หนี้ครัวเรือน...ปัญหาเร่งด่วนของรัฐบาลไทย

หนี้ครัวเรือน...ปัญหาเร่งด่วนของรัฐบาลไทย

หนี้ครัวเรือน...ปัญหาเร่งด่วนของรัฐบาลไทย

นับวันการก่อหนี้ของครัวเรือนไทยสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้กำหนดนโยบายของประเทศมิใช่น้อย เนื่องจากปริมาณหนี้ที่อยู่ในระดับสูงจนเกินไปเป็นการบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคและกดดันกิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้จนกระทั่งลุกลามเป็นวิกฤตการเงินในอนาตค ด้วยเหตุนี้ การดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว 

สังเกตได้ว่าช่วงนี้ หลายหน่วยงานภาครัฐกำลังเร่งออกมาตรการและหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อกำกับดูแล (Prudential regulation) ประเด็นดังกล่าวกันมากขึ้น เพราะทุกวันนี้คนไทยมีหนี้มากขึ้น ถึงแม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับตัวลดลง นับตั้งแต่ต้นปี 2559 อยู่ที่ระดับ 80.6% ลดลงเหลือ 78.6% ในไตรมาสแรกของปีนี้ แต่ในทางตรงข้าม ปริมาณหนี้ครัวเรือนกลับมีอัตราเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพฤติกรรมการก่อหนี้ของคนไทยเกิดเร็วขึ้นตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน อ้างอิงผลสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของคนไทยช่วงครึ่งปี 2560 จากนิด้าโพลและบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) บ่งชี้ว่า คนไทยกว่า 40 ล้านคนเป็นหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานที่มีช่วงอายุ 22-35 ปี ก่อหนี้เร็ว มีหนี้นาน และยอดหนี้สูง ซึ่งหากภาระหนี้สินไม่ลดลงในที่สุดก็จะส่งผลต่อความสามารถในการใช้หนี้และอำนาจซื้อในการบริโภคสินค้าและบริการ รวมถึงการใช้ช่วงชีวิตวัยเกษียณ ด้วยความที่กลุ่มคนวัยดังกล่าวมีพฤติกรรมใช้ง่ายจ่ายคล่อง ตัดสินใจรวดเร็ว และสามารถเข้าถึงสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันได้ง่าย โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด หากนับกลุ่มดังกล่าว 5.24 ล้านคน ถือบัตรเครดิตเฉลี่ยราว 3-4 ใบ ซึ่งมีหนี้รวมกันถึง 2.13 ล้านล้านบาท และมีประวัติผิดนัดชำระหนี้ประมาณถึง 21%

จากข้อมูลดังกล่าว จึงนำมาซึ่งการประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการกำกับดูแลสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต โดยบทความฉบับนี้ ผมขอหยิบเรื่องหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาคุยกันครับ เพื่อให้ทุกท่านได้เตรียมตัวและเข้าใจเรื่องสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตรูปแบบใหม่ โดยเริ่มจาก

1) การปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต จากเดิม 20% เหลือ 18% สำหรับทั้งลูกหนี้เก่าและใหม่ 

2) การปรับลดเพดานวงเงินบัตรเครดิตจากเดิมสูงสุดไม่เกิน เท่าของรายได้ เป็น 1.5 และ 3 เท่า สำหรับผู้ขอมีบัตรเครดิตใหม่ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 และ 50,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ 

3) การปรับลดเพดานวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันรายใหม่ เช่น บัตรกดเงินสด สำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ เป็น 1.5 เท่า โดยสามารถขอรับสินเชื่อจากผู้ให้บริการสูงสุดไม่เกิน 3 ราย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้จริง 1 ก.ย. 2560

อย่างไรก็ดี มาตรการข้างต้น ผมมองว่า ในระยะยาวจะส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน เพราะลดความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้และคุณภาพสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ให้ลดลง จากมาตรการควบคุมอำนาจการใช้จ่ายผ่านระบบสินเชื่อ แต่หากพิจารณาอีกมิติหนึ่ง ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระยะสั้นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจะกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังคงมีความเปราะบางเชิงรายได้ที่ไม่ขยายตัว อาจชะลอตัวลงจากความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น ในขณะที่ผู้ขอสินเชื่อเพื่อใช้ดำเนินธุรกิจ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 46% ของกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ประจำต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน (14 ล้านคน อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ สิ้นปี 2558) อาจทำให้ความคล่องตัวในการบริหารกิจการลดลง 

ถัดจากนี้ไป เราคงต้องติดตามมาตรการทางภาครัฐอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อดูแลแหล่งเงินกู้สำหรับผู้มีรายได้น้อย เพราะหากมีมาตรการในลักษณะดังกล่าว ผมมองว่า จะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศเราอย่างมีบูรณาการที่ครบวงจรมากครับ