กำลังซื้อ'ติดกับดัก' 

กำลังซื้อ'ติดกับดัก' 

บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในตลาดไตรมาสสามค่อนข้างซบเซา

ส่วนหนึ่งเป็นไปตามวัฎจักรของการจับจ่ายที่อยู่ในช่วงของ “โลว์ซีซัน” ที่ปีนี้ลากยาวเข้าไปถึงเดือนแรกของไตรมาสสุดท้าย และส่วนหนึ่งเป็นผลโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีฟื้นตัวอย่างชัดเจน ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้เข้ามามีผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลเชิงจิตวิทยาทำให้ผู้บริโภคที่ระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่แล้วมีแนวโน้มจะควักกระเป๋าจ่ายยากยิ่งขึ้นในช่วงนี้ 

พิบัติภัยทางธรรมชาติเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญทำให้ผู้บริโภคตระหนักและเตรียมตัวในการดำเนินชีวิตมากขึ้นนับเป็นหนึ่งกับดักของกำลังซื้อที่เม็ดเงินส่วนหนึ่งอาจต้องถูกเจียดเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ไม่คาดฝัน ขณะที่ปัญหา “น้ำท่วมใหญ่” หลายจังหวัดภาคอีสานครั้งนี้ประเมินความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท มีความเสียไายของไร่นาจำนวนมาก แน่นอนว่ากระทบต่อกำลังซื้อประชาชนอย่างหลีกเลี่บงไม่ได้

ความเสียหายที่ตามมาจากการสถานการณ์น้ำท่วมกระทบตรงต่อภาคการเกษตร กำลังซื้อเกษตรกรหายวับในทันที ธุรกิจ ร้านค้า โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ต่างๆ  ต้องปิดบริการ ขาดเม็ดเงินสะพัดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เมื่อต้องหยุดกิจการ จึงส่งผลกระทบต่อภาคแรงงาน ทำให้่ไม่มีงานทำ เมื่อไม่มีงานทำย่อมไม่มีรายได้ ส่งผลโดยตรงต่อการจับจ่ายที่หายวูบไปเช่นกัน แม้ในห้วงเวลาที่สถานการณ์คลี่คลายต้องใช้เม็ดเงินส่วนใหญ่ในการฟื้นฟูบ้านเรือน กิจการ ธุรกิจ 

ผลดังกล่าวแม้จะเป็นผลดีต่อสินค้าและบริการในกลุ่มฟื้นฟูและซ่อมแซมบ้านเป็นหลักแต่เป็นการกระจุกตัวของเม็ดเงิน แต่ในภาพรวมผู้บริโภคกลับจะเพิ่มความระมัดระวังในการจับจ่ายขึ้นไปอีกเพราะเงินส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เพื่อการซ่อมแซมซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนก้อนใหญ่ไปแล้ว เป็นอีกหนึ่งกับดักของกำลังซื้อที่จะสกัดกั้นเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจในช่วง 5 เดือนสุดท้ายนี้ เช่นเดียวกับกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางส่วนล่างและกลุ่มรายได้น้อย ที่เวลานี้ยังติดกับดักหนี้ครัวเรือนในระดับสูง

แม้กระทั่งกลุ่มรายได้ปานกลางตอนบน ที่พบว่าติดกับดักกำลังซื้อ ด้วยภาวะหนี้บัตรเครดิตท่วม ไม่สามารถรูดปรื๊ดได้ดังใจ เมื่อการจับจ่ายไม่คล่องมือ ทำให้เม็ดเงินสะพัดในตลาดถูกบั่นทอนออกไปจากระบบ ขณะที่กลุ่มรายได้ระดับบนด้วยความมั่นคงของฐานการเงินจะทำให้ไม่มีปัญหาทางด้านการใช้จ่าย แต่บรรยากาศในตลาดที่ซบเซาส่งผลเชิงจิตวิทยาไม่น้อย ทำให้ตลาดอยู่ในภาวะ “ไร้มู้ด” ​มีเงินแต่ไม่มีอารมณ์จับจ่าย 

หากพิจารณาดััชนีอุตสาหกรรมค้าปลีกครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เติบโตเพียง 2.81% เป็นผลมาจากยอดค้าปลีกในไตรมาสสองเริ่มแผ่วตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่เติบโตถึง 3.02% โดยมีสาเหตุหลักจากวัฎจักรของการจับจ่าย ซึ่งโดยทั่วไปจะเริ่มพุ่งสูงขึ้นที่ไตรมาสสี่ ส่งผลต่อเนื่องให้ไตรมาสหนึ่งเติบโตสูงขึ้นด้วย จากนั้นไตรมาสสองและสามจะค่อยๆ ชะลอตัวลง และเริ่มขยับขึ้นช่วงไตรมาสสี่อีกครั้ง นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายภาครัฐเริ่มอ่อนตัวลง เนื่องจากเป็นช่วงไตรมาสที่สามของงบประมาณ ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกครึ่งปีแรกย่อตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.81%

สำหรับสถานการณ์ค้าปลีกไตรมาสสอง การเติบโตที่เด่นชัดของหมวดสินค้าต่างๆ ในลักษณะกระจุกตัวเฉพาะสาขาในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองหลักของการท่องเที่ยว 2-3 จังหวัด คิดเป็นสัดส่วนเพียง 30% ของสาขาทั้งหมด ในทางกลับกันสาขาส่วนใหญ่อีก 70% ที่อยู่ในต่างจังหวัด จะมีการเติบโตที่อ่อนตัวลงอย่างมีนัย  ส่งผลให้ดัชนีในไตรมาสที่สอง และภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีหลังอ่อนตัวลงตามไปด้วย 

นอกจากเศรษฐกิจจะไม่ฟื้นตัว แต่กลับอ่อนตัวลงไปอีก รัฐบาลอาจต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มและเน้นเป้าหมายชัดเจนเพื่อไม่ให้กำลังซื้อติดกับดักนานเกินไปเพราะจะยิ่งขยับช้าไปอีก