พรุ่งนี้เอารถเทสลามาขับไปโคราชกันดีไหม?

พรุ่งนี้เอารถเทสลามาขับไปโคราชกันดีไหม?

อีลอน มัสค์ ไม่เคยทำให้แฟนๆผิดหวัง เมื่อเจ้าพ่อสเปซเอ็กซ์และเทสลาเข็นรถตัวใหม่ออกสู่ตลาด

นั่นคือ Tesla Model3 ด้วยราคาที่จับต้องได้ประมาณ 1ล้านบาท ก็ได้เป็นเจ้าของรถพลังงานไฟฟ้าแล้ว และตอนนี้ยอดจองก็ถล่มทลายเป็นแสนคัน 

คำถามคือ ถ้ามีเงินตอนนี้ไปขออีลอน ซื้อมาลองขับในสยามประเทศสัก 1คัน มันจะเป็นไปได้ไหม? ท้องถนนไทยรับกับของใหม่แบบนี้ไหวหรือเปล่า?

รายการ Business101 ช่วง Biz Connect ต่อสายคุยกับ รศ.ดร.ณัฐพล ลิ้มจีระจรัส ประธาน หลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เรื่องนี้ อาจารย์บอกว่าตอนนี้เทรนด์ของเทคโนโลยียานยนต์อย่างไรเสีย ก็ต้องพุ่งไปที่พลังงานไฟฟ้า อย่างเยอรมนีหรืออังกฤษก็เพิ่งประกาศจะไม่ผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในอนาคต 

ส่วนจะตอบคำถามว่าถนนเมืองไทยพร้อมหรือไม่ สำหรับรถเทสลาก็ขึ้นกับจำนวนที่จะนำเข้ามาใช้งาน คนมีเงินอยากซื้อมาขับส่วนตัวเป็นสีสันชีวิตก็ไม่ยาก ชาร์จไฟจากที่บ้าน ขับส่งลูกไปโรงเรียน 

แต่ถ้าเกิดใช้ในปริมาณมากๆ เหมือนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั่วไป อาจจะยังไม่พร้อมเพราะว่าสถานีชาร์จไฟสำหรับรถพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยยังน้อยมาก 

ดังนั้นการเกิดขึ้นในตลาดบ้านเราจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่เปลี่ยนเร็ว เมื่อมีความต้องการใช้มากขึ้น ผู้ประกอบการก็จะลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จไฟให้เพียงพอกับความต้องการ ในกรุงเทพฯ ที่เห็นชัดก็เป็นสถานีของปตท. เท่านั้น 

สำหรับการติดตั้งหัวชาร์จไฟจะมีขายเป็นสเปคมาตรฐานอยู่แล้วก็จริง แต่ว่าความเสถียรของการจ่ายไฟฟ้าก็สำคัญ ถ้าติดตั้งแล้วบทจะชาร์จจริงๆจ่ายไฟไม่ได้ตามมาตรฐานก็จะชาร์จไม่ได้ หรือกรณีขับรถไประยะทางไกลๆ ถ้าแบตหมดก่อนถึงบ้านหรือสถานีชาร์จไฟที่ใกล้ที่สุด ก็จะเป็นปัญหาเพราะไม่รู้จะชาร์จที่ไหน 

ปัจจุบันมีคนพยายามแก้ช่องว่างตรงนี้ด้วยบริการเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ทั้งลูก(Battery Swapping)ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อนเท่านั้น 

ข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดของรถพลังงานไฟฟ้าในปัจจุบันคือเรื่องแบตเตอรี่ เพราะตัวที่ทันสมัยที่สุดก็ยังเป็นลิเธียมไอออน ถึงแม้ชาร์จเต็มแล้ว จะขับรถออกไปวิ่งก็ไม่ได้ไกลมากนัก 

ถ้าอยากขับไปต่างเมือง อย่างกรุงเทพฯไปโคราช ก็อาจต้องใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่มากจนใช้งานจริงกับรถไม่ได้ วันข้างหน้ารถพลังงานไฟฟ้าคืออนาคต แต่ถ้ามองวันนี้ในประเทศไทย อาจจะยังเป็น“ของเล่นคนรวย”อยู่

แล้วประเทศไทยเราจะสร้างโอกาสอะไรจากเทรนด์นี้ได้บ้าง? อาจารย์ณัฐพลมองว่าถ้าผลิตรถกลางๆแบบรถยนต์ซีดาน รถนั่งส่วนบุคคลทั่วไป เราสู้ลำบากด้วยข้อจำกัดที่มี ดังนั้นเราต้องเล่นของ“เล็ก”ไม่ก็เล่นของ“ใหญ่”ไปเลย ผลิตมาใช้งานเอง อย่างของใหญ่ก็เป็นรถบัสหรือมินิบัสพลังงานไฟฟ้าสำหรับการขนส่งในระยะสั้น 

เช่น รถบัส รับส่งระหว่างสถานีรถไฟฟ้า ส่วนรถไฟฟ้าขนาดเล็กที่สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ก็ได้พัฒนารถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามาถึงสองรุ่นไว้ใช้งานในสถานศึกษา

ล่าสุดกำลังขอใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก นี่ก็ยังถือเป็นอีกความหวังจากมันสมองไทยที่คิดค้นเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ต่างๆให้ทันเทรนด์แห่งอนาคต 

ไว้มีโอกาสลองไปนั่งรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ากันดูครับ ล้ำสมัยแถมยังถูกจริตคนไทยเราด้วย