การลงทุนใน Multi Asset Income Fund

การลงทุนใน Multi Asset Income Fund

“การลงทุนใน Multi Asset Income Fund ภายใต้ภาวะตลาดที่ผันผวน”

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน แม้ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2560 ไว้ที่ระดับ 3.5% จาก 3.1% ในปี 2559 แต่ตลาดการเงินและการลงทุนทั่วโลกกลับมีความผันผวนค่อนข้างมาก โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านการเมืองของประเทศหลักๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ และยุโรป โดยล่าสุด รัฐสภาสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ที่จะนำมาใช้แทนโอบามาแคร์ ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้ส่งผลให้นักลงทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์ เช่น มาตรการปฏิรูปภาษี และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค เป็นต้น ขณะที่สหภาพยุโรป มีประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะการเจรจาเพื่อออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ (BREXIT) และความเสี่ยงทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งในอิตาลี ในส่วนของแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่างเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินและการลงทุนทั่วโลกด้วยเช่นกัน

จากภาวะที่ตลาดการเงินมีความผันผวนสูง การลงทุนในสินทรัพย์เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็คงจะไม่สามารถตอบสนองต่อภาวะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ การลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท จึงอาจเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกองทุนที่เน้นสร้างกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอ (Multi Asset Income Fund) โดยลักษณะของกองทุนประเภทนี้ จะเน้นลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทที่สามารถสร้างกระแสเงินสดให้กับผู้ลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ อาทิเช่น หุ้นที่เน้นการจ่ายปันผล ตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน รวมไปถึงสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เช่น กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งจะมีการกระจายการลงทุนไปทั่วโลก และผู้จัดการกองทุนฯ สามารถดำเนินกลยุทธ์ได้อย่างยืดหยุ่นในการจัดสรรน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้เหมาะกับสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา เช่น นโยบายเชิงรุก นโยบายเชิงรับ หรือนโยบายมุ่งสร้างผลตอบแทนโดยไม่อ้างอิงตลาด (Absolute return) และสามารถเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สอดคล้องกับกลยุทธ์การลงทุน เพื่อสร้างอัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่ม หรือเพื่อป้องกันความเสี่ยงตามความเหมาะสมสำหรับภาวะตลาดการเงินและการลงทุนในแต่ละขณะ

กองทุนประเภทนี้จะมีความเสี่ยงที่สูงกว่าตราสารหนี้ เนื่องจากมีการลงทุนบางส่วนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้นด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็มีการลงทุนในประเภทตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ทางเลือกที่มีความผันผวนต่ำด้วยเช่นเดียวกัน จึงมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าการลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางขึ้นไป สามารถยอมรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น และรวมไปถึงผู้ที่มองหารายได้จากกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอระหว่างการลงทุน เพราะกองทุนจะมีการส่งผ่านกระแสเงินสดที่ได้รับจากสินทรัพย์ที่ลงทุนมายังผู้ลงทุนด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นอาจมีความเสี่ยงจากการที่ราคาสินทรัพย์ในกองทุนปรับตัวลดลงตามภาวะตลาด และส่งผลให้กองทุนมีมูลค่าหน่วยลงทุนลดลง ในขณะที่มีการจ่ายกระแสเงินสดออกมาให้ผู้ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น ในภาวะที่กองทุนมีผลการดำเนินงานปรับตัวลง จึงมีความเสี่ยงที่กระแสเงินสดที่ผู้ลงทุนได้รับอาจมาจากเงินลงทุนของตนเอง ผู้ลงทุนจึงต้องพิจารณาถึงนโยบายการลงทุน ตราสารที่ลงทุน เงื่อนไขของผลตอบแทน การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ โดยทำความเข้าใจในเงื่อนไข และความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนดังกล่าว เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ และความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้มากที่สุด