ไพรมารีโหวต

ไพรมารีโหวต

ผมมีเพื่อนเป็นนักการเมือง คำว่า “เพื่อน” ที่ว่านี้มีความหมายมาก เพราะเรารู้จักกันตั้งแต่ชั้นประถมห้าจนบัดนี้

หากผมรู้จักเขาแค่ตอนประถมห้า แล้วไม่เคยเจอกันอีกเลย ผมคงไม่ลงคะแนนเสียงให้เขาแน่ เพราะจากประสบการณ์แค่นั้น ยังไม่ได้ทำให้ผมสามารถไว้วางใจอะไรเขาได้ 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป...นานมาก เกือบ 50 ปีได้มั้ง กาลเวลาพิสูจน์คนจริงๆ เขาไม่ได้มีชีวิตที่สุขสบายตั้งแต่เด็กจนโต นั่งรถเมล์จากสุขุมวิท 101 มาโรงเรียนในใจกลางกรุงเทพฯ ต้องออกจากบ้านแต่เช้ามืด ไม่งั้นมาสายแน่ แถมหลังเลิกเรียนก็ต้องไปช่วยพ่อทำงาน เงินทองต้องประหยัด เสื้อผ้าชุดนักเรียนก็เก่าคับ แต่เขาก็ไม่ได้อนาทรร้อนใจแต่อย่างใด เขามักจะมีคติคิดประจำตัวว่า มีแค่ไหนก็ใช้แค่นั้น ไม่เกินตัว เขาเตือนผมอยู่บ่อยๆในเรื่องนี้ 

ด้วยความรักเรียน เขาย้ายไปเข้าเตรียมฯ และสอบติดคณะสายวิทย์ที่คะแนนสูงมากคณะหนึ่งของจุฬาฯ ส่วนผมไปเรียนรัฐศาสตร์ ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย เขามีปัญหากับพ่อ จึงต้องออกจากบ้านพร้อมกับแม่และพี่ๆ ของเขา ต้องหางานทำเลี้ยงตัวเอง ด้วยความสามารถเฉพาะตัวของเขา อาจารย์จึงจ้างให้เขาเป็นผู้ช่วยในห้องทดลอง 

เพื่อนผมคนนี้เขาทำอะไรเป็นสารพัดตั้งแต่เด็กๆ เหตุว่าต้องทำทุกอย่างในบ้าน เดินสายไฟ เทปูน งานช่าง ซ่อมแซมต่างๆ ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันก็รักดนตรี เวลามีเครื่องดนตรีวางไว้ที่บ้านเพื่อน เขาจะหยิบจับ และก็ทำได้ดีไม่แพ้งานวิศวะที่เขาถนัด เขาจบปริญญาตรีด้วยคะแนนที่ไม่สูงมาก แต่เขากลับได้ทำงานในบริษัทต่างประเทศ และถูกส่งตัวไปทำงานในที่ต่างๆทั่วโลก แม้ขณะที่ผมเรียนอยู่ที่อเมริกาและที่อังกฤษ เขาก็อุตส่าห์มาเยี่ยมด้วยเงินที่เขาหาจากหยาดเหงื่อของเขา เขาเป็นคนแรกที่อุ้มลูกคนแรกของผมที่เกิดที่อังกฤษ 

 จากความสามารถและประสบการณ์ในการทำงานอันยาวนานให้กับต่างประเทศ ในที่สุด เขาก็เปิดบริษัทของเขาเองโดยร่วมหุ้นกับเพื่อนสองสามคน และก็ประสบความสำเร็จด้วยดี เขาทำอะไรด้วยหลักการและองค์ความรู้ รวมทั้งจากประสบการณ์ที่บ่มเพาะมาตั้งแต่เด็ก 

ดังนั้น เวลาได้พูดคุยกับเขาในเรื่องต่างๆสารพัด จะได้ฟังความเห็นที่มีวิสัยทัศน์รอบคอบ เขาไม่รู้อะไร เขาก็จะไปศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง ภาษาของเขาดีมาก ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษและฝรั่งเศส บางคนนึกว่าเขามาจากครอบครัวร่ำรวยหรือที่มีโอกาสไปอยู่ต่างประเทศ แต่ไม่ใช่เลย เหตุที่ภาษาอังกฤษเขาดี ก็เพราะเขาต้องไปช่วยพ่อเขาสอนภาษาอังกฤษ เป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเก่าแก่ (ปัจจุบันเลิกไปแล้ว) ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ไปเรียนคือคนทำงานที่ต้องการได้ทักษะภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาฝรั่งเศสนั้น เขาก็หัดเอง  

ครั้งหนึ่ง เขาได้เป็นประธานหอการค้าต่างประเทศ และผู้นำทางการเมืองไทยต้องติดต่อประสานกับทางแคนาดา จึงมีการประสานกันเกิดขึ้น และเขาได้รับทาบทามให้เข้าสู่วงการการเมือง และในที่สุด เขาก็ได้รับเลือกได้รับเลือกเป็น ส.ส. และทำงานปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างมีประสิทธิภาพ 

ตำแหน่งล่าสุดของเขาก่อนจะเกิดรัฐประหารก็คือ รองหัวหน้าพรรค แน่นอนว่า หากในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะต้องมีการลงคะแนนเสียงในการสรรหาตัวผู้สมัคร (ไพรมารีโหวต) ผมอยากจะไปลงคะแนนให้เขา แต่ปัญหาคือ ผมจะต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่เขาสังกัดเสียก่อน 

ผมไม่เคยสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดๆมาก่อนเลย และผมก็ไม่คุ้นเคยกับการที่จะต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง อีกทั้งผมเป็นข้าราชการ ผมก็ไม่แน่ใจว่า การสมัครและประกาศตัวเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจะให้คุณให้โทษกับผมหรือไม่ 

นอกจากเป็นข้าราชการแล้ว ผมยังมีสถานะเป็นนักวิชาการที่เขียนบทความและสัมภาษณ์ให้ความเห็นทางการเมือง ถ้าผมเป็นสมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่งแล้ว ความเห็นของผมจะถูกมองว่าไม่เป็นกลางหรือเปล่า 

ขนาดยังไม่เป็นสมาชิกพรรค ยังถูกมองว่าไม่เป็นกลาง ที่จริงก็คงยากที่จะเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีนักการเมืองหลายคนในพรรคที่ผมวิจารณ์และต่อต้านหัวหน้าของพวกเขารับฟังความคิดเห็นของผม แต่ถ้าเป็นสมาชิกพรรคใดไปแล้ว ในบริบทแบบไทยๆ มันจะเป็นอย่างไร ? นี่ขนาดผมมั่นใจและไว้วางใจเพื่อนผมคนนี้มาก ผมก็ยังต้องชั่งใจ แล้วคนทั่วไปที่ไม่ได้มั่นใจต่อตัวผู้สมัครมากนัก จะคิดยังไง ?  

ต่างจากบริบทของอเมริกาและอังกฤษ ที่ประชาชนทุกสถานะอาชีพประกาศตัวว่านิยมพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างเปิดเผย นักวิชาการก็เปิดตัวชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายไหน นักแสดงดาราก็ชัดเจน รวมทั้งตุลาการศาลสูงด้วย แม้ว่าจะมีการถกเถียงกัน แต่ในระดับหนึ่ง เราจะพบว่า ต่อให้เป็นพวกเดียวกัน แต่ถ้าความเห็นไม่มีเหตุผลฟังไม่ขึ้น เขาก็ไม่ให้ความสำคัญ แต่ถ้ามีเหตุผล แม้นิยมคนละพรรคก็ยอมรับได้ ล่าสุด ส.ว. พรรคเดียวกันกับประธานาธิบดีทรัมป์ยังกล้าลงคะแนนสวนทางกับนโยบายสาธารณสุขของประธานาธิบดีได้เลย 

ถ้าข้าราชการไม่ว่าพลเรือน ทหาร ตำรวจ ต้องคิดหนักกับการสมัครเป็นสมาชิกพรรค แน่นอนว่า การทำไพรมารี อาจจะขาดเสียงของคนเหล่านี้ไป เป็นจำนวนเท่าไรก็ลองคิดดู ถ้าเช่นนั้น ถามว่า คนไทยแบบไหนที่พร้อมจะสมัครสมาชิกพรรค โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก และไปลงคะแนนเสียงให้นักการเมืองที่เขาไว้วางใจในขั้นตอนไพรมารี ? แล้วถ้าไปลงคะแนนไพรมารีให้คนๆหนึ่ง แต่ถึงเวลาเลือก เลือกคนอื่น จะเป็นอย่างไร

 และลองคิดดูว่า หากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสมาชิกพรรคหนึ่ง แล้วรองผู้ว่าฯเป็นอีกพรรคหนึ่ง หรือทหารระดับผบ.พันเป็นพรรคหนึ่ง ส่วนลูกน้องเป็นอีกพรรคหนึ่ง จะเป็นอย่างไร มิพักต้องพูดถึงระดับผู้บัญชาการทหารบก หรือถ้ามีพรรคทหารก็... มิพักต้องพูดถึงตุลาการศาลรัฐธรรมและองค์กรอิสระอื่นๆ...อิสระ !...โอ้ ลืมไป เขาห้ามองค์กรอิสระสังกัดพรรคการเมือง

ดูเหมือนจะมีทางเลือกอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ คนระดับเหล่านี้จะไม่สมัครเป็นสมาชิกพรรค ลอยตัวไม่สังกัดพรรค จึงไม่สามารลงคะแนนไพรมารีได้ แต่ไปลงคะแนนตอนเลือกตั้งเลย อีกอย่างหนึ่งคือ เปิดหน้ากันไป แต่ต้องเคารพในเสรีภาพและความเสมอภาคของแต่ละคนที่จะนิยมพรรคการเมืองไหน ต้องไม่ว่ากัน ไม่ตั้งแง่กัน 

 ถ้าเป็นอย่างแรก การทำไพรมารีก็จะส่งผลออกมาแบบหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างหลัง ก็ดี การเมืองจะได้เข้มแข็งและชัดเจน และหลักการเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคทางการเมืองก็ต้องทำให้เป็นจริง...เอา...ถ้าเช่นนั้นเมื่อถึงเวลาจะทำไพรมารี ขอให้ลุงตู่ ปู่มีชัยและเหล่าท่านๆทั้งหลาย “เปิดตัว” เป็นผู้นำเปิดศักราชใหม่การเมืองไทยเสียเลย พี่น้องคนไทยอื่นๆจะได้สบายใจและเปิดตัวตาม