รถไฟความเร็วสูง จีนหลอกเรา?

รถไฟความเร็วสูง จีนหลอกเรา?

เห็นจีนจะมาสร้างรถไฟความเร็วสูงให้ไทย สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยรัฐบาลไทยเราประเคนให้โดยใช้ ม.44 แล้วนึกสงสัย ทำไมประเทศอื่นไม่ทำแบบนี้บ้าง

ผมจึงขออนุญาตพาท่านไปศึกษาดูรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายกัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์สักหน่อย ว่าก็ว่าไป ที่จริงให้จีนสร้างให้ฟรีๆ จีนยังยอม พร้อมยกกรณีรถไฟความเร็วสูงมาเลเซีย-สิงคโปร์มาเทียบให้เห็นว่าไทยเสียเปรียบอย่างไร ไทยต้องคิดให้ดี อย่าได้เสียค่าโง่โดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ทั้งหลายทั้งมวลมาจากข่าวนี้: ด่วน! บิ๊กตู่ใช้ม.44 ไฟเขียวจีนสร้างไฮสปีด วิศวกร-สถาปนิกไม่ต้องอยู่ในบังคับกม.ไทย (http://bit.ly/2vaU4eD) ผมเห็นว่าการก่อสร้างแบบนี้ไทยเสียเปรียบมาก ลองมาดูกรณีตัวอย่างรถไฟฟ้ามาเลเซีย-สิงคโปร์ ประชาชนจะได้ “ตาสว่าง” จีนนั้นไม่ใช่ “ขอนไม้” ที่ไทยจะได้เกาะ ในความเป็นจริงในเชิงยุทธศาสตร์ จีนต้องง้อเราในการสยายปีกของจีนต่างหาก ไม่ใช่ไทยต้องเป็นเบี้ยล่างของจีน

สำหรับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของมาเลเซีย-สิงคโปร์นี้ มีระยะทาง 350 กิโลเมตร มีสถานีอยู่ 8 แห่ง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปลายปี 2560 และจะเปิดใช้ในปี 2569 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยแต่ละขบวนจะมี 10 ตู้ๆ ละขนส่งมวลชนได้ 100 คน และเป็นรถไฟที่มีรางขนาด 1.435 เมตร คาดว่าจะสามารถวิ่งได้ชั่วโมงละ 300 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางจากกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ ใช้เวลาประมาณ 90 นาที แต่ถ้านั่งเครื่องบินใช้เวลาบิน 65 นาที แต่กว่าจะได้ขึ้นลงทางอากาศก็คงกินเวลารวม 3 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าการเดินทางโดยทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้ จึงนับว่ารถไฟมีความเหมาะสมกับเครื่องบิน

ส่วนงบประมาณเป็นเงินประมาณ 334,970 ล้านบาท (44.3 พันล้านริงกิต) (http://bit.ly/2bhsYZw) หรือเฉลี่ยในทุก 1 กิโลเมตร เป็นเงิน 957 ล้านบาท เทียบกับของไทยที่เป็นเงิน 179,412 ล้านบาท ระยะทาง 253 กิโลเมตร (http://bit.ly/2uJUBUu) หรือเป็นเงินกิโลเมตรละ 709 ล้านบาท (เฉพาะค่าก่อสร้างซึ่งยังมีค่าใช้จ่ายอื่นและอาจบานปลายได้) ที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือรัฐบาล “คุย” ว่าจะสร้างเสร็จใน 4 ปี แต่ของมาเลเซียจะใช้เวลาถึงราว 8-9 ปีเลยทีเดียว ทำไมเขาสร้างช้ากว่าเรา หรืออีกนัยหนึ่งที่เราจะสร้างได้เร็ว นั่นเป็นราคาคุย (หาเสียง) หรือเปล่า!?!

ถ้าเราศึกษารถไฟความเร็วสูงสายกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ จะพบสัจธรรมว่า

  1. ในด้านขั้นตอนการดำเนินงานในโครงการนี้ก็ง่าย ๆ ไม่หมกเม็ด โดยหลังจากการลงนามในวันที่ 19 กรกฎาคม 2559 ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2559 ก็เปิดประมูลการศึกษาทางวิศวกรรม และในปลายปี 2560 ก็เปิดประมูลการดูแลระบบรถไฟฟ้า ไม่ใช่ออกมาในลักษณะ “ชักเข้าชักออก” ขาดความแน่นอน แต่สำหรับของไทยเรา กลับดูแปลก ๆ กล่าวคือ เราจ้างศึกษากันอย่างแสนแพง แต่สุดท้ายกลับ “เคาะ” ให้จีนไปซะงั้น
  2. ส่วนการเปิดฟังคำชี้แจงการประมูลเพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของมาเลเซีย-สิงคโปร์นั้น มีบริษัทเข้าร่วมการรับฟังเพื่อเตรียมการประมูลเกือบ 400 ราย เป็นบริษัทระหว่างประเทศ 165 ราย จากยุโรป 67 ราย จากมาเลเซียเอง 29 ราย และจาก สิงคโปร์ 25 ราย (http://bit.ly/2tNqZT5) ไม่ได้ ปิดประตูตีแมว เฉพาะจีน ทำไมของไทยเราจึงไม่มีใครมาประมูลมากมายเช่นนี้ หรือนานาอารยประเทศไม่คบหากับไทยที่อยู่ในห้วงที่ยังไม่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งตามหลักอารยะสากลหรืออย่างไร
  3. รัฐบาลเปิดโอกาสให้บริษัทท้องถิ่นก็สามารถเข้าแข่งขันการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ แม้ไม่มีประสบการณ์ ที่มาเลเซีย เขาไม่มีการอ้างว่าจีนรู้ดีเรื่องรถไฟความเร็วสูงกว่ามาเลเซีย หรือมาเลเซียไม่เคยมีประสบการณ์สร้างรถไฟความเร็วสูงดังที่อ้างกัน (ส่งเดช) ในไทย (http://bit.ly/2u8xoYC) การอ้าง (ส่งเดช) เช่นนี้ เป็นการเหยียดหยามคนไทยด้วยกันหรือไม่ เป็นการไม่เห็นหัวคนไทยหรือไม่ เป็นการ “ให้ท้าย” จีนเจ้าเดียวหรือไม่

ยิ่งกว่านั้น ล่าสุดยังมีข่าวบริษัทใหญ่เต็งหนึ่งของจีน ถอนตัวจากการประมูลรถไฟสายนี้ (http://bit.ly/2eZkLwQ) แล้วอย่างนี้ ความฝันรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์ ไม่พังครืนหรืออย่างไร ไทยควรศึกษาแบบอย่างจากมาเลเซีย-สิงคโปร์ จะได้ไม่เสียเปรียบจีน ค่าสร้างรถไฟแค่ 179,412 ล้านบาท ให้จีนสร้างให้ฟรี โดยให้ประโยชน์แก่ทางการจีนตามสมควร จีนก็อาจยังยอมโดยรัฐบาลไม่ต้องกู้เงินสร้างสักบาท

อีกอย่างที่จีน (อาจ) หลอกเราก็คือมีข่าวออกมาว่า จีนที่ได้สัมปทานสร้างรถไฟ เกิดใจดีจะสอนเทคโนโลยีการก่อสร้างรถไฟให้กับคนไทยแสดงว่าต่อไปใครจะสร้างรถไฟได้เอง (ฮา) ทั้งนี้ดูได้จากข่าว “จีนพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างรถไฟให้ไทย” (http://bit.ly/2uukBBy) โดยเนื้อข่าวกล่าวว่า “นายหวัง อี้ รมว.ต่างประเทศของจีน กล่าว. . .ยืนยันว่าในส่วนของทางการจีน จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างรถไฟ และช่วยอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง. . .”

ข่าวนี้อาจถือได้ว่าเป็นการพูดให้สัมภาษณ์ส่งเดช เขียนข่าวส่งเดช หรือไม่อย่างไร เราพิจารณาดูกัน เรื่องนี้คงเกิดขึ้นเพราะความ “ฉาวโฉ่” ที่เอื้อประโยชน์แก่มหาอำนาจจีนด้วย ม.44 และให้จีนมาเป็นผู้ก่อสร้างทั้งขนแรงงานจีนมาด้วย แต่ต่อมาก็มีการ “แก้ข่าว” เป็นระยะๆ เช่น สถาปนิก-วิศวกรจีนก็ต้องผ่านการอบรมจากไทย หรือให้แรงงานคนไทยก่อสร้างได้ตั้งแต่รางรถไฟลงไปถึงใต้ดิน เป็นต้น

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ต่อไปไทยจะสร้างรถไฟ ความเร็วปานกลาง-สูง ได้เองแล้วใช่ไหม ลองฉุกคิดอีกนิดว่าที่ผ่านมาจีนเคยถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างรถไฟให้ประเทศใดหรือไม่ แล้วอยู่ดีๆ จีนจะเมตตาถ่ายทอดให้ไทยทำไมเว้นแต่ใครจะเป็น “อาณานิคม” ของจีนซึ่งบางคนคงดีกว่าหรือน่าภูมิใจกว่าจะเป็น “อาณานิคม” ของอเมริกาหรืออย่างไร การพูดถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี ก็เพียงการ “แก้เกี้ยว” หลังจากได้เห็นภาพการ “เลือกข้าง” ของทางราชการไทย

ถามกันอย่างไม่เกรงใจก็คือ จีนคิดเทคโนโลยีเองเลยหรือ ยิ่งกว่านั้น ที่ผ่านมาเทคโนโลยีของจีนก็ “ขโมย” มาจากประเทศอื่นใช่หรือไม่ หรือบางทีก็อ้างว่าตนซื้อเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศ เช่น ระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงของฝรั่งเศสที่ทำการก่อสร้างที่เซี่ยงไฮ้ เป็นต้น แล้วในกรณีของไทย ไทยได้ซื้อเทคโนโลยีเข้ามาด้วยหรือ เขาถึงจะมาถ่ายทอดให้ นี่เองจึงอาจกล่าวได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ

  ช่วยกันคิดเพื่อชาติไทยครับผม