มหาเศรษฐีก็มีปัญหา

มหาเศรษฐีก็มีปัญหา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่าง ๆ กระจายข่าวพาดหัวกันอย่างทั่วถึงว่า โลกมีอภิมหาเศรษฐีคนใหม่แทนบิล เกตส์

ซึ่งครองตำแหน่งนั้นมานาน ชื่อของ เจฟฟ์ เบซอส อภิมหาเศรษฐีคนใหม่คงเป็นที่รู้จักของหลายวงการ กิจการใหญ่ที่สร้างความร่ำรวยให้เขาคือ บริษัทแอเมซอนซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการขายสินค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แอเมซอนเป็นกิจการยักษ์ใหญ่ซึ่งขายสินค้าสารพัดจนเริ่มมีการพูดกันว่าน่าจะเข้าขั้นเป็นกิจการผูกขาดแล้ว ฉะนั้น ควรเริ่มพิจารณาว่าจะดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไร

เจฟฟ์ เบซอสชิงบัลลังก์ของบิล เกตส์ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้นเนื่องจากมาตรวัดความร่ำรวยของมหาเศรษฐีเหล่านี้ได้แก่ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้นที่ขึ้นลงตลอดเวลาบ่งชี้ตำแหน่งของพวกเขาว่าอยู่ตรงไหน หลังจากทะยานขึ้นไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้นของแอเมซอนลดลงส่งผลให้บิล เกตส์กลับไปครองบัลลังก์อภิมหาเศรษฐีตามเดิม กระนั้นก็ตาม ทรัพย์สินของเจฟฟ์ เบซอส ยังอยู่ในระดับ 9 หมื่นล้านดอลลาร์

หลังจากสื่อรายงานเรื่องการได้ตำแหน่งอภิมหาเศรษฐีของเจฟฟ์ เบซอสไม่นาน มีการเผยแพร่คำรำพึงที่เขาส่งออกไปทางทวิตเตอร์เมื่อเดือนก่อนเกี่ยวกับเรื่องขอคำปรึกษาจากสาธารณชนว่า เขาควรจะใช้ทรัพย์สินกองมหาศาลของเขาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างไร ในคำรำพึงนั้น เขาบอกกรอบคิดคร่าว ๆ ของเขาว่า เขาต้องการเห็นผลการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว กรอบคิดนี้ตรงข้ามกับแนวการทำธุรกิจของเขาซึ่งมองผลในระยะยาวมากกว่าในระยะสั้น แต่รายงานนั้นมิได้ให้ข้อมูลว่าเขาได้คำตอบอย่างไรบ้างนอกจากจะชี้ว่า เจฟฟ์ เบซอส มิได้เข้าร่วมโครงการบริจาคทรัพย์สินที่บิล เกตส์และวอร์เรน บัฟเฟตต์ร่วมกันตั้งขึ้น

คงเป็นที่ทราบอย่างกว้างขวางแล้วว่า บิล เกตส์และวอร์เรน บัฟเฟตต์ได้ร่วมกันชักชวนบรรดามหาเศรษฐีให้บริจาคทรัพย์สินช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยการให้คำมั่นสัญญาไว้กับกลุ่มชื่อ The Giving Pledge (www.givingpledge.org) ผู้ร่วมลงนามจะต้องสัญญาว่าจะบริจาคทรัพย์สินของตนอย่างน้อยกึ่งหนึ่งเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ การบริจาคจะทำในระหว่างมีชีวิตอยู่ หรือหลังจากเสียชีวิตแล้วก็ได้ กลุ่มนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2553 และขณะนี้มีผู้ลงนามแล้ว 170 คน บิล เกตส์ ได้ระบุว่าเขาจะบริจาค 95% ของทรัพย์สินของเขา ส่วนวอร์เรน บัฟเฟตต์ ระบุว่าจะบริจาค 99% ทั้งสองได้บริจาคแล้วคนละนับหมื่นล้านดอลลาร์โดยมอบให้มูลนิธิของบิล เกตส์บริหารจัดการ

วอร์เรน บัฟเฟตต์ไม่ตั้งมูลนิธิขึ้นมาเองเพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินที่เขาบริจาคเหมือนกับมหาเศรษฐีอื่น เขาเคยปรารภว่า การบริจาคนั้นยากกว่าการหาเงินมากนัก หลังจากพิจารณาอยู่นาน เขาติดสินใจมอบความไว้วางใจให้มูลนิธิของบิล เกตส์โดยมูลนิธินั้นจะต้องบริจาคทรัพย์สินที่เขามอบให้ต่อไปภายในเวลาจำกัด ทั้งนี้เพราะเขาไม่ต้องการให้ชื่อของเขาคงอยู่พร้อมกับเป็นภาระให้แก่ผู้จัดการทรัพย์สินแบบไม่มีที่สิ้นสุด การคิดในแนวนี้ไม่ค่อยมีปรากฏบ่อยนัก

แม้มหาเศรษฐีเหล่านี้จะบริจาคปีละมาก ๆ แต่ข้อมูลบ่งว่าเมื่อรวมกันแล้วไม่ถึง 25% ของเงินบริจาคเพื่อการกุศลของชาวอเมริกันในแต่ละปี ข้อมูลนี้มาจากหนังสือเรื่อง The Givers: Wealth, Power, and Philanthropy in a New Gilded Age ของ David Callahan ซึ่งพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนเม.ย. นอกจากข้อมูลและเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับมหาเศรษฐีแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังมีประเด็นน่าคิดอีกหลายประเด็น อาทิเช่น มูลนิธิเพื่อการกุศลทั้งหลายตั้งขึ้นมาเพราะอัตตาของผู้บริจาคหรือไม่ (วอร์เรน บัฟเฟตต์คงมีอัตตาไม่สูง) และการบริจาคทั้งหลายนั้นทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและมีอิทธิพลต่อกระบวนการคิดของผู้รับบริจาคเกินไปหรือไม่

ประเด็นและคำถามในแนวดังกล่าวมิใช่ของใหม่ บิล เกตส์เคยถูกโจมตีอย่างหนักจากนักการศึกษาซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวคิดในด้านการบริจาคทรัพย์เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนของเขา ทั้งนี้ เพราะเขาไม่เพียงแต่จะบริจาคทรัพย์เท่านั้น หากยังเข้าไปสนับสนุนการทดลองแนวการเรียนการสอนบางอย่างอีกด้วย นักการศึกษามองว่านั่นเป็นการตั้งธงไว้ล่วงหน้า คงเพราะเหตุนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์จึงสรุปว่าการบริจาคนั้นยากกว่าการหาเงิน เหตุผลนี้ที่ทำให้มหาเศรษฐีไทยไม่ค่อยบริจาคทรัพย์ใช่ไหม?