การแข็งค่าของเงินบาท

การแข็งค่าของเงินบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยในขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ที่ระดับ 33.4 บาทต่อ 1 ดอลลาร์

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงไปเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ และมีความเป็นไปได้ว่าที่เงินดอลลาร์จะฟื้นตัวขึ้นได้ยาก เนื่องจากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เพราะคาดหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ 

 

แต่เมื่อรับตำแหน่งมาแล้ว 6 เดือนก็ต้องเริ่มยอมรับสภาพว่าประธานาธิบดีทรัมป์และบุคคลใกล้ชิดมีปัญหาทางการเมืองรุมเร้าเข้ามามากมายทำให้บารมีทางการเมืองเสื่อมถอยอย่างรวดเร็วและไม่น่าจะสามารถผลักดันนโยบายการคลังที่เคยสัญญาเอาไว้ให้เป็นความจริงออกมาได้ 

 

ดังนั้นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่รวมถึงไอเอ็มเอฟจึงปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ประมาณ 2% ทั้งในปีนี้และปีหน้าจากที่เดิมคาดการณ์ว่าจีดีพีสหรัฐจะขยายตัวได้ประมาณ 2.5 % จากมาตรการการคลังที่ทรัมป์ได้เคยสัญญาเอาไว้

 

แต่การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ช่วยอธิบายการแข็งค่าของเงินบาทได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น อีกส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ดอกเบี้ยระยะสั้นของไทย เมื่อหักลบเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าดอกเบี้ยจริงของหลายประเทศ ดังเห็นได้จากตาราง

 

ผู้ที่ติดตามตลาดเงินตลาดทุนจะทราบดีว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะตำหนิธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางยุโรปว่าเร่งรีบปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ทั้งๆที่เงินเฟ้อยังต่ำอยู่ แต่ในประเทศทั้งสองนั้น ดอกเบี้ยนโยบายยังติดลบอย่างชัดเจนเมื่อหักเงินเฟ้อออกไป แม้แต่ประเทศอื่นๆในเอเชีย ที่เศรษฐกิจขยายตัวดีอยู่แล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ก็ยังมีดอกเบี้ยนโยบายจริง (หักเงินเฟ้อทั่วไป) ต่ำกว่าดอกเบี้ยจริงของประเทศไทย ตรงนี้ผมหมายความว่าเมื่อเปรียบเทียบแล้ว เงินไทยให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินสกุลอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด

 

นอกจากนั้นการที่การส่งออกขยายตัวได้ดีเกินคาดก็ยังทำให้ประเทศไทยซึ่งเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงอยู่แล้วยิ่งเกินดุลมากขึ้นไปอีก การเกินดุลดังกล่าวแปลว่าประเทศไทยมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศที่ต้องการแปลงมาเป็นเงินบาทมากขึ้น ความต้องการเงินบาทที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เชื่อได้ว่าเงินบาทน่าจะมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น ยากที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าลง

 

เมื่อมี 2 เงื่อนไขดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกันก็จะทำให้มีแรงจูงใจให้เงินทุนไหลเข้ามาซื้อตราสารหนี้และพันธบัตรของไทย ซึ่งจะยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปได้อีก และเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็จะกดดันให้เงินเฟ้อในประเทศปรับลดลงไปอีกได้ เพราะเมื่อเงินบาทแข็งค่า สินค้าที่ส่งออกและที่นำเข้ามาในประเทศไทยคำนวณเป็นเงินบาทราคาจะลดลง เช่น สินค้าต่างประเทศราคา 100 ดอลลาร์ แต่ก่อนนำเข้ามาในราคา 3,500 บาท (เพราะอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์) แต่วันนี้ราคาเหลือ 3,340 บาท ในทำนองเดียวกัน สินค้าส่งออกไทยที่เคยขายราคา100 ดอลลาร์ 

 

แต่เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็คงยากที่จะปรับราคาขึ้นได้ทั้งหมด จึงอาจขายในราคา 102 ดอลลาร์ (เงินเฟ้อสหรัฐ 2%) ทำให้ราคาเป็นเงินบาทจากเดิม 3,500 บาท ก็จะ เหลือ 3,417 บาท เป็นต้น การแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้เงินเฟ้อในประเทศลดลงนั้นก็จะยิ่งทำให้ดอกเบี้ยจริงของประเทศไทยสูงขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมให้คนไม่ต้องการใช้เงิน หรือเก็บเงินเอาไว้ก่อน และรอซื้อสินค้าในภายหลังก็ไม่เป็นไร เพราะเงินไม่เสื่อมค่าแต่ราคาสินค้าอาจลดลงได้อีก 

 

หากแนวคิดดังกล่าวเริ่มแพร่หลายออกไป ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นว่าสิ่งที่คาดคิดนั้นจะกลายเป็นความจริงขึ้นมา (Self-fulfilling prophecy)

 

แม้การขยายตัวที่ดีเกินคาดของการส่งออกจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็อาจจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีกและทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงไปอีก ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ไม่ใช้เงิน (เพราะเก็บเงินไว้เงินก็ไม่เสื่อมค่า) แม้ว่าผู้ส่งออกจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้อธิบายว่าทำไมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจึงยังกระจุกตัวอยู่ครับ