การเมืองเรื่องของอำนาจ

การเมืองเรื่องของอำนาจ

ปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทยในช่วง2-3 ทศวรรษหลังนี้ทำให้นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์หลายคนแทบจะฉีกตำราทิ้งหรือเลิกให้ความเห็นไปเลย

เพราะทำให้หลายต่อหลายคนเสียมวยไปตามๆกันเสียเยอะต่อเยอะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีการรัฐประหารที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันด่วนแต่ของเราพบว่ามีการวางแผนไว้ล่วงหน้ามาพอสมควร หรือการย้อนยุคถอยหลังกลับไปสู่ความล้าหลังของพัฒนาการประชาธิปไตยที่เรียกว่าแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยในประเทศอื่น

แต่สำหรับผมแล้วไม่แปลกใจอะไรมากนักเพราะการเมืองนั้นเป็นเรื่องของการจัดสรรอำนาจตามคำอธิบายในตำรา “รัฐศาสตร์”ของอาจารย์ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร ซึ่งผมได้ใช้เป็นหลักในการเรียนการสอนและเขียนบทความเกี่ยวกับทฤษฎีทางรัฐศาสตร์มาโดยตลอดระยะเวลากว่าสิบปี

หากเราเข้าใจในเรื่องของอำนาจแล้วจะทำให้เราเข้าใจการเมืองไทยได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งคำว่าอำนาจ การเมืองและรัฐศาสตร์นั้น ถึงแม้ว่าจะมีความหมายที่แตกต่างกัน แต่สามคำนี้มีความหมายที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

อำนาจหมายความถึงพลังอะไรบางอย่างที่สามารถบังคับให้คนหรือบุคคลที่มีอำนาจน้อยกว่ากระทำการตามที่ต้องการ เช่น พ่อแม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ลูกไปโรงเรียน ตำรวจมีอำนาจบังคับให้ผู้คนปฏิบัติตามกฎจราจร ฯลฯ อำนาจนั้นมีความหอมหวนน่าครอบครอง เพราะใครที่ครอบครองแล้วก็สามารถบังคับให้ผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่ากระทำในสิ่งที่ตนต้องการ จนมีคำกล่าวว่า “อำนาจคือสิ่งเสพย์ติด”หลายคนปรารถนาอำนาจ หลงเสน่ห์ของอำนาจ บางคนเสพติดอำนาจจนเสียคนไป ผู้ที่อยู่ในอำนาจรู้สึกมีความสุข มีความรู้สึกดีที่มีคนอยู่ใต้อำนาจของตน มีความรู้สึกดีเป็นพิเศษในการที่มีคนคอยพินอบพิเทา แต่ทันทีที่เขาสูญเสียอำนาจ เขาจะเหมือนคนที่ติดยาเสพติด เขาจะกลายเป็นคนละคน เพราะการเสพติดอำนาจนั้นสร่างยากกว่าการเสพติดอย่างอื่น ผู้คนที่ไม่รู้เท่าทันทั้งหลายจึงต่างมุ่งแสวงหาอำนาจ เพราะอำนาจทำให้คนเสพติดนั่นเอง

หลายๆ คนที่เคยเป็นคนที่เข้าท่าหรือมีประวัติดีเด่นมาโดยตลอดกลับต้องมาเสียผู้เสียคนเมื่อมีอำนาจเพราะคนข้างเคียงที่สรรเสริญเยินยอเกินกว่าเหตุ ดังเช่น สมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามที่หลวงวิจิตรวาทการลงทุนกราบแล้วบอกว่าเห็นแสงออกมาจากลำคอของจอมพล ป.เหมือนฉัพพรรณรังสี หรือในสมัยนี้ก็มีผู้คนรอบข้างต่างพากันสรรเสริญเยินยอท่านผู้นำว่ามีความสามารถเกินคนธรรมดามากขึ้นทุกวี่ทุกวัน เช่น แต่งเพลงก็เก่ง แต่งกลอนก็เก่ง ทำงานก็เก่ง พูดก็เก่ง พูดได้ทุกเรื่องเป็นชั่วโมงๆฯลฯ จนผมเกรงว่าท่านผู้นำของผมจะเสียผู้เสียคนไป

การเมืองนั้นมีคนให้ความหมายไว้มากมาย แต่ปรมาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันHarold Lasswellได้กล่าวไว้ว่า “การเมืองคือการได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อที่จะตัดสินว่าใครได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร(POLITICS: Who Gets What, When, How.)”การเมืองจึงเกิดขึ้นมาเพื่อจัดสรรสิ่งต่างๆที่มีจำกัด ซึ่งต้องเกี่ยวพันกับการใช้ “อำนาจ”อย่างเลี่ยงไม่ได้

รัฐศาสตร์คือการศึกษาการเมืองด้วยหลักการทางวิชาการ เป็นการใช้หลักการแห่งเหตุผล ทฤษฎี ข้อมูล เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เพื่อศึกษาการเมืองการปกครองทั้งหลาย

ฉะนั้น เมื่อวิเคราะห์จากมุมมองทางรัฐศาสตร์ที่วิเคราะห์การเมืองเรื่องของอำนาจแล้วผมเห็นว่าการเมืองไทยของเราหลังวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ที่จะมีคำพิพากษาคดีจำนำข้าวของคุณยิ่งลักษณ์ออกมา เพราะไม่ว่าจะออกมาในทางใดล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อการเมืองไทยทั้งสิ้น แทบจะเรียกได้ว่าการเมืองไทยตอนนี้อยู่ในสภาวการณ์ที่เสี่ยงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเลยก็ว่าได้

ที่กล่าวเช่นนั้นไม่ใช่ด้วยเหตุเพียงเพราะการจัดสรรอำนาจที่ไม่ลงตัวระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารซึ่งประเทศไทยเราในอดีตก็ผ่านมาแล้วหลายครั้ง เช่น สมัย 14 ตุลา 16,6 ตุลา 19,พฤษภา 35,พฤษภา 53 ฯลฯ แต่ครั้งนี้ผิดจากในอดีตมากมายก็คือยุคสมัยในปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนไปมาก การติดต่อสื่อสารถึงกันทั่วโลกสามารถทำได้ภายในอึดใจเดียว ความสำนึกและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนมีมากมายกว่าแต่เดิมหลายเท่าพันทวี ที่สำคัญการเมืองระหว่างประเทศมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศจนไม่อาจอยู่เฉยหรือปิดประเทศโดยไม่สนใจใครได้

ประเทศไทยเราแม้ว่าจะดูเหมือนเป็นจุดเล็กๆในสังคมโลก แต่ด้วยเทคโนโลยีและเศรษฐกิจการค้าการขายมันเกี่ยวพันกันไปหมด หากฝ่ายที่กุมอำนาจดำเนินการไม่ดีหรือไม่รอบคอบ จุดเล็กๆก็อาจจะกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ จริงอยู่ในวันอ่านคำพิพากษา25 ส.ค.60ผมเชื่อว่าคงยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น หากคำพิพากษาออกมาว่าผิดแล้วถูกจองจำมันก็จะเป็นเสมือนฟางเส้นก่อนสุดท้าย ซึ่งถ้าถึงฟางเส้นสุดท้ายเมื่อไหร่ก็หมายความว่าถึงถึงจุดที่หวนกลับไม่ได้หรือในภาษาอังกฤษใช้ว่า point of no return นั่นเอง

แต่หากผลคำพิพากษาออกมาในทางตรงกันข้ามคือยกฟ้องก็จะทำให้ความชอบธรรมของฝ่ายรัฐบาล คสช. ลดลงเพราะได้กล่าวโทษรัฐบาลเก่าไว้ซะเยอะรวมถึงการไปยึดอำนาจเขามาและยิ่งเพิ่มความฮึกเหิมของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลปัจจุบัน พูดง่ายๆว่าไม่ว่าผลจะออกมาทางใดล้วนแต่ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลปัจจุบันทั้งสิ้น

ประวัติศาสตร์การเมืองของโลกให้บทเรียนไว้แล้วมากมายว่าการเสพติดอำนาจหรือการใช้อำนาจที่ไม่สมดุลเกินกว่าที่ผู้อยู่ใต้อำนาจจะรับได้นั้นทำให้ผู้ปกครองพบกับความวิบัติมานักต่อนักแล้ว ถ้าไม่รู้ประวัติศาสตร์ก็เหมือนคนตาบอด แต่ถ้ารู้ประวัติศาสตร์แล้วไม่นำมาเป็นบทเรียนและไม่เชื่อฟังใครก็เหมือนคนที่เคยตาดีและหูดี แต่กลับมาตาบอดและหูหนวกภายหลังเพราะ การเมือง(ไม่ว่าจะมาด้วยวิธีการใด)เป็นเรื่องของอำนาจและที่ล่มสลายก็เพราะสิ่งเสพย์ติดที่เรียกว่า “อำนาจนั่นเอง