ยังฮึดไม่พอ

ยังฮึดไม่พอ

ยังฮึดไม่พอ

คนไทยเราไปสร้างชื่อเสียงในโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา กีฬา บันเทิง หรือแม้กระทั่งการจัดการ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆที่มีศักยภาพใกล้เคียงกันแล้ว สัดส่วนของผู้ประสบความสำเร็จในเวทีโลกยังน้อย

ทำไมเป็นเช่นนั้น

ดิฉันเฝ้าสังเกต เก็บข้อมูลจากการสนทนา และวิเคราะห์อย่างเงียบๆมาหลายปี สรุปสาเหตุออกได้เป็น 5 ประเด็นหลักๆ

ประเด็นแรก คือ วินัย คนไทยเราไม่ค่อยเคยชินกับการต้องอดทน อยู่ในกฎเกณฑ์คำสั่ง หรือต้องบังคับตัวเอง คือหากมีผู้อื่นบังคับ จะทำได้ดี เช่นคนงานในโรงงานที่มีชาวต่างชาติเป็นหัวหน้า คนงานจะกลัวและเกรงใจมากกว่าโรงงานที่มีคนไทยเป็นหัวหน้า ดังนั้น จึงไม่ค่อยออกนอกรีตนอกรอย ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ ให้ทำอย่างไรก็อย่างนั้น แต่หากต้องบังคับตัวเองให้มีวินัย มักจะใจอ่อนและท้อถอยไปก่อน

วินัยนี้ รวมถึงวินัยในการไม่ลืมตัว เมื่อมีชื่อเสียงแล้วด้วยนะคะ

ประเด็นที่สอง คือ ไม่มั่นใจในตัวเองเท่าที่ควร หลายครั้งอดคิดไม่ได้ว่าเนื่องจากเราอบรมกันให้เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ เราจึงไม่กล้าแย้ง ไม่กล้าเสนอความเห็นแม้จะเห็นว่าไม่ถูกต้อง และพฤติกรรมเหล่านี้กลายเป็นนิสัย ทำให้ไม่กล้าแสดงออก ครูและผู้ปกครองมีส่วนสำคัญมากในการให้โอกาสแสดงออกค่ะ

สังเกตได้ชัดจากการเปรียบเทียบผู้ที่ได้มีโอกาสไปศึกษาในต่างประเทศ หรือในโรงเรียนนานาชาติ จะมีความกล้าแสดงออก และมีความมั่นใจในตัวเองมากกว่าผู้ที่เรียนในประเทศตลอดทาง

ประเด็นที่สาม ขาดความฮึด ความเด็ดขาด ความอยากเอาชนะ พฤติกรรมนี้เห็นได้ชัดในนักกีฬาไทย คือพอทำได้ดี ก็อาจจะดีใจและผ่อนคลายลง จึงทำให้คู่แข่ง/คู่ต่อสู้ ที่มีความฮึด สามารถแซง หรือฮึดจนเอาชนะไปได้

หลายครั้งที่ดูเหมือนเราจะใจอ่อน เห็นคู่แข่ง/คู่ต่อสู้ เพลี่ยงพล้ำ เราก็เลยผ่อน อาจจะสงสารเขา แต่ในการแข่งขัน ตราบใดที่ยังไม่จบเกมส์ เราก็ยังไม่ชนะ เพราะฉะนั้น ต้องฮึด ต้องสู้ ต้องเชื่อมั่นว่าจะทำได้ จนกว่าจะจบเกมส์ค่ะ

ถูกล่ะ หากใช้หลักธรรม อาจจะมองว่าโหดร้าย แต่ตราบใดที่เราเล่นตามกติกา เราต้องสู้จนกว่าจะจบเกมส์ และเวลาสู้ ต้องเชื่อว่าตนเองมีโอกาสชนะด้วย หลายครั้งที่ดิฉันเห็นนักกีฬาเดินเข้าสนาม ดิฉันบอกคนที่นั่งดูด้วยว่า ดูท่าทางก็แพ้แล้วตั้งแต่ยังไม่แข่ง เพราะดูห่อเหี่ยว ดูไม่เชื่อมั่นเลย

คติที่ต้องท่องเอาไว้หากต้องการเป็นแชมเปี้ยนก็คือ "หากเราเองยังไม่เชื่อมั่นในตัวเอง แล้วใครจะเชื่อมั่นในตัวเรา"

สัปดาห์ที่แล้วดิฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับอดีตคณบดี วิทยาลัยบริหารธุรกิจเคลลอกก์ ของมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น และอดีตผู้อำนวยการสถาบันศศินทร์ ศาสตราจารย์ ดิภัค ซี. เจน ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่รักประเทศไทยและรักคนไทยมาก ท่านบอกว่าเราเป็นประเทศที่โชคดี เรามีประชาชนที่น่ารัก วัฒนธรรมที่ผู้คนประทับใจ และคนของเราก็เก่ง ฉลาด เปรียบเทียบกับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปแล้ว เราไม่เป็นรองใคร เรามีศักยภาพมาก แต่เราไม่"ฮึด"เท่าคนอื่น เราไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าตัวเองเก่ง ซึ่งตรงใจดิฉันมากค่ะ

ประเด็นที่สี่ คือ ขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬา ดารา นักร้อง นักแสดง หากสามารถที่จะยินในเวทีระดับโลกได้ เราคนไทย องค์กรไทย รัฐบาลไทย ต้องช่วยให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกัน เจ้าตัวก็ต้องแสวงหาด้วยค่ะ หาข้อมูลว่าจะมีทุนอะไร มีงานอะไร มีกิจกรรมอะไรที่เราควรจะไปร่วม เพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายความใฝ่ฝัน

หลายครั้งเป็นส่วนผสมของการที่ไม่มีผู้สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แต่หลายครั้งก็เกิดจากเจ้าตัวเอง ตามที่เขียนไว้ในประเด็นแรก ผู้ต้องการเป็นเลิศ ต้องมีวินัยทั้งในช่วงไต่เต้าสร้างชื่อเสียง และมีวินัยเมื่อมีชื่อเสียงแล้วด้วย หลายคนพอเริ่มมีชื่อเสียงก็ประพฤติตัวเปลี่ยนไป ไม่มีวินัย ไม่ฝึกซ้อม ไม่ทำงานหนัก เกี่ยงงาน ไม่หาความรู้เพิ่ม ไม่รู้จักถ่อมตัว คนก็ไม่รัก และเผลอๆอาจจะระอาใจ

ประเด็นที่ห้า ซึ่งเป็นประเด็นสุดท้าย คือความรู้สึกรักสบาย ต้องเรียนว่ามนุษย์ทุกคนก็รู้สึกอย่างนี้ แต่ผู้ที่มีศักยภาพสูง อาจจะต้องแบ่งเวลาในชีวิตให้สมดุลย์ หากรักสบายมากก็ต้องทำใจว่าช่วงเวลาสู่ความสำเร็จของเราก็จะสั้น จะจบเร็ว แต่หากยังอยู่บนเวที ก็ต้องทำต่อไปและตั้งใจทำให้ดีที่สุดด้วย ตรงนี้แหละค่ะที่ทำให้คนไทยหลายคนถอนตัวก่อนไปถึงจุดสูงสุดที่มีศักยภาพที่จะไป

โครงการสร้างดาวรุ่งต่างๆ ควรใส่ใจในการสร้างจิตใจที่ฮึกเหิม ความกระหายความสำเร็จ เพราะนั่นจะเป็นแรงขับดันให้เขาไปถึงดวงดาวที่เขาอยากไป

ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องไปถึงดาวดวงเดียวกัน ดาวของบางคนอาจจะเล็กๆ สงบ ดาวของบางคนอาจจะใหญ่โต สุกสว่าง ที่สำคัญคือ เราให้โอกาส เราทำให้เกิดสภาพแวดล้อม เราได้ช่วยสนับสนุน เราได้ให้กำลังใจ และเราได้ทำเต็มที่แล้วหรือยังเพื่อนำคนไทยและประเทศไทย ไปสู่จุดสูงสุดที่ศักยภาพสามารถไปได้

คำตอบก็คือ "ยัง" ค่ะ