เศรษฐกิจโลก: ระยะเสี่ยงภัย

เศรษฐกิจโลก: ระยะเสี่ยงภัย

หากลองย้อนไปดูทิศทางเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าทิศทางเศรษฐกิจจะดูดีขึ้น

เห็นได้จากประมาณการเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ขยายตัว 3.5% ในปีนี้และ 3.6% ในปีหน้า รวมถึงมีมุมมองเชิงบวกกับเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการค้าของโลกที่กลับมาขยายตัวดีขึ้น (IMF คาดไว้ว่าจะขยายตัวที่ 4% ในปีนี้) ทำให้การส่งออกของประเทศตลาดเกิดใหม่กลับมาขยายตัวตาม นอกจากนั้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจของประเทศขนาดใหญ่ที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป ก็มีส่วนช่วยสนับสนุนให้การค้าโลกขยายตัวเช่นกัน

 

สำหรับตัวผู้เขียนเองนั้น มองว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เหมือนดูดีขึ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันนั้นเป็นผลจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ

 

หนึ่ง การค้าโลกดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจาก (1) กระแสความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับมาฟื้นตัว และ (2) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้ราคาโภคภัณฑ์อื่น ๆ ปรับตัวดีขึ้นตาม

 

สอง กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ไม่รุนแรงมากนัก ต่างจากปีที่แล้วที่กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์รุนแรงขึ้นมาก แต่ในปีนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดได้แก่แนวนโยบายส่วนใหญ่ของทรัมพ์ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากปัญหาการเมืองภายในประเทศเอง ในขณะที่ในยุโรปนั้น ผลการเลือกตั้งตั้งแต่ต้นปีบ่งชี้ว่า พรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายขวาจัดต่างแพ้การเลือกตั้งทั้งสิ้น บ่งชี้ว่ากระแสขวาจัดที่ต่อต้านโลกาภิวัฒน์เริ่มสั่นคลอน

 

สาม การที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ไม่ได้เผชิญกับวิกฤต โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเมื่อใดที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ลดทอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อนั้นเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่จะเผชิญปัญหาทางการเงิน แต่ในครั้งนี้ แม้ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยแล้วถึง 2 ครั้งในปีนี้ แต่ประเทศตลาดเกิดใหม่ก็ยังไม่เผชิญปัญหา ซึ่งน่าจะเป็นเพราะยังมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตร อันเป็นเพราะกระแสการอัดฉีดของธนาคารกลางต่าง ๆ ในยุโรป ญี่ปุ่น และอังกฤษ ที่ยังมีอยู่มาก ทำให้สภาพคล่องโลกยังสูง ประกอบกับทิศทางการส่งออกของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ดีขึ้น จึงยังมีเงินไหลเข้าต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่า ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า (เดือนกันยายน-ตุลาคม) จะเป็นช่วงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจการเงิน รวมถึงตลาดเงินตลาดทุนโลกอย่างมาก เนื่องจากมี 3 เหตุการณ์ที่ต้องจับตา กล่าวคือ

 

เหตุการณ์แรก ได้แก่ การถอนแผนประกันสุขภาพของรัฐบาลโอบามา (Obamacare Repeal) และแทนที่ด้วยกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ โดยแผนเดิมนั้น เป็นการประกันสุขภาพให้กับประชาชนส่วนใหญ่ โดยรัฐบาลใช้เงินอุดหนุนให้ประชาชนซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันเอกชน รวมถึงเพิ่มเงินช่วยเหลือให้กับสวัสดิการสุขภาพของผู้มีรายได้น้อย (Medicaid) อีกด้วย ซึ่งนโยบายดังกล่าวทำให้รัฐบาลกลางต้องเสียงบประมาณจำนวนมาก จึงต้องเก็บภาษีกับภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 3.8% รวมถึงเก็บภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์กับผู้มีรายได้สูง

 

การยกเลิก Obamacare และแทนที่ด้วยแผนของพรรครีพับบลิกกันนั้น จะทำให้รัฐบาลลดงบประมาณลงได้มาก อย่างไรก็ตาม สมาชิกวุฒิสภาของพรรครีพับบลิกกันยังไม่สามารถตกลงกันได้ในรายละเอียด ทำให้การออกกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ล่าช้าออกไป

 

เหตุการณ์ที่สอง ได้แก่ มาตรการด้านการคลังของรัฐบาลทรัมพ์ ทั้งประกอบด้วย 3 ประเด็นย่อยได้แก่ (1) กฎหมายงบประมาณในปี 2561 (2) กฎหมายต่ออายุการใช้งบประมาณเดิม (Continuing Resolution) และ (3) ประเด็นด้านเพดานหนี้สาธารณะ โดยทั้งสามประเด็นมีความต่อเนื่องกันและเกี่ยวข้องกับแผนประกันสุขภาพด้วย กล่าวคือ ในร่างกฎหมายงบประมาณปี 2561 ที่จะต้องผ่านสภาก่อนการเริ่มต้นของปีงบประมาณในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 นั้น รัฐบาลตั้งใจจะนำเสนอแผนการปฏิรูปภาษี ที่จะลดอัตราภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% และลดขั้นบันไดการคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ทั้งนี้ รายได้ภาครัฐที่ลดลงจากการลดภาษีนั้น จะถูกลดทอนด้วยค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่ลดลงจากการยกเลิก Obamacare

 

แต่หากการยกเลิก Obamacare ไม่สามารถผ่านสภาได้ จะมีผลทำให้กฎหมายงบประมาณปี 2561 ที่รวมแผนปฏิรูปภาษีนั้นไม่สามารถผ่านได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น รัฐบาลจะใช้แผนฉุกเฉินคือการต่ออายุการใช้งบประมาณเดิม (Continuing Resolution) อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลกับรัฐสภาขัดแย้งรุนแรงจนไม่สามารถตกลงกันได้ อาจนำไปสู่สถานการณ์ ปิดรัฐบาลหรือ Government Shutdown คล้ายในปี 2556 ได้ และยิ่งไปกว่านั้น หากความขัดแย้งรุนแรง อาจนำไปสู่การไม่ต่ออายุเพดานหนี้สาธารณะ (ที่คาดว่าจะชนเพดานในต้นเดือนตุลาคม) และอาจทำให้รัฐบาลสหรัฐผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

 

เหตุการณ์ที่สาม ได้แก่ การประกาศแผนลดขนาดงบดุลของ Fed โดยเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า Fed รวมถึงธนาคารกลางขนาดใหญ่อื่น ๆ กังวลกับภาวะตลาดเงินตลาดทุนที่อยู่ในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ (โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐ) Fed จึงส่งสัญญาณต่อเนื่องถึงการจะลดขนาดงบดุลที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐลง โดยจะลดปริมาณการต่ออายุพันธบัตรและตราสารหนี้ที่ผูกติดกับสินเชื่ออสังหาฯ ซึ่งในทางปฏิบัติคือการดูดสภาพคล่องในระบบกลับไปนั่นเอง

 

ขณะที่ในส่วนของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็มีแผนลดทอนการเข้าซื้อพันธบัตร (QE) ลงเช่นกัน เนื่องจากสัญญาณเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ราคาสินทรัพย์ที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการที่พันธบัตรรัฐบาลที่ ECB จะซื้อได้ในตลาดเริ่มร่อยหรอลง (จากการเข้าซื้ออย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา)

 

ผู้เขียนมองว่า การลดทอนขนาดงบดุลของ Fed และการลดทอน QE ของ ECB จะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สภาพคล่องในตลาดเริ่มลดลง ส่งผลให้ตลาดการเงินเริ่มปั่นป่วน ผลตอบแทนพันธบัตรปรับสูงขึ้น และดัชนีหุ้นเริ่มปรับลดลงในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะคาดเดาถึงผลกระทบของการลดทอนดังกล่าวอย่างชัดเจน เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ธนาคารกลางทั้งหลายจะเริ่มลดทอนการอัดฉีดพร้อม ๆ กัน

 

กล่าวโดยสรุป แม้ว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งแรกของปีจะน้อยลง แต่ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้ จะมีหลายเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงเศรษฐกิจโลกโดยรวมได้

 

นักลงทุน นักธุรกิจ และผู้กำหนดนโยบาย โปรดพึงระวัง

 

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่