ทำไมความไม่เท่าเทียมกันจึงสร้างปัญหาได้มากกว่าที่เราคิด

ทำไมความไม่เท่าเทียมกันจึงสร้างปัญหาได้มากกว่าที่เราคิด

พอล โดโนแวน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากยูบีเอส

ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ทั่วโลกดูเหมือนจะลดลง เห็นได้จากการที่สัดส่วนของผู้มีฐานะยากจนลดน้อยลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ผู้คนที่ทำงานในอาชีพเดียวกันในแต่ละประเทศมีแนวโน้มที่จะได้รับอัตราค่าจ้างเกือบเท่ากัน อย่างไรก็ตาม ในแง่เศรษฐศาสตร์ เรากลับได้เห็นความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้เกิดขึ้น ในระบบเศรษฐกิจใหญ่ๆ ทุกระบบ เราเห็นช่องว่างระหว่างกลุ่มคนรวยที่สุดกับกลุ่มคนที่จนที่สุดในสังคมกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในเกือบทุกประเทศ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจตามมา

จริงๆ แล้ว สิ่งที่เป็นประเด็นสำหรับคนส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องรายได้ แต่เป็นเรื่องของมาตรฐานการใช้ชีวิต เพราะท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่เงินซื้อได้นั่นเองที่ทำให้เงินกลายเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นเมื่อเราพูดถึงคุณภาพชีวิต เรามักจะหมายถึงระดับรายได้ที่แท้จริงหรือรายได้ที่ถูกปรับตามอัตราเงินเฟ้อแล้วนั่นเอง จุดนี้นำมาซึ่งปัญหาเพราะความเหลื่อมล้ำทางรายได้มาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำด้านอัตราเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อเป็นตัวชี้วัดราคาสินค้าที่ผู้บริโภคทั่วไปจับจ่ายใช้สอยซึ่งมีราคาสูงขึ้น ปัญหาอยู่ที่จะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือความหมายของคำว่า ‘ทั่วไป’ อะไรคือสิ่งสำคัญ และอะไรคือสิ่งที่สำคัญกว่า เมื่อเราทำการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ ประเทศส่วนใหญ่ใช้วิธีพิจารณาจากสิ่งที่ผู้คนจับจ่ายใช้สอย เพราะฉะนั้นถ้ามีคนจับจ่ายใช้เงินกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากขึ้น สิ่งนั้นๆ ควรมีความสำคัญมากกว่าในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ วิธีคิดแบบนี้ก็ดูสมเหตุสมผลดี

อย่างไรก็ตาม ถ้าบางคนมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากกว่าคนอื่น (เพราะพวกเขาร่ำรวย) คนพวกนี้ย่อมทำให้สิ่งที่พวกเขาซื้อหามีผลต่อการคำนวนอัตราเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจาก คนหนึ่งคนที่มีเงินหนึ่งร้อยดอลล่าร์ย่อมมีความสำคัญเท่ากับคนสิบคนที่แต่ละคนมีเงินสิบดอลล่าร์ 

กล่าวสั้นๆ คือ เงินเฟ้อเป็นสถิติของคนร่ำรวยมากกว่าสถิติแบบประชาธิปไตย นั่นคือหนึ่งดอลล่าร์ หนึ่งโหวต ไม่ใช่หนึ่งคน หนึ่งโหวต และเนื่องจากการคำนวนอัตราเงินเฟ้อนั้นเกิดความเอนเอียงจากการใช้จ่ายของกลุ่มคนร่ำรวย ทำให้เงินเฟ้อเป็นตัวบ่งชี้ราคาสิ่งของที่คนในกลุ่มร่ำรวยอันดับสามของประเทศซื้อหา เห็นได้ชัดว่า ถ้าราคาของสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกันอย่างสม่ำเสมอก็จะไม่เกิดปัญหาใดๆ แต่ในความเป็นจริงเหตุการณ์เช่นนั้นไม่มีทางเกิดขึ้น

ในโลกของความเป็นจริง ราคาสินค้าบางอย่างย่อมปรับตัวสูงขึ้นกว่าสินค้าอื่น เช่นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ราคาอาหาร พลังงาน และที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ย ราคาพลังงานสูงขึ้นเนื่องจากค่าไฟฟ้าไม่ใช่จากราคาน้ำมันดิบ และคนที่มีรายได้ต่ำก็ใช้เงินไปกับค่าอาหาร พลังงาน และที่อยู่อาศัยมากกว่าคนที่มีรายได้สูงเป็นอย่างมาก ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ย ในขณะที่ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะต้องใช้จ่ายเงินกับการรักษาสุขภาพมากกว่าคนหนุ่มสาว

กลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำและผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าข้อมูลเงินเฟ้อที่ประกาศเป็นทางการซึ่งย่อมแปลว่า การใช้ข้อมูลเงินเฟ้อจากทางการมาคำนวนความแตกต่างของมาตรฐานการใช้ชีวิตของผู้คนเป็นการประเมินปัญหาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง คนที่มีรายได้น้อยมีเงินที่จะจับจ่ายใช้สอยน้อยกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้สูง ในขณะที่สิ่งของที่พวกเขาซื้อนั้นกลับปรับราคาขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ รวมไปถึงความจริงที่ว่าการเป็นคนสูงอายุมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าคนอายุน้อย

ความจริงที่ว่า ความไม่เท่าเทียมกันเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าที่ข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุไว้ อาจช่วยอธิบายถึงสาเหตุของการต่อต้านการเมืองในรูปแบบเก่าที่เพิ่มมากขึ้น ประเทศที่เผชิญความเหลื่อมล้ำของเงินเฟ้ออย่างมาก (เช่น สหรัฐ) มีแนวโน้มที่จะมีผู้สนับสนุนนักการเมืองที่ต่อต้านการเมืองในรูปแบบเก่ามากขึ้น และหากโลกต้องเผชิญกับราคาอาหารที่ปรับสูงขึ้นในช่วงปลายปีนี้ (เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2007) ปัญหาความเหลื่อมล้ำของเงินเฟ้อนี้ก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งราคาอาหารที่แพงขึ้นหรือปัจจัยอื่นๆ ที่ผลักดันให้เกิดมาตรฐานการใช้ชีวิตที่ไม่เท่าเทียมกันอาจส่งผลต่อการเมืองและการลงทุนอย่างกว้างขวางขึ้น ดังนั้นนักลงทุนจำเป็นต้องเข้าใจว่า อัตราเงินเฟ้อของพวกเขาไม่ใช่อัตราเดียวกับที่ทางการประกาศไว้ ซึ่งหมายความว่าผลตอบแทนที่แท้จริงจากการลงทุนที่พวกเขาได้รับอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คาดไว้เช่นกัน

# # # # #

หนังสือเล่มล่าสุด “The Truth About Inflation” ของพอล โดโนแวน ได้รับการตีพิมพ์โดย Routledge ในเดือนเม.ย. 2558 ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ubs.com/pauldonovan สามารถอ่านบทความของพอลเพิ่มเติมได้ในชุดสารคดี UBS หมวดผู้รับรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์ที่ www.ubs.com/nobel