้องตลาด

ผู้ที่ชื่นชอบผลงานชายรักชายส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ถือเป็นความชอบที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละคน(Preference) การสื่อสารกับพวกเธอก็ต้องให้สาววายด้วยกันทำถึงจะเข้าใจ โดยหมั่นโพสต์ข้อความพูดคุยกับผู้ที่ติดตามเพจด้วยภาษาที่เป็นกันเอง นำเนื้อเรื่องของนิยายที่กำลังออกขายมาผูกโยงเพื่อชวนคุย สร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าจนเกิดความผูกพันที่เหนียวแน่น(Engagement) 

ตัวอย่างของสาววายเป็นสิ่งที่สะท้อนเรื่องการตลาดในกลุมเฉพาะ ที่แบรนด์ต่างอาจนำมาปรับใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องจับทุกกลุ่มแบบหว่านแห เพียงเลือกกลุ่มที่มีศักยภาพ กลุ่มเฉพาะ(Niche Market) แล้วทำการตลาดแบบเข้มเข้น 

เมื่อได้รับประสบการณ์ทางบวกต่อเนื่อง ก็จะเปลี่ยนจากลูกค้ามาเป็นสาวกผู้คลั่งไคล้(Advocate) ถึงจุดนี้ทำอะไรออกมาก็ซื้อ เขียนอะไรออกมาก็อ่าน แถมยังช่วยปกป้องกลุ่มก้อนสังคมของตนอย่างเข้าอกเข้าใจอีกด้วย 

ธุรกิจไหนๆก็ต้องการลูกค้าแบบนี้กันทั้งนั้น