กฎหมายเฟ้อ ละเมิดสิทธิฟู

กฎหมายเฟ้อ ละเมิดสิทธิฟู

ปกรณ์ พึ่งเนตร

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณมานะ นิมิตรมงคล จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน โพสต์เฟซบุ๊คด้วยข้อมูลน่าสนใจ

คุณมานะบอกว่า ตลอด 3 ปีของ คสช. และ สนช. ได้ออกกฎหมายใหม่มากถึง 320 ฉบับ หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของกฎหมาย 754 ฉบับที่ประกาศใช้อยู่ก่อนแล้วตลอดร้อยกว่าปีที่ผ่านมา นี่ยังไม่นับประกาศ คสช.ที่มีสภาพเป็นกฎหมายอีก 64 ฉบับ

ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ “ไอลอว์” ระบุว่า ตลอด 3 ปีเศษที่ คสช.ครองอำนาจ ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 ไปแล้วมากกว่า 150 ฉบับ

ปรัชญาการออกกฎหมายคือการมอบความยุติธรรมให้กับประชาชน แต่แปลกไหมที่กฎหมายใหม่ๆ ที่ออกมาในระยะหลังๆ กลับส่งผลในการละเมิดสิทธิประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะชาวบ้านตาดำๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

ก่อนน้ำท่วมใหญ่ที่สกลนคร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่อีสานเหนือ เพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิ เฉพาะในห้วง 2 ปีในยุค คสช. ตัวเลขการร้องเรียนในภาพรวมของทั้งประเทศพุ่งสูงถึง 654 เรื่อง ขณะที่ในภาคอีสานมีกรณีที่น่ากังวลหลายเรื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการออกกฎหมายใหม่ๆ และประกาศ คำสั่งของ คสช.ที่หลายฉบับที่ไม่ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ ทำให้ประชาชนไม่ทราบว่ามีกฎหมายใหม่ออกมาแล้ว และได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย

ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้และที่ดิน, ทรัพยากรน้ำ การสร้างเขื่อน และกฎหมายเกี่ยวกับประมง, เรื่องพลังงานและเหมืองแร่ รวมถึงการวางผังเมืองเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

เสียงจากชาวบ้านที่ได้ยินได้ฟังจากการลงพื้นที่ของ กสม.ก็คือ ชาวบ้านเขาฝากถามว่านี่หรือคือการ “คืนความสุขให้ประชาชน” ตามที่ คสช.โฆษณา

“ไอ้คำที่ว่าความสุขที่มอบให้ และคำที่ภาครัฐพูดกันบ่อยคือคำว่าเยียวยา ผมบอกได้เลยว่ามันไม่ใช่แค่เศษเงินที่เราไปขึ้นทะเบียนคนจน แต่ความสุขที่คนอีสานต้องการคือได้ทำเกษตรตามวิถีพอเพียงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราได้พระราชทานไว้ก่อนที่พระองค์ท่านจะจากไป”

นี่คือเสียงจากใจคนอีสาน ท่ามกลางการเร่งผลักดันโครงการพัฒนาที่ละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน!