ทำไมเงินเฟ้อปัจจุบันจึงต่ำกว่าเป้า

ทำไมเงินเฟ้อปัจจุบันจึงต่ำกว่าเป้า

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะได้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติทางการเงินและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่มาได้หลายปีแล้วก็ตาม

แต่ยังมีอีกหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ และสหภาพยุโรปที่ต่างก็ยังมีระดับเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ค่อนข้างต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้คือ 2% ต่อปี โดยเฉพาะในกรณีของญี่ปุ่นที่แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายมีค่าเป็นลบอยู่เล็กน้อย และยังคงใช้มาตรการคิวอีโดยไม่มีกำหนดก็ตาม 

 

หรือในกรณีของสหรัฐที่เริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้ว และธนาคารกลางของสหรัฐได้ประกาศหยุดใช้มาตรการคิวอีไปแล้วหลายปี และขณะนี้ได้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายทีละเล็กทีละน้อยมาอย่างต่อเนื่องหลายรอบก่อหน้านี้เพื่อปรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้เข้าสู่ภาวะปกติเหมือนในช่วงก่อนเกิดวิกฤติทางการเงิน แต่ประเทศเหล่านี้ต่างก็ยังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายทั้งสิ้น

 

นักเศรษฐศาสตร์ได้มีการนำเสนอสมมติฐานของเรื่องนี้ไว้ ซึ่งอาจจำแนกได้เป็น 2 ฝ่าย ดังนี้

 

ฝ่ายแรกนำโดย ศาสตราจาร์ย ซัมเมอร์ (Lawrence Summers) อดีตรัฐมมนตรีการคลังและอดีตอธิการบดีของมหาวิทยลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐ ได้นำเสนอสมมติฐานเกี่ยวกับสาเหตุของเรื่องนี้ว่า เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอายุประชากรของประเทศที่พัฒนาแล้วและช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่ขยับกว้างมากขึ้น หรือที่เรียกกันว่า “secular stagnation” ว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แนวโน้มระยะยาวของอุปสงค์มวลรวมของโลกลดลง และส่งผลต่อให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวและเงินเฟ้อลดลงต่ำกว่าในอดีต 

 

ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ อาจใช้อธิบายได้กับกรณีของการเกินดุลการค้าของประเทศเยอรมนีในระดับสูงที่ผ่านมาซึ่งสะท้อนถึงระดับการออมที่มีมากกว่าความต้องการใช้จ่ายของประชากรเยอรมนีในระยะยาว ทั้งนี้ก็เพราะต้องการเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมสูงอายุที่จะทำให้เยอรมนีมีแรงงานที่มีประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นมากในเหล่าประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น ก็มีส่วนทำให้ประเทศเหล่านี้มีระดับการลงทุนและอุปสงค์มวลรวมในระยะยาวที่ลดลง จนนำไปสู่การมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่ลดลงด้วยนั่นเอง 

 

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อลดลงกว่าที่ผ่านมาในอดีต แม้ว่าในบางประเทศ เช่น สหรัฐจะเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้นแล้วก็ตาม

 

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าอุปสงค์มวลรวมของโลกที่ลดลงนั้น ไม่ได้เป็นการลดลงอย่างถาวรในระยะยาวอย่างที่สมมติฐาน secular stagnation ได้นำเสนอไว้ หากแต่เป็นภาวะชั่วคราวที่เกิดจากความกลัวในระดับของหนี้จำนวนมากที่เป็นผลจาการล่มสลายของสถาบันการเงินบางส่วนและผลจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ก่อให้เกิดภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำแบบผิดปกติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

 

ซึ่ง ศาสตราจาร์ยเคนเนธ รอกอฟฟ์ (Kenneth Rogoff) ของฮาร์วาร์ดได้นำเสนอสมมติฐานเรื่อง “debt supercycles” นี้เอาไว้เพื่อใช้อธิบายภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ต่ำในหลายปีที่ผ่านมาว่าเป็นภาวะผิดปกติในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ในไม่ช้าระดับเงินเฟ้อก็จะขยับสูงขึ้นได้เหมือนปกติในอดีต หากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้มากขึ้นและมีการตัดลดหนี้ที่มีอยู่ให้ลดลงได้ในระดับหนึ่งแล้ว

 

ดูเหมือนว่า ท่าทีของตัวประธานและกรรมการส่วนใหญ่ในธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) นั้นจะมีแนวคิดความเชื่อที่ตรงกันกับสมมติฐานที่เคนเนธ รอกอฟฟ์ ได้นำเสนอไว้มากกว่า จึงได้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมีแผนที่จะลดขนาดงบดุล (balance sheet) ของบัญชีธนาคารกลางให้กลับสู่ภาวะปกติ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่ผ่านมายังไม่สามารถปรับเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ต่อปีก็ตาม เนื่องจากเกรงว่า ดอกเบี้ยที่ต่ำนี้อาจจะทำให้ตนเองไม่มีเครื่องมือที่จะใช้รับมือกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ที่อาจจะเกิดจากปัญหาราคาฟองสบู่ในอนาคตหากว่าปล่อยให้มีระดับดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไปและติดต่อกันนานจนเกินไปนั่นเอง

 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลงใจกับท่าทีล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา ภายหลังจากการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) ที่แม้ว่า คณะกรรมการจะยังคงอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายไว้ตามเดิมในรอบนี้ก็ตาม (ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ล่วงหน้าของตลาด) และยอมรับว่าระดับเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา แต่การประชุมดังกล่าวก็ได้มีการแสดงความคิดเห็นของคณะกรรมการเกี่ยวกับท่าทีที่รอบคอบในเรื่องแผนการการเริ่มลดขนาดของงบดุล (balance sheet) ของบัญชีธนาคารกลางในไม่ช้านี้โดยใช้คำชัดเจนว่า “relatively soon” ตามที่ได้ประกาศออกมาภายหลังจากการประชุมในครั้งนี้